เศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือนไทยอ่วม! พุ่ง 14.58 ล้านล้านบาท เผยจ่ายไม่ไหว รายได้ยังไม่ฟื้นตัว-ค่าครองชีพสูงขึ้น

โดย chutikan_o

23 พ.ค. 2565

119 views

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 3.9% จากสินเชื่อเพื่อยานยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อกลุ่มเช่าซื้อ ลิซซิ่ง เฝ้าระวัง NPLs กลุ่มสินเชื่อรถยนต์ ค้างชำระสูงถึง 11.08% กลุ่มรายได้น้อยยังมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1/2565 โดยในส่วนหนี้สินครัวเรือนล่าสุด ข้อมูลไตรมาส 4/2564 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.9 ลดลงจากร้อยละ 4.2 ของไตรมาสก่อนหน้า โดยหนี้สินครัวเรือนขณะนี้คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90.1 ต่อ GDP ซึ่งสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสก่อน จากการส่งเสริมการขายช่วงงานมอเตอร์เอ็กซ์โป (ช่วงสิ้นปีที่แล้ว) ขณะที่สินเชื่อจากบัตรเครดิต ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากการหดตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อ และ ลิสซิ่ง ที่ขยายตัวมากถึงร้อยละ 21.6

ส่วนสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ลดลง เช่น สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัวร้อยละ 6.5 จากร้อยละ 7.6 ในไตรมาสก่อน

ในขณะเดียวกันความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยหนี้เสียจากหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค มีมูลค่า 1.43 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 4.0 คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 2.73 แต่ยังต้องเฝ้าระวังหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากมีสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน ต่อสินเชื่อรวมสูงถึงร้อยละ 11.08 มูลค่ากว่า 1.3 แสนล้านบาท และยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เพราะครัวเรือนไทย โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อย สภาพคล่องต่ำ มีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้นจากเศรษฐกิจที่หดตัวยาวนาน, รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่ปกติ และ ค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

นอกจากนี้ภาพรวมด้านแรงงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีการจ้างงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการจ้างงานที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคการเกษตร แต่ขณะเดียวกัน การจ้างงานในสาขาก่อสร้าง และ โรงแรม/ภัตตาคาร มีการจ้างงานที่ลดลง ร้อยละ 1.1 ส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของโควิด19 และนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่มากนัก นอกจากนี้ชั่วโมงการทำงานที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาพรวมและภาคเอกชน แต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้เสมือนว่างงานในไตรมาส 1 ของปีนี้ มีจำนวนถึง 3.8 ล้านคนขณะที่ผู้ทำงานล่วงเวลามีแนวโน้มดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าช่วงปกติ

สำหรับการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยมีจำนวน 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 1.53 ถือว่าต่ำสุดในช่วงโควิด-19 เช่นเดียวกับการว่างงานในระบบที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามตัวเลขของผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน ยังเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.6 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนสวนทางผู้ว่างงานที่มีประสบการณ์ทำงานที่เริ่มปรับตัวลดลง, ผู้ว่างงานระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนถึง 1.7 แสนคน และ การว่างงานในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับสูง (อุดมศึกษา) ยังมีจำนวนมากคิดเป็นร้อยละ 3.10

นอกจากนี้สิ่งที่ต้องจับตา คือ ส่วนการจ้างงานจะกลับสู่ภาวะปกติก่อนโควิดเมื่อใด ต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน แม้การท่องเที่ยวจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวเดินทางมากขึ้น แต่ยังคงต้องประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

คุณอาจสนใจ