อาชญากรรม
ผู้ปกครอง ยอมให้รักษาต่อ "เด็ก 14" กราดยิงพารากอน
โดย attayuth_b
1 ม.ค. 2567
75 views
ความคืบหน้ากรณี เด็กชายวัย 14 ปี ที่ก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอนจนมีผู้เสียชีวิต 2 ศพ บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง เมื่อวานนี้ครบกำหนดการผัดฟ้อง 84 วัน แต่ตำรวจส่งสำนวนไม่ทัน ทำให้วันนี้ต้องถูกปล่อยตัวกลับบ้าน แต่ผู้ปกครองเห็นว่า ลูกชายยังมีอาการป่วยจึงขอให้รักษาต่อที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์
กรณี ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ก่อเหตุยิงกระสุนปืนด้วยอาวุธแบลงค์กันกลางห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ศพ และบาดเจ็บอีก 4 คน
วันที่ 4 ต.ค.66 หลังเกิดเหตุเพียง 1 วัน พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ส่งตัวเด็กชายคนนี้ไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พร้อมแจ้ง 5 ข้อหา คือ ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่า มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
แต่ศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวเข้ารับการประเมินสุขภาพจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ แทนการคุมตัวไว้ที่สถานพินิจฯ เนื่องจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาได้มีการตรวจประเมินสุขภาพจิตของเด็กเบื้องต้น เห็นควรส่งตัวเข้ารับการรักษาและประเมินอาการทางจิตจากแพทย์เฉพาะทาง จิตเวชเด็กและวัยรุ่น
จากนั้นวันที่ 20 ธ.ค.66 ที่ผ่านมา พนักงานสอบสวนส่งสำนวนฟ้องของเด็กชาย ไปที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 โดยกล่าวหาว่า เด็กชายอายุ 14 ปี ตกเป็นผู้ต้องหา ในความผิดฐาน ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร
ทางอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารที่แนบมาด้วยในสำนวน คือ เอกสารรายงานทางการแพทย์ที่เป็นผลการรักษาเด็ก โดยเอกสารดังกล่าว แพทย์เจ้าของไข้ ได้วินิฉัยว่า เด็กรายดังกล่าวนั้น "ไม่มีความเข้าใจ ตระหนักรู้เรื่องของข้อกล่าวหา ไม่มีความสามารถในการพูดคุยและตอบคำถาม และไม่สามารถควบคุมอารมย์และพฤติกรรมของตัวเองได้" สรุปคือ ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้
ดังนั้น วันที่ 25 ธ.ค.66 พนักงานอัยการได้สอบถามไปยังแพทย์เจ้าของไข้อีกครั้ง เพื่อตรวจสอบผลการรักษาว่าดีขึ้นหรือไม่ เด็กมีความรับรู้ขึ้นแล้วหรือไม่ ซึ่งแพทย์ยังยืนยันกลับมาตามรายงานเดิมว่า เด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ แปลว่า ขั้นตอนการสอบสวนแจ้งข้อหา กระทำโดยมิชอบ เพราะเป็นการทำก่อนแพทย์ตรวจประเมินผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์
ทำให้วันที่ 28 ธ.ค.66 พนักงานอัยการจะต้องคืนสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน และเมื่อคืนสำนวนไปแล้ว ทางพนักงานสอบสวนจะต้องงดการสอบสวน พร้อมกับส่งตัวเด็กไปรักษายังโรงพยาบาลเฉพาะทางจนกว่าจะหายวิกลจริต เป็นปกติและต่อสู้คดีได้ เมื่อหายแล้วก็จะกลับเข้าสู่กระบวนการสอบสวนใหม่อีกครั้ง นั่นหมายความว่า จะต้องรักษาเด็กให้หายขาดก่อนถึงจะเริ่มกระบวนการสอบสวนอีกครั้ง ซึ่งคดีนี้มีอายุความถึง 20 ปี แต่วันที่ 31 ธ.ค.66 หรือ เมื่อวานนี้ เป็นวันที่ครบกำหนดผัดฟ้อง 7 ผัด รวม 84 วัน ที่เด็กต้องอยู่ในความดูแลของกรมพินิจฯ แต่ตำรวจทำสำนวนส่งฟ้องไม่ทัน ดังนั้นตามกฎหมายก็ต้องปล่อยตัวเด็กให้ไปอยู่ในความดูแลของผู้ปกครองต่อไป
กำหนดที่จะต้องถูกปล่อยตัว คือ 10.00 น. วันนี้ (1ม.ค.67) โดยพ่อและแม่ของเด็กชาย เข้ามาปรึกษาร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และแพทย์สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ เพื่อพิจารณาว่า หากได้รับการปล่อยตัวครอบครัวจะดูแลอย่างไรต่อ แต่ไม่อนุญาตให้สื่อเข้าไปภายใน ทำได้เพียงรอยู่ด้านหน้าสถาบันกัลยาฯ เท่านั้น
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ก็ได้รับการยืนยันว่า วันนี้มีการประชุม เกี่ยวข้องกับเยาวชนผู้ก่อเหตุยิงที่สยามพารากอนจริง ซึ่งตอนนี้พักรักษาตัวอยู่ภายในพื้นที่หวงห้าม แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
ในการหารือ 3 ฝ่าย ครั้งนี้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนที่รถยนต์ที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับรถยนต์ของครอบครัวเยาวชนผู้ก่อเหตุจะขับออกมาจากส่วนที่พักรักษาตัวของสถาบันกัลยาฯ โดยไม่ได้ลงมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
ทีมข่าวจึงโทรศัพท์สอบถามไปยัง น.ส.ศิริประกาย วรปรีชา รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ระบุว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันระหว่างตัวแทนกรมพินิจและคุ้มครองเยาวชน ครอบครัวเยาวชน ประกอบไปด้วยพ่อแม่ของเด็ก และแพทย์ของสถาบันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางครอบครัวยินยอมให้เยาวชนผู้ก่อเหตุอยู่ภายใต้การรักษาตัวของสถาบันต่อไป ซึ่งคาดว่าทางครอบครัวจะเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาล โดยบรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและทางครอบครัวให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนจะรักษาตัวนานเท่าใดและมีแผนการรักษาอย่างไร ไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากเป็นดุลพินิจของแพทย์ แต่ตอนนี้กรมพินิจฯ ได้หมดอำนาจการควบคุมตัวแล้ว หลังจากนี้เป็นเรื่องของทางแพทย์กับครอบครัว ส่วนเรื่องคดี แพทย์จะเป็นผู้ทำรายงานวินิจฉัยการประเมินสุขภาพต่าง ๆ และนำส่งให้กับทางพนักงานสอบสวนต่อไป
ขณะที่ นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า ได้พูดคุยกับหนึ่งในคณะสหวิชาชีพผู้ร่วมรักษาเด็ก ระบุว่า แพทย์ได้ลงความเห็นว่าเด็กยังมีอาการป่วยจิตเวช ต้องรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะหาย เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายของเด็กที่อาจก่อกับสังคม และต้องสอบสวนโรคหาสาเหตุการก่อเหตุครั้งนี้ โดยเป็นไปตามหลักนิติจิตเวช โดยแพทย์จะต้องแจ้งผู้ปกครองถึงเงื่อนไขเหล่านี้เพื่อยินยอมให้รักษาต่อ เนื่องจากการรับการรักษาต่อที่สถาบันนั้น ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยและผู้ปกครองตามกฎหมาย แต่หากไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครอง เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต ปี 2551 มาตรา 22 และ 36 ในการควบคุมตัวรักษาตัวต่อไป เพราะเนื่องจากอาจจะเป็นอันตรายต่อตัวเยาวชนเองและสังคมหากปล่อยตัวไป
ทีมข่าวอาชญากรรมโทรศัพท์ไปสอบถาม พ.ต.อ.อาคม ชุมพรัตน์ ผู้กำกับการ สน.ปทุมวัน เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวอาชญากรรม ทางโทรศัพท์ว่า ตอนนี้ในทางคดีต้องหยุดการสอบสวนเอาไว้ก่อน ต้องรอจนกว่าแพทย์จะส่งรายงานให้ความเห็นว่า เด็กผู้ก่อเหตุมีสติสัมปชัญญะสู่ภาวะปกติเพียงพอที่จะสามารถสอบสวนทางคดีได้ ซึ่งเรื่องนี้ ทางพนักงานสอบสวนได้เตรียมความพร้อมเอาไว้เรียบร้อยแล้ว
ก่อนหน้านี้ที่มีรายงานข่าวว่า เตรียมจะดำเนินคดีกับพ่อแม่เยาวชนผู้ก่อเหตุกราดยิงที่สยามพารากอน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รอง ผบก.น.6 คดีในส่วนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากจะต้องอาศัยปากคำของเด็กผู้ก่อเหตุถึงเรื่องการเลี้ยงดูของผู้ปกครองว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็กหรือไม่ ซึ่งยังไม่สามารถสอบปากคำได้ จะต้องรอให้เด็กผู้ก่อเหตุรักษาตัวจนปกติ และแพทย์รายงานรับรองว่าจะสามารถสอบปากคำต่อได้เช่นเดียวกันกับคดีหลัก ทั้งนี้ได้มีการสอบปากคำพ่อแม่ของเยาวชนผู้ก่อเหตุไปแล้วในฐานะพยาน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดของคดีได้ เนื่องจากอยู่ในสำนวน
รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/zG1znd4I6g8
แท็กที่เกี่ยวข้อง เหตุกราดยิงพารากอน ,กราดยิงพารากอน ,สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ,จิตเวช