เศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 16.2 ล้านล้าน หนี้เสียยานยนต์พุ่งต่อเนื่อง ยอดยึดรถ 30,000 คันต่อเดือน

โดย paweena_c

4 มี.ค. 2567

185 views

สภาพัฒน์ เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยยังพุ่งต่อ ล่าสุดข้อมูลไตรมาส 3 ของปี 66 ยังขยายตัวเพิ่มอีก 3.3% มูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ที่ 90.9% โดยครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล แนะจับตาหนี้เสียสินเชื่อยานยนต์พุ่งสูงต่อเนื่อง ยอดยึดรถพุ่ง 25,000-30,000 คันต่อเดือน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม (สศช.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2566 ประเด็นสำคัญด้านหนี้สินครัวเรือนล่าสุดข้อมูลไตรมาส 3 ของปี 66 พบว่าหนี้สินครัวเรือนไทยมีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% แต่ชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพี. อยู่ที่ 90.9% ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า

ขณะเดียวกันพบว่าครัวเรือนชะลอการก่อหนี้ในเกือบทุกประเภทสินเชื่อยกเว้นสินเชื่อส่วนบุคคล โดยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 4.6% ชะลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 4.9%, สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 0.2% ลดลงจาก 1.0% ในไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยสำคัญมาจากความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน

ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลอื่น ขยายตัวชะลอลงจาก 5.6% ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 5.4% จากการชะลอตัวของสินเชื่อบัตรเครดิต ขณะที่สินเชื่อส่วนบุคคล ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 3.2% ในไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3.5% สะท้อนให้เห็นความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัว, มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้เงินหรือนำไปชำระหนี้สินหรือรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

ด้านคุณภาพสินเชื่อพบว่าด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ โดยอัตราหนี้ NPLs มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.9% จาก 2.7% ในไตรมาสก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้นจาก 2.71% ในไตรมาสก่อน โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยและบัตรเครดิต มีสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวม 3.24% และ 3.34% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับสินเชื่อยานยนต์ ที่สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 2.05% จากไตรมาสก่อน มาเป็น 2.10%

ส่วนหนี้ค้างชำระ 1-3 เดือน (SMLs) พบว่าภาพรวมสัดส่วน SMLs ต่อสินเชื่อรวมยังทรงตัวที่ 6.7% แต่หนี้ SMLs ของสินเชื่อยานยนต์ยังคงอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสถานการณ์คุณภาพหนี้ยานยนต์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการยึดรถยนต์ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2566 ที่เพิ่มขึ้นเป็น 25,000-30,000 คันต่อเดือน เพิ่มจากปี 65 ที่มียอดยึดรถ 20,000 คันต่อเดือน

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญหลังจากนี้ คือการติดตามผลการบังคับใช้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน พร้อมติดตามการเข้ารับความช่วยเหลือของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหนี้เรื้อรัง

นอกจากนี้ยังต้องจับตา การเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ที่สะท้อนการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ซึ่งพบว่า ไตรมาส 3 มีการขยายตัวสูงถึง 40.2% เนื่องจากเป็นสินเชื่ออนุมัติง่ายและเร็ว แต่ดอกเบี้ยสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น

และต้องติดตามการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะความสามารถในการไกล่เกลี่ยหนี้นอกระบบ โดยปัจจุบันพบว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบของกระทรวงมหาดไทย มีกว่า 1.43 แสนราย มูลหนี้รวม 10,261 ล้านบาท และอาจต้องผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดอุปสรรคการให้กู้ยืมกับกลุ่มลูกหนี้นอกระบบควบคู่กับการติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งต้องเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจก่อหนี้นอกระบบได้ในอนาคต

สำหรับข้อเสนอให้มีการนำมาตรการ LTV มาใช้กระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ มองว่า เป็นเหรียญสองด้าน ต้องดูว่าการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ จะทำให้เกิดการก่อหน้ีเพิ่ม และนำมาซึ่งภาวะหนี้เสียเพิ่มหรือไม่ แม้จะเป็นเครื่องมือกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องมาดูในรายละเอียด เบื้องต้นอยากเน้นให้คนคิดก่อนก่อหนี้ และการปล่อยสินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ ขณะนี้พยายามลดการก่อหนี้ลงก่อน อาจต้องดูเวลาที่เหมาะสมกับการนำมาตรการ LTV มาใช้อีกครั้ง

สำหรับสถานการณ์แรงงานไตรมาส 4 พบว่า การจ้างงานปรับตัวดีขึ้น โดยการว่างงานลดลง หรือ มีอัตราการว่างงาน 0.81% ขณะที่ภาพรวมทั้งปีอัตราการว่างงานอยู่ที่ 0.98% จำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 40.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 1.7% โดยภาคการเกษตรขยายตัว 1.0% ส่วนการจ้างงานนอกภาคการเกษตร ขยายตัว 2.0% ส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานสาขาโรงแรม ภัตตาคาร ขยายตัวสูงสุด 8% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น แต่ที่ต้องจับตาคือการจ้างงานสาขาการผลิตหดตัวลง 2.3% เป็นผลจากการชะลอการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการส่งออกที่ชะลอตัวลง

ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนอยู่ที่ 14,095 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้น 0.9% ส่วนภาพรวมอยู่ที่ 15,382 บาทต่อคนต่อเดือน ลดลง 0.2% สำหรับภาพรวมในปี 66 พบว่า อัตราการมีงานทำอยู่ที่ 98.68% การว่างงานโดยรวมอยู่ที่ 0.98% อยู่ในระดับเดียวกับปี 62 (ก่อนโควิด19) โดยประเด็นที่ต้องจับตาคือ ความคืบหน้าในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต จากเดิมที่ยังเป็นการผลิตโดยเน้นแรงงานไม่มีฝีมือในสัดส่วนสูงถึง 43.6% เพิ่มขึ้นจาก 26.2% ในปี 60

รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระบบ ปวช.และ ปวส. , การพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับการใช้งาน AI ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำธุรกิจในปัจจุบัน ดังนั้น สศช. มองว่าหากต้องการเพิ่มอัตราค่าแรงในการจ้างงาน ภาครัฐต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเพิ่มความสามารถของแรงงาน เพื่อให้แรงงานมีทักษะเพิ่ม เพื่อให้ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผ่านมาการเข้าถึงมาตรการดังกล่าวของภาครัฐยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก


คุณอาจสนใจ

Related News