จับตา 'ประยุทธ์' ค้านแก้ รธน.มาตรา 144 และ 185 ที่เสนอโดย พปชร.

เลือกตั้งและการเมือง

จับตา 'ประยุทธ์' ค้านแก้ รธน.มาตรา 144 และ 185 ที่เสนอโดย พปชร.

โดย pattraporn_a

23 มิ.ย. 2564

93 views

(23 มิ.ย.) การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 13 ฉบับ มีความเข้มข้นตั้งแต่เปิดประชุม โดยเฉพาะประเด็นการแก้ไขมาตรา 144 และ มาตรา 185 ตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอ ซึ่งมีเสียงไม่เห็นด้วยจากสมาชิกวุฒิสภา จนน่าเป็นห่วงว่าจะไม่ลงมติสนับสนุน และอาจทำให้ร่างของพรรคพลังประชารัฐ ที่รวม 5 ประเด็นในฉบับเดียว จะไม่ผ่านวาระที่ 1 อาจส่งผลให้ประเด็นระบบเลือกตั้งตกไปด้วย


และล่าสุด มีท่าทีมาจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 144 และมาตรา 185 เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับการป้องกันการทุจริตและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความรับผิดชอบตามกฎหมายทั้งทางตรงทางอ้อม


ในระหว่างการชี้แจงหลักการและเหตุผล นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ในฐานะผู้เสนอร่าง จึงยืนยันว่าในชั้นกรรมาธิการจะเสนอให้คงทั้งสองมาตราไว้ ตามที่มีข้อห่วงใย


ส่วนประเด็นการแก้ไขระบบเลือกตั้งที่ตรงกันทั้งในร่างของพรรคพลังประชารัฐ ร่างของพรรคเพื่อไทย ที่นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการใช้บัตรสองใบ มีความเป็นธรรม ประชาชนเข้าใจง่าย ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ย้ำว่า ไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมือง สมาชิกรัฐสภา ไม่ได้ท้วงติงมาก และมีแนวโน้มจะผ่านความเห็นชอบในวาระที่ 1 แต่มีหลายคนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะ นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ที่มองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อหวังผลในการเลือกตั้ง หวังจำนวนส.ส.เท่านั้น


นายวันชัย เป็นหนึ่งในวุฒิสภา ที่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะเห็นชอบการแก้ไขมาตรา 272 ที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมี ส.ส.อภิปรายยืนยัน เช่นนายบุญเทียร บุญตัน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 56 ส.ว.ที่เคยยกมือสนับสนุนการแก้ไขร่างนี้เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ในขณะที่แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา ยืนยันว่า พร้อมเห็นชอบทั้ง 2 ร่าง เพราะเห็นว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ว.ที่จะตัดสินใจได้


ท่าทีของ ส.ว.จึงเป็นที่น่าสนใจ เพราะหากให้ทั้ง 2 ร่างเรื่องการตัดอำนาจส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านวาระที่ 1 จะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่ต้องมากกว่า 367 เสียง จึงต้องการเสียงของ ส.ว. 46 เสียงเท่านั้น


ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย นายกรวีร์ ปริศนานันทกุล ที่อภิปรายสนับสนุนการตัดอำนาจ ส.ว.และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขระบบเลือกตั้งทั้ง 3 ฉบับ พร้อมชี้ให้เห็นเหตุผลการแก้ไขเรื่องรายได้ถ้วนหน้าและการปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติ


นอกจากนี้ พรรคก้าวไกล ก็ไม่เห็นด้วยเรื่องการแก้ไขให้นำระบบเลือกตั้งในปี 2540 มาใช้ โดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปราย ย้ำว่า พรรคการเมืองที่ต้องการแก้ไขเพื่อมุ่งหวังให้สองพรรคใหญ่ชนะเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงถึงประชาชน


ส่วน 10 พรรคเล็กนำโดยนายแพทย์ ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เสนอให้รัฐสภาคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่พิจารณา โดยควรเสนอญัตติให้มีการทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนว่าจะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่ ซึ่งพรรคเล็กพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งทุกกติกา


การลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ในวันพรุ่งนี้จึงน่าจับตา ว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 13 ฉบับจะผ่านไปกี่ฉบับ ในขณะที่กลุ่มราษฎร นัดหมายมายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมือง ยืนยันจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะมาชุมนุมอย่างสงบสันติ ไม่มีการปิดล้อมรัฐสภา หรือล้มการลงมิตแก้ไขรัฐธรรมนูญ


ขณะที่โดยรอบรัฐสภา ที่ขณะนี้การสร้างสภาใหม่แล้วเสร็จเกือบสมบูรณ์แล้วนั้น มีการรักษาความปลอดถัยตามปกติ เนื่องจากนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา แกนนำราษฎร ได้มาประสานล้วงหน้าแล้วว่าจะชุมนุมโดยสรุป เมื่อยื่นหนังสือแล้วเสร็จก็จะยุติ แล้วเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่บริเวณสกายวอล์กในช่วงเย็น

คุณอาจสนใจ

Related News