อาชญากรรม
เปิดสาเหตุ 'แอม ไซยาไนด์' วางยาฆ่า 13 ราย พบพนันออนไลน์เป็นเหตุ
โดย panwilai_c
20 พ.ย. 2567
235 views
คืบหน้าคดีที่นางสาวสรารัตน์ หรือ แอม ถูกดำเนินคดี วางยาพิษด้วยไซยาไนด์ ทำให้ผู้อื่นเสียชีวิต โดยเธอถูกดำเนินคดีถึง 15 คดี และวันนี้มีคำพิพากษาคดีแรก โดยศาลพิพากษา ประหารชีวิตเธอ ส่วนจำเลย 2 ซึ่งเป็นอดีตสามี และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทนายความ ถูกดำเนินคดีฐานสนับสนุนให้ปกปกซ่อนเร้นทำลาย หลักฐาน ศาลพิพากษาจำคุก
นางทองพิน แม่ของนางสาว ศิริพร หรือก้อย วัย 32 ปี ซึ่งเป็น 1 ในผู้เสียชีวิต จากพิษของวัตถุอันตราย ประเภทไซยาไนด์ ที่ท่าน้ำในอำเภอ บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2566 นำรูปของลูกสาวมาที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก
เพื่อเข้าร่วมฟังคำพิพากษา ในคดีที่นางทองพิน พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนาง สรารัตน์ รังสิตวุฒาภรณ์ หรือ แอม อายุ 36 ปี ว่าเป็นผู้นำสารไซยาไนด์ให้ลูกสาวกิน โดยร่วมกันฟ้องในความผิดฐาน ฆ่าอื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน / ชิงทรัพย์เป็นเหตุ ให้ผู้อื่นถึงแก่ ความตาย / ปลอมปนอาหาร ยาหรือเครื่องอุปโภคเป็นเหตุให้บุคคลอื่นถึงแก่ความตาย
รวมถึงฟ้องพันตำรวจโท วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ อายุ 40 ปี อดีตสามีของแอม และนางสาว ธันย์นิชา เอกสุวรรณวัตร์ หรือ ทนายพัช อายุ 36 ปี ทนายความของแอม ในข้อหาช่วยเหลือจำเลยที่ 1 มิต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน พร้อมเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 30 ล้านบาท
ก่อนที่จะรับฟังคำพิพากษา นางทองพิณเปิดเผยว่า ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไร ก็จะไม่ก้าวล่วง แต่จะขอทวงคืนความยุติธรรม ให้กับลูกสาว ไม่อยากให้ลูกตายฟรี และเตือนว่าอย่าไว้ใจคนอื่น แม้จะเป็นคนใกล้ตัว เพราะเหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นบทเรียน ว่าคนใกล้ชิด สำคัญที่สุด
คดีนี้ นายเดชา กิตติวิทยานันท์ เป็นหนึ่งในทีมทนายความด้วย และเปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ศาลนัดไต่สวน แต่แอมปฏิเสธที่จะเบิกความต่อ หน้าศาล ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่จะทำได้ ส่วนพันตำรวจโท วิฑูรย์ จำเลยที่ 2 แจ้งต่อศาลว่าไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจนว่า เป็นผู้นำกระเป๋าซึ่งเป็น หลักฐานสำคัญในคดี ไปซ่อนเร้นอำพราง และทนายพัช จำเลยที่ 3 เบิกความต่อ ศาลว่า ไม่ปรากฏประจักษ์พยานว่า ขณะเกิดเหตุไม่มีใคร พบเห็นว่ายาพิษเข้าสู่ร่างกายผู้ตายได้อย่างไร ทำให้คดีมีข้อสงสัย
นางสรารัตน์ หรือแอม ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 15 คดี แต่คำพิพากษาวันนี้ เป็นคดีแรก โดยเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ นำเธอมาจากทัณฑสถาน หญิงกลาง เพื่อฟังคำพิพากษา ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 713
ส่วนพันตำรวจโทวิฑูรย์ และทนายพัช ที่ก่อนหน้านี้ศาลอนุญาตให้ประกันตัวคนละ 1 แสนบาท ก็เข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องระบุพฤติการณ์ความผิดพวกจำเลย ว่า ช่วงวันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 5 พฤษภาคม 2566 "แอม" มีเงินหมุนเวียน ในบัญชีมากกว่า 95 ล้านบาท มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงอีก 10 บัญชี ซึ่งเป็นบัญชีม้า และเกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ พร้อมกับมีหนี้สิน จำนวนมาก
ในปี 2564ถึง 65 พบว่า "แอม" เสียเงินให้พนันออนไลน์จำนวนมาก ขณะที่คนรู้จักใกล้ชิด ก็ผู้เสียชีวิตมากขึ้นในนั้น
คำฟ้อง ระบุว่า วันที่ 14 เมษายน 2566 "แอม" นำสารโพแทสเซียมไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษปลอมปนใส่ลงในอาหาร หรือน้ำดื่ม ให้ "ก้อย" ซึ่งเป็นเพื่อนที่ใกล้ชิด ดื่มกิน ระหว่างทั้งคู่ไปปล่อยปลาที่ท่าน้ำ ตำบลบ้านโป่ง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยที่ "แอม" ไม่ได้ให้การช่วยเหลือ และยังนำทรัพย์สินของ "ก้อย" ทั้งหด 9 รายการ มูลค่า 154,630 บาท ไปด้วย
จากนั้นทนายพัช ได้ใช้ หรือยุยงส่งเสริมให้ อดีตสามีของแอม ซึ่งเป็นตำรวจ มีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการ สภ.สวนผึ้ง ช่วยเหลือ "แอม" มิให้ต้องรับโทษตามกฎหมาย หรือให้ได้รับโทษน้อยลง
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเสียชีวิตของ "ก้อย" มีการกระทำหลายอย่างของ "แอม" ที่เป็นพิรุธ แสดงให้เห็นถึงเจตนาและความคาดหมายว่า จะให้เสียชีวิตในช่วงเวลาใด และ "แอม" คอยอยู่ใกล้ผู้ตายเพื่อขโมยของ ก่อนที่จะมีผู้อื่นเข้ามาช่วยเหลือ หากบริสุทธิ์ใจจริงควรอยู่ช่วยชีวิต จนถึงที่สุด หรือ โทรติดต่อญาติของผู้ตายให้ทราบ จึงเชื่อได้ว่า "แอม" มีการวางแผนมาตั้งแต่ต้น
นอกจากนี้ยังพบข้อเท็จจริงว่า "แอม" ได้สั่งไซยาไนด์มาอย่างเร่งรีบ ทั้งที่ไม่มีอาชีพเกี่ยวกับสารเคมี และที่รถยนต์ของผู้ตายพบยาไซยาไนด์ หลายจุด รวมถึงพบยาเม็ดแคปซูลที่ภายในมีสารไซยาไนด์ซ่อนอยู่ในห้องโดยสารของรถยนต์ด้วย
ส่วน พันตำรวจโท วิฑูรย์ นำกระเป๋าของผู้ตายซึ่งเป็นของกลางหลักฐานสำคัญในคดี ส่งคืนให้กับ "แอม" แทนที่จะส่งให้พนักงานสอบสวน
และทนายพัช เชื่อได้ว่า ยุยงให้ "แอม" ปกปิดกระเป๋าของกลางในคดี เพื่อเป็นแนวทางในการชนะคดี มีหลักฐานเป็นคำพิพากษา ของศาลฎีกา ของคดีอื่น ที่ชนะคดีได้โดยไม่มีของกลาง ซึ่ง "ทนายพัช" ส่งให้ "แอม" และ "อดีตสามี" อ่านในกลุ่มไลน์ที่สร้างขึ้น
จากพยานและหลักฐานมีน้ำหนัก ศาลรับฟังได้ว่า จำเลยทั้ง 3 คน กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษา "ประหารชีวิต" นางสรารัตน์ หรือ แอม จำเลยที่ 1 ส่วนพันตำรวจโท วิฑูรย์ และทนายพัช มีความผิดฐาน ช่วยเหลือ "แอม" ไม่ต้องรับโทษหรือรับโทษน้อยลง และซ่อนเร้นทำลายหลักฐาน ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี แต่พันตำรวจโท วิฑูรย์ ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1ใน 3 คงจำคุก 1ปี 4 เดือน และให้ทั้ง 3 คนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก้ครอบครัวของก้อน เป็นเงิน 2,343,588 บาท
หลังจากฟังคำพิพากษานางทองพิน เปิดใจว่าลูกสาว "ได้รับความเป็นธรรมแล้ว"
คดีนี้เป็นคดีแรกจากทั้งหมด 15 คดี โดยวันอังคารที่ 26 พฤศจิกายนนี้ พนักงานอัยการจะนำสำนวนอีก 14 คดี ของ "แอม" ไปมอบให้ศาล และเมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา ศาลอนุญาตให้พันตำรวจโทวิฑูรย์ จำเลยที่ 2 และนางสาวธันย์นิชา หรือทนายพัช จำเลยที่ 3 ได้รับการประกันตัวชั่วคราวในระหว่างสู้คดีชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์คนละ 1 แสนบาท
สาเหตุของการก่อคดีต่อเนื่อง ของนางสรารัตน์ หรือแอม เป็นเพราะติดการพนันออนไลน์ อย่างหนัก จนต้องวางแผนฆาตกรรม เพื่อนและคนใกล้ชิด ถึง 13 ราย โดยทุกครั้งที่เสียการพนัน ก็จะใช้วิธีหลอกคนในวงแชร์ ไปทำบุญ ก่อนจะวางยาพิษจนเสียชีวิต
Fun 88 เป็น เว็บพนันออนไลน์ ที่นางสรารัตน์ หรือแอม ใช้ชื่อของตัวเอง สมัครเข้าไปเล่น ทั้งกลางคืน กลางวัน โดยเฉพาะช่วงเวลาหลังจากได้ทรัพย์สินจากผู้ตายมาแล้ว ยอดในการเล่นการพนัน ก็จะสูง โดยเฉพาะในช่วงปี 2564-2565 นางสรารัตน์ได้เสียเงินให้กับพนันออนไลน์จำนวนมาก บางคืน 30 ล้านบาท เป็นช่วงที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
ซึงผู้เสียชีวิต 3 คนเป็นตำรวจหญิง ที่นางสรารัตน์ชักชวนให้เล่นแชร์ เมื่อผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินปันผล นางสรารัตน์ ก็จะออกอุบาย ชวนไปทำบุญ และวางยาพิษ โดยไม่ให้การช่วยเหลือ หรือ ผู้เสียชีวิตที่เป็นภรรยาตำรวจ
ที่มุกดาหาร ก็จะอ้างว่ามียาสมุนไพรลดความอ้วน แต่กลับเป็นส่งยาพิษให้ดื่ม หรือบางรายในช่วงโควิดระบาด ก็อ้างว่ามีญาติเภสัช ส่งยาโควิดให้กิน แต่สุดท้ายเป็นยาพิษ
เหตุจูงใจที่ทำให้นางสรารัตน์ ทำเช่นนี้ ติดการพนัน มีโอนเฉพาะเข้าเว็บ Fun 88 ประมาณ 95 ล้าน โดยตำรวจได้จับบัญชีม้าที่นางสรารัตน์ โอนเงินของเหยื่อเพื่อเล่นพนันออนไลน์เกือบทั่วประเทศ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ นับร้อยบัญชี จนต้องไปกู้ธนาคาร และบัตรเครดิตมาเล่น เมื่อเลิกไม่ได้ จึงนำบ้านไปจำนอง และต่อมานำไปขายฝาก และต้องหาเงินมาเสียการพนัน โดยเล่นแชร์และฆ่าเหยื่อเพื่อหนีหนี้ ต่างจากเครือข่ายเว็บพนัน ที่มีเงินไปซื้อคอนโด และรถหรู ด้วยเงินสด ราคาแพงถึง 3 คัน ร่วม15 ล้านบาท โดยพบว่านายบรม เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเงินจากเว็บพนัน นำไปซื้อรถเป็นของขวัญให้ภรรยา และยังซื้อรองเท้าคู่ละล้านบาท และไม่เก็บเงินเป็นเงินสด
โดยนำไปซื้อเป็นเงินดิจิทัล แต่ผู้ต้องหาจะปฏิเสธว่ามีรายได้จากการขายดอกไม้ และขายของออนไลน์ แต่สวนทางกับการซื้อของฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตหรูหรา จากการตรวจสอบพบมีเงินหมุนเวียนกว่า 250 ล้านบาท
อีกทั้งพบว่า 1 ในรถของกลางที่ยึดได้ คือ รถหรูยี่ห้อพอร์เช พึ่งมีการซื้อด้วยเงินสด มาครอบครองก่อนหน้าจะถูกจับกุมได้เพียงแค่ 1 วันเท่านั้น
ส่วนนางสรารัตน์ถูกยึดบ้าน ยึดรถ มีคดีฆ่าเพื่อนำเงินมาเล่นพนัน จนศาลตัดสินประหารชีวิตในวันนี้