อาชญากรรม

DSI ชี้มี 23 บริษัทคู่แข่ง 'กำนันนก' ไม่เข้าให้ปากคำ เตือนไม่มาจ่อคุก 1 ปี

โดย passamon_a

25 ก.ย. 2566

436 views

จากกรณีที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) โดยกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือกองคดีฮั้วประมูลฯ ออกหมายเรียกพยานแก่ 58 บริษัท ให้เข้าให้ปากคำตั้งแต่วันที่ 18-20 ก.ย. เนื่องจากทั้งหมดเคยยื่นซื้อซองใน 2 โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ได้แก่


โครงการประกวดราคาจ้างเหมาทำการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย อ.ดอนตูม - ต.ลำลูกบัว (ปีงบประมาณ 2560) และโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 375 สาย ต.ลำลูกบัว - บรรจบทางหลวงหมายเลข 346 (ปีงบประมาณ 2564) ซึ่งเป็นโครงการเดียวกับบริษัทของ นายประวีณ จันทร์คล้าย หรือ กำนันนก ผู้ต้องหาในคดีสั่งยิงสารวัตรแบงก์ สามารถประมูล e-bidding ชนะไปได้นั้น


โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษพบพฤติการณ์ส่อฮั้วประมูลจากทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากทั้ง 58 บริษัทได้จ่ายค่าธรรมเนียมซื้อซอง แต่ถอนตัวไม่เข้าร่วมในวันประมูล e-bidding ทำให้เป็นเหตุอันน่าสงสัยว่าเป็นการสมยอมราคาโดยกีดกันเพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันเสนอราคาอย่างเป็นธรรม เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทของกำนันนก หรือบริษัททั้งหมดถูกข่มขู่ไม่ให้เข้าร่วมการประมูลโครงการหรือไม่ อีกทั้งเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา (วันสุดท้ายของการเรียกสอบปากคำ) ได้มีบริษัทจำนวน 14 แห่งให้ความร่วมมือเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ นั้น


วันที่ 24 ก.ย.66 ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีฮั้วประมูลฯ กล่าวว่า จากการเรียกสอบปากคำในฐานะพยานแก่บริษัททั้งหมด 58 แห่ง พบว่ามีตัวแทนบริษัทเข้าให้ความร่วมมือชี้แจงและยื่นเอกสารพยานหลักฐานต่อพนักงานสอบสวน สำหรับประเด็นการเข้าร่วมจ่ายค่าธรรมเนียมยื่นซื้อซองเสนอราคาใน 2 โครงการ แต่ถอนตัวในวันเปิดซองเสนอราคา หรือวันประมูลโครงการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding)


โดยเข้าให้ปากคำเพียง 35 บริษัท ส่วนอีก 23 บริษัทที่เหลือ แบ่งเป็น กลุ่มเลื่อนนัดหมายเรียกพยาน ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.เป็นต้นไป และกลุ่มที่ไม่ประสานมายังดีเอสไอ อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทรายใดแจ้งขอเลื่อนเข้าพบตามกำหนดนัดหมายเดิมนั้น ก็จะต้องเดินทางมาชี้แจงในภายหลัง แม้ว่าดีเอสไอจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ซึ่งถ้าหากไม่มาโดยไม่มีเหตุอันควร จะมีโทษจำคุก 1 ปี


ส่วนรายละเอียดคำให้การของแต่ละบริษัท ว่า กำนันนก เป็นผู้มีอิทธิพล มีพฤติการณ์ข่มขู่ หรือมีตัวแทนบริษัทรายใดให้การยอมรับเรื่องการสมยอมราคาหรือไม่นั้น ต้องขอละเว้นการเปิดเผย เพราะเป็นสาระสำคัญสำหรับการสอบสวน แต่ยืนยันว่าดีเอสไออยู่ระหว่างดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน ตนได้มีการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานทั้งหมดเสนอต่อ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีดีเอสไอ เพื่อพิจารณาอนุมัติในการรับเป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) คดีความผิดทางอาญาที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สาคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะทราบผลอย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์ถัดไป


เมื่อถามว่าตามหลักการแล้ว เมื่อมีการรับเป็นคดีพิเศษจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ร.ต.อ.สุรวุฒิ อธิบายว่า ตามขั้นตอนแล้วหากมีการรับเป็นคดีพิเศษ อธิบดีดีเอสไอจะต้องมีการลงนามเซ็นคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและออกเลขคดีพิเศษ แต่ที่สำคัญ เนื่องจากหากคดีนี้ถูกรับเป็นคดีพิเศษและยกระดับเป็นคดีที่มีผู้อิทธิพลเป็นตัวการ ตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (ง) ดังนั้นจะต้องมีพนักงานอัยการเข้าร่วมในขั้นตอนตั้งแต่เริ่มการสอบสวนจนเสร็จสิ้นคดี


และตนจะต้องทำหนังสือแจ้งเรียนไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งทางอัยการก็จะมีขั้นตอนในส่วนของหน่วยงานเพื่อจัดเตรียมพนักงานอัยการสำหรับดำเนินการร่วมกัน รวมถึงประเด็นการสอบสวนต่าง ๆ ด้วย จากนั้นจึงจะเริ่มมีการประชุมหารือเพื่อกำหนดทิศทางร่วมกันว่าจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างไรบ้าง แต่ระหว่างนี้ดีเอสไอก็มีหน้าที่เตรียมข้อมูลและพยานหลักฐานต่าง ๆ ไว้ก่อน


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/04DxE7NOlb4

คุณอาจสนใจ

Related News