เศรษฐกิจ

'จัดตั้งรัฐบาลช้า' พ่นพิษ ค่าไฟลดได้สุดแค่ 4.45 บาท/หน่วย - แรงเคลื่อนเศรษฐกิจแผ่วลง 2 เดือนติด

โดย nattachat_c

9 ส.ค. 2566

176 views

วานนี้ (8 ส.ค. 66) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชี้แจงกรณีการเรียกเก็บค่าเอฟทีงวดสุดท้ายของปี (ก.ย.-ธ.ค.66) ซึ่งมีการประกาศเรียกเก็บค่าเอฟทีที่ระดับ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้า 4.45 บาทหน่วย ลดลงมาจากงวดปัจจุบัน 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของภาคเอกชน ที่ระบุว่ามีปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟสามารถลดได้เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย


โดยนายคมกฤช ชี้แจงว่า การพิจารณาค่าเอฟที เป็นไปตามสูตรคำนวณที่มีการประกาศไว้ตามกฎหมาย ซึ่งมีการนำปัจจัยต้นทุนที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาซี่งทาง ปตท.และ กฟผ. เป็นผู้รวบรวมตัวเลขต้นทุนต่าง ๆ มาให้ กกพ.พิจารณาจนออกมาเป็นตัวเลขดังกล่าว


ซึ่งการที่จะปรับลดค่าไฟฟ้าลงมาให้ได้ 4.25 บาทต่อหน่วย ตามที่เอกชนต้องการไม่น่าจะเป็นไปได้ในงวดค่าไฟฟ้าปีนี้ เนื่องจากจะต้องมีการคำนวณสูตรใหม่ ต้องมีกระบวนการรับฟังความเห็น และ ได้รับการพิจารณางบอุดหนุนจากรัฐบาลมาใช้ในการรับภาระค่าไฟฯ หรือไม่ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ. ซึ่งทางกฟผ. ก็ยืนยันว่าขยับจ่ายหนี้ไม่ได้แล้วเนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง


อย่างไรก็ตาม การจะลดค่าไฟฟ้าลงทุกๆ 1 สตางค์จะต้องใช้เงินอุดหนุนราว 600 ล้านบาท ดังนั้นหากต้องการลดค่าไฟลง 20 สตางค์เพื่อให้ได้ตัวเลขที่เอกชนพอใจ รัฐบาลจะต้องใช้เงินสนับสนุนไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท และต้องใช้รัฐบาลใหม่มาดำเนินการ


ส่วนการพิจารณาลดค่าไฟฟ้าตามข้อเสนอเอกชนปีนี้ไม่ทัน แล้วจะขยับเป็นงวดหน้าได้หรือไม่

เลขาฯ กกพ. ระบุว่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ทั้งราคาก๊าซและถ่านหินที่เพิ่มขึ้น / การนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา/รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามามีผลกระทบเพิ่มขึ้นคือ สถานการณ์ภัยแล้ง เอลนิโญ ที่จะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในเขื่อนและกระทบต่อปริมาณการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ทั้งในเขื่อนของไทย และ สปป.ลาว ซึ่งไทยมีการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวด้วย รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลต่อราคานำเข้าพลังงานด้วย

-------------
วานนี้ (8 ส.ค. 66) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เปิดเผยว่า จุดสังเกตตอนนี้ เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณที่ผิดปกติ กำลังซื้อไม่คึกคัก แรงเคลื่อนเศรษฐกิจที่แผ่วบางลงมา 2 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม


การซื้อสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ เริ่มแผ่วลง เนื่องจากคนเริ่มไม่ค่อยมั่นใจ จากที่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ ทำให้เศรษฐกิจขาดแรงขับเคลื่อน ซึ่งหากความไม่ชัดเจนทางการเมืองยังลากยาวเช่นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยขาดแรงส่ง ที่จะไปในทิศทางขาขึ้นได้


โดยหอการค้าไทยหวังว่าจะมีรัฐบาลใหม่ได้ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ หรือ อย่างช้า เดือนกันยายน เพื่อให้มีนโยบายเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายเงินงบประมาณของประเทศ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน เกิดความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน


ส่วนการชุมนุมทางการเมืองในระยะหลังนี้ ยังไม่น่าห่วง เพราะเป็นการชุมนุมเพียงระยะสั้น ไม่ได้มีการชุมนุมต่อเนื่องปักหลักค้างคืนเหมือนในอดีต อยู่ในกรอบที่นานาประเทศยอมรับได้  

---------------

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/RRlBJaVCc7E


คุณอาจสนใจ

Related News