อดีตตุลาการ “จรัญ” เตือนอย่าเพิ่งโหวตวาระ 3 เชื่อ รธน.ใหม่ยิ่งชอบธรรม หากผ่านประชามติ 2 รอบ

เลือกตั้งและการเมือง

อดีตตุลาการ “จรัญ” เตือนอย่าเพิ่งโหวตวาระ 3 เชื่อ รธน.ใหม่ยิ่งชอบธรรม หากผ่านประชามติ 2 รอบ

โดย JitrarutP

12 มี.ค. 2564

325 views

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุลอดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับทีมข่าวการเมืองช่อง 3 ถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณีปัญหาข้อกฎหมายในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า สิ่งที่ทุกคนแสดงความเห็นกันอยู่ขณะนี้ เป็นเพียงคำสรุปของคำวินิจฉัยเท่านั้นยังไม่ใช่คำวินิจฉัยกลาง จึงขอให้ทุกคนรอวิเคราะห์จากคำวินิจฉัยกลางน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น

แต่โดยความเห็นส่วนตัวเมื่อวิเคราะห์จากข้อเท็จจริงที่ศาลวินิจฉัยถือว่ามีความชัดเจนประการหนึ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ไม่ใช่การแก้ไขในความหมายปกติ แต่เป็นการแก้ไขเพื่อให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่  ที่รัฐสภามีอำนาจดำเนินการได้แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำลังมีการแก้ไขอยู่นี้ก็มาจากการจัดทำประชามติของประชาชนแล้ว หากจะยกเลิกหรือยกร่างใหม่ก็ต้องขอความเห็นชอบจากประชาชนเสียก่อนซึ่งศาลยังพูดต่อไปด้วยว่า เมื่อได้รับความเห็นชอบให้มีการร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และ ส.ส.ร.ได้ร่างเสร็จแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะถูกใจประชาชนหรือไม่  จึงต้องทำประชามติอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 เพื่อให้ประชาชนรับรองการร่างรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้น ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีหลักการที่จะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง คือ


-ครั้งแรก  ให้ประชาชนอนุมัติเห็นชอบว่าจะยอมถอนประชามติเดิมเพื่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับหรือไม่

-ครั้งที่สอง  ให้ประชาชนลงมติให้ความเห็นชอบรับรอง


อดีตตุลาการฯ ยังกล่าวด้วยว่ากระบวนการนี้ถ้าหากจะมองว่าทำให้เสียเวลา แต่ก็ถือว่าได้ประโยชน์ที่คุ้มค่า เพราะจะเป็นรัฐธรรมนูญของคนไทยครั้งแรกที่มีฐานมาจากความชอบธรรมเป็นอย่างมากและจะเป็นรัฐธรรมนูญที่มั่นคง  หากจะมีการปฏิวัติขึ้นอีกในอนาคตถือว่าอันตรายมาก เพราะจะไม่ใช่แค่การล้มล้างรัฐบาล ล้มล้างรัฐสภา อย่างที่เคยเป็น แต่จะเป็นการล้มล้างอำนาจของประชาชนด้วย  ต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมาที่ถูกล้มล้างได้ง่ายเพราะไม่มีความมั่นคงเพียงพอ

ดังนั้นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ถือเป็นโอกาสดีที่ควรทำให้มั่นคงไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งได้ว่าดำเนินการมาอย่างไม่ถูกต้อง ยอมเสียเวลาทำตามที่ศาลวินิจฉัย เพราะถือว่าศาลวินิจฉัยไว้ลึกซึ้งมาก  และคิดว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่จะทำให้รัฐธรรมนูญมีความยั่งยืน

อดีตตุลาการฯ มองว่า อีกปัญหาสำคัญที่เป็นคำถามต่อมาคือ กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ผ่านวาระ 1-2 มาแล้ว จะถือว่าเป็นโมฆะหรือไม่ ส่วนตัวเห็นว่า วาระ 1-2 เป็นกระบวนการภายในของรัฐสภา การแก้ไขยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่เมื่อใดที่ปล่อยให้ผ่านวาระ3 ไปได้จะถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นควรต้องรอการลงมติวาระ3 ไว้ก่อนและใช้เวลาระหว่างนี้รีบทำประชามติตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพราะเรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้เข้ามาแทรกแซงเองแต่เป็นเพราะรัฐสภาส่งเรื่องขอให้ศาลวินิจฉัยให้และศาลก็ไม่ได้บอกว่าที่ทำมาแล้วใช้ไม่ได้

ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องไปตีความอะไรแล้ว เพราะมีหลักการอยู่แล้วว่า กระบวนการอะไรก็ตามที่ยังทำไม่เสร็จมันคือกระบวนการภายในขององค์กรนั้นเพราะฉะนั้น วาระที่ 1-2 ยังไม่ถือว่าเสียไป แต่ขอว่าอย่าไปโหวตวาระ 3ถ้าโหวตวาระ 3 เมื่อไหร่ขัดรัฐธรรมนูญทันที

และหากฝ่ายการเมืองเห็นตรงกันว่าสองวาระแรกเป็นเรื่องภายในของรัฐสภายังไม่ได้เป็นการแก้ไข ก็ต้องรีบจัดทำประชามติและเสนอกฎหมายประชามติโดยเร็ว ถ้าประชาชนมีมติว่าให้ทำได้ รัฐสภาก็เดินหน้าโหวตวาระ3ไปต่อได้


และไม่ทำให้ไม่เสียเวลามาก  อย่าลืมว่ากว่าจะผ่านวาระ 1-2 มาได้เราใช้เวลาเกือบ 2ปี ยอมเสียเวลาไปอีกเล็กน้อยอย่าไปคิดแค่ว่าฝ่ายใดจะได้ประโยชน์ หรืออยู่ในอำนาจนานไป หรือฝ่ายใดจะเสียโอกาสเพราะวิธีการหักด้ามพร้าด้วยเข่า จะเอามาใช้กับระบอบการปกครองไม่ได้ เพราะจะทำให้ฝ่ายที่แพ้เขาไม่ยอม แล้วต่อไป และจะกลับมาหักด้ามพร้าด้วยเข่าคืน จนวนเวียนอยู่ในทางการเมืองแบบนี้  และอย่าคิดแค่ว่าทำไมการร่างรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติถึง 2ครั้งทำไมทำครั้งเดียวไม่ได้เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะลงหลักปักฐานให้แก่ระบบการปกครองที่จะเป็นประโยชน์ให้มั่นคงต้องทำให้ละเอียด

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ส่วนตัววิเคราะห์จากฐานคิดในประกาศของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ แต่ยังต้องพิจารณาจากคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมาด้วยว่ามีรายละเอียดอย่างไร

ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

ทีมข่าวการเมือง

คุณอาจสนใจ

Related News