เศรษฐกิจ

เกษตรกรกุมขมับ ปุ๋ยราคาพุ่ง ซ้ำอาจขาดแคลน หลังหลายประเทศงดส่งออก

โดย thichaphat_d

28 มี.ค. 2565

142 views

วานนี้ (27 มี.ค. 65) ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดในเรื่องกระแสราคาสินค้าปรับสูงขึ้น จากปัจจัยต่างๆ 


ซึ่งในเรื่องของราคาปุ๋ย ต้องให้ผู้ประกอบการขึ้นราคาตามต้นทุนที่สูงขึ้น จากวัตถุดิบนำเข้าราคาสูงขึ้นมากถึง 40-60% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าผู้ประกอบการจะเริ่มทยอยยื่นเรื่องขอปรับราคา ในสัปดาห์นี้


แต่การขึ้นราคาต้องพิจารณาเป็นรายๆ เพราะแต่ละรายมีต้นทุนไม่เท่ากัน และใช้สูตรไม่เหมือนกัน และจะต้องเชิญผู้ประกอบการแต่ละรายมาหารือเพื่อชี้แจงรายละเอียดต้นทุนต่อไป


ส่วนอาหารกระป๋องก็เริ่มทยอยยื่นขอปรับราคามาบ้างแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งขณะนี้กรมการค้าภายในยังไม่ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคา


นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย กล่าวว่า  สมาคมเป็นห่วงว่าในฤดูกาลเพาะปลูกที่จะถึงในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.นี้ ประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตขาดปุ๋ยเคมี


เพราะสต็อกปุ๋ยบางชนิดมีปริมาณลดลง เนื่องจากปลายปีที่ผ่านมา ผู้ค้าปุ๋ยเคมีบางรายชะลอการนำเข้า เพราะปุ๋ยในตลาดโลกปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ในประเทศถูกรัฐบาลตรึงไว้ไม่ให้ขึ้นราคา เลยชะลอการนำเข้า


ทั้งนี้ แม้กระทรวงพาณิชย์ จะอนุญาตให้ปรับราคาและกระตุ้นให้นำเข้าได้ แต่ไม่แน่ใจว่าจะสามารถไปแข่งขันสั่งซื้อแม่ปุ๋ยเคมีกลับเข้ามาทันฤดูเพาะปลูก


ที่ผ่านมาราคาปุ๋ยก็แพงอยู่แล้ว พอเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ราคาแม่ปุ๋ยพุ่งขึ้นไปอีก ที่สำคัญหลายประเทศ เช่น จีนก็มีการสั่งห้ามส่งออกปุ๋ย อีกหลายประเทศก็มีการเก็บสต็อกไว้ สำหรับเพิ่มความมั่นคงในการผลิตอาหารภายในประเทศ


ถึงจะแย่งซื้อมาได้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-4 เดือน เพราะขณะนี้แหล่งผลิตนำเข้าใหญ่ๆ ก็มีปัญหา เช่น รัสเซีย จีน ทำให้ไทยต้องไปหาแข่งซื้อกับประเทศอื่น อีกทั้งยังต้องใช้เวลาในการขนส่ง  การขออนุญาต การตรวจสอบคุณภาพ และนำมาผสมวางขาย ซึ่งทุกขั้นตอนใช้เวลา


ปัจจุบันราคาแม่ปุ๋ยเคมีสูตรสำคัญที่เกษตรกรไทยใช้มากในตลาดโลก ได้ปรับขึ้นจากปีก่อนเกิน 100% ได้แก่ ...

  • ยูเรีย 46-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 360 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1,000 ดอลลาร์
  • แอมโมเนียมซัลเฟต 21-0-0 เพิ่มจากปีก่อน 180 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 400 ดอลลาร์
  • ฟอสเฟต 18-46-0 เพิ่มจากปีก่อน 570 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 1164 ดอลลาร์
  • โพแทสเซียม 0-0-60 ขึ้นจากปีก่อน 256 ดอลลาร์ต่อตัน เป็น 750


ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการนำเข้าปุ๋ยเคมี 5 ล้านตันต่อปี โดยประเทศที่มีการนำเข้า เรียงตามลำกับมากไปน้อย มีดังนี้

  • จีน 1.09 ล้านตัน
  • ซาอุดิอาระเบีย 7.2 แสนตัน
  • รัสเซีย-เบลารุส 7.1 แสนตัน
  • โอมาน 3.67 แสนตัน
  • เกาหลี 3.32 แสนตัน
  • แคนาดา 3.27 แสนตัน



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/NYCeYY4RPL8

คุณอาจสนใจ

Related News