เศรษฐกิจ

เคาะแล้ว! บังคับใช้ 1 ต.ค. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ สูงสุดอยู่ที่ 354 บาท/วัน

โดย petchpawee_k

14 ก.ย. 2565

69 views

วานนี้ (13 ก.ย.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี รับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 1 กันยายน 2565 โดยกำหนดอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศอยู่ที่ 328 - 354 บาท/วัน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565  


อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำปี 2565 ดังนี้  


    - 354 บาท/วัน  จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ชลบุรี ภูเก็ต และระยอง

    - 353 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม  นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร      

    - 345 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา

    - 343 บาท/วัน จำนวน 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา

    - 340 บาท/วัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตราด นครราชสีมา ปราจีนบุรี พังงา ลพบุรี สงขลา สระบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย และอุบลราชธานี

    - 338 บาท/วัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก มุกดาหาร สกลนคร และสมุทรสงคราม

    - 335 บาท/วัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ชัยนาท นครพนม นครสวรรค์ บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พะเยา พัทลุง เพชรบุรี พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สระแก้ว สุรินทร์ อ่างทอง และอุตรดิตถ์

    - 332 บาท/วัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตาก นครศรีธรรมราช พิจิตร แพร่  มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สตูล สิงห์บุรี สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและอุทัยธานี

    - 328 บาท/วัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ นราธิวาส น่าน ปัตตานี ยะลา และอุดรธานี                                        

ทั้งนี้ ในการพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คณะกรรมการ ฯ ได้คำนึงถึง ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ  ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ (GDP) และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม


นอกจากนี้ การพิจารณายังอยู่บนพื้นฐานความเสมอภาคและรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย ซึ่งผลการพิจารณา เป็นที่ยอมรับร่วมกันของทุกฝ่ายแล้ว เพื่อ ให้ นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ และลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข โดยเชื่อมั่นว่า จะไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ หรือมีผลทำให้ราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชนโดยทั่วไป


ด้าน นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ได้เสนอตามมติไตรภาคี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ วันที่ 1 ต.ค.นี้ โดยสัดส่วนการขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5 % ซึ่งต้องยอมรับว่า ก่อนจะมีสถานการณ์โควิด ได้มีการขึ้นค่าแรงในเดือนมกราคม 2563 หลังจากนั้นได้เกิดสถานการณ์โควิด จึงได้มีการขึ้นค่าแรง ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการขึ้นค่าแรงจะมีประมาณ 1-2 % แต่การขึ้นครั้งนี้ เป็นการรวบยอดมา 5% ตามสภาวะเงินเฟ้อ


ส่วนการขึ้นค่าแรงจะเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการหรือไม่ นายสุชาติ กล่าวว่า ตนได้คุยกับผู้ประกอบการแล้วว่า เป็นการประคับประคองให้ลูกจ้างอยู่รอด นี่เป็นสิ่งที่นายจ้างต้องการเห็นลูกจ้างมีเงินมากขึ้น เพื่อพยุงค่าครองชีพ ซึ่งสัดส่วนการขึ้นค่าแรง 5% เป็นสิ่งที่นายจ้างรับได้ ไม่ได้เป็นสัดส่วนที่มากเกินไป จริงๆ แล้ว ถ้าลูกจ้างอยู่รอด นายจ้างก็อยู่รอด แต่เมื่อมีการประชุมเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก ก็ต้องดูด้วย และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำกับในเรื่องนี้

นายสุชาติ ย้ำอีกว่า การขึ้นค่าแรงเป็นไปตามกลไกล ซึ่งการขอให้มีผลขึ้นค่าแรงในวันที่ 1 ตุลาคมนั้น เพราะสินค้าอื่นๆ ขึ้นราคารอแล้ว ถ้ารอปรับ 1 มกราคม 2566 คาดว่าราคาสินค้าจะขึ้นอีก และตนยังได้ขอให้สำนักงานประกันสังคม ได้ช่วยเหลือนายจ้าง ประมาณ 2-3 เดือน ด้วยการลดจ่ายเงินสมทบ พร้อมยืนยันว่า จะไม่กระทบต่อเงินชราภาพ ซึ่งจะมีการใช้มติ ครม. โยกเงินอีกส่วนมาทดแทนจำนวนเงินที่หายไป และได้สั่งให้สำนักงานประกันสังคม ชี้แจงประชาชนเรื่องการลดการจ่ายเงินสมทบ จะไม่กระทบต่อกองทุนเงินชราภาพ


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/gD6uwPLlE2g


คุณอาจสนใจ

Related News