จุฬาฯ เปิดแนวคิดฟื้นฟูทางเดินลอยฟ้า ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะกับชุมชน

สังคม

จุฬาฯ เปิดแนวคิดฟื้นฟูทางเดินลอยฟ้า ปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะกับชุมชน

โดย thichaphat_d

13 เม.ย. 2564

108 views

ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดแนวคิดการฟื้นฟูสะพานเขียวให้กลับมาเขียวสมชื่อด้วยการเพิ่มต้นไม้และปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับชุมชนโดยรอบ เพื่อประโยชน์กับการใช้พื้นที่สาธารณะแห่งนี้ร่วมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปีนี้ ก่อนพร้อมเปิดใช้งานในช่วงปี 2565


แบบจำลองภูมิทัศน์และโครงสร้างของสะพานเขียวในอนาคต เพิ่มการปรับปรุงก่อสร้างหลังคาและพื้นที่สีเขียวเพิ่มเติมสร้างทางเดินเท้าให้เหมาะกับการใช้งาน ออกแบบโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง Uddc ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีสถาปนิก ซึ่งการออกแบบนี้นำเสนอแนวคิดฟื้นฟูสะพานเขียวให้เขียวยิ่งกว่าเก่าด้วยธรรมชาติ เชื่อมโครงข่ายสัญจร ระบบนิเวศ สังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน เพื่อนำเสนอให้กรุงเทพมหานครพิจารณา


สะพานเขียวเป็นทางเดินลอยฟ้าระยะทาง 1.3 กิโลเมตร เชื่อมระหว่างสวนลุมพินี กับ สวนเบญจกิติ เข้าด้วยกัน เป็นสิ่งก่อสร้างคอนกรีตที่พาดผ่านชุมชุนโปโลและชุมชนร่วมฤดี แม้ในอดีตสะพานแห่งนี้จะเคยได้ปรุงปรุงแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งนี้คือการปรับปรุงครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี


การหารือร่วมกับชุมชนทั้ง 2 แห่งมีมาตั้งแต่ช่วงปี 2562 ซึ่งชุมชนแห่งนี้มักใช้สะพานเขียวสัญจรไปมาเป็นประจำ โมเดลนี้ของสะพานเขียวจึงถูกวางให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่บนถนนวิทยุ โดยเฉพาะการสร้างพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้งานของทุกคน ผ่านโจทย์สำคัญคือการสร้างพื้นที่สีเขียว ร่มเงาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ไฟส่องสว่างสร้างความรู้สึกปลอดภัยจากความเสี่ยงด้านอาชญากรรม และฟื้นฟูชุมชนให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์และสวนแห่งการเรียนรู้ ตามหลักอารยสถาปัตย์


โครงการนี้เป็นหนึ่งในนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานคร เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตชาวเมือง ไปพร้อมกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ทั้งโครงสร้างทางเดินเท้าและจักรยาน ซึ่งหากปรับปรุงแล้วเสร็จก็จะสามารถเพิ่มคะแนนศักยภาพการเดิน หรือ good walk score ของพื้นที่แห่งนี้ จากเดิมที่ 30 คะแนน เป็น 73 คะแนน


หากโครงการแห่งนี้ผ่านการอนุมัติ ทางกรุงเทพมหานครก็คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ทันทีในปลายปีนี้ ก่อนพร้อมเปิดให้ประชาชนได้สัมผัสกับความเขียวที่เขียวชอุ่มไปด้วยธรรมชาติ สร้างพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืนกลางกรุงให้ทุกคนกลับมาเช็คอินท่องเที่ยวได้ในช่วงปลายปี 2565 นี้



คุณอาจสนใจ

Related News