'ปริญญา' ค้านแก้ปัญหาคนล้นคุก ด้วยการสร้างคุกเพิ่ม – สมศักดิ์ ปัดเสนอแยกเรือนจำนักโทษการเมือง

เลือกตั้งและการเมือง

'ปริญญา' ค้านแก้ปัญหาคนล้นคุก ด้วยการสร้างคุกเพิ่ม – สมศักดิ์ ปัดเสนอแยกเรือนจำนักโทษการเมือง

โดย thichaphat_d

10 มี.ค. 2564

137 views

วานนี้ (9 มี.ค.) ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์แสดงความเห็นทางวิชาการ กรณีแนวร่วมราษฎรไม่ได้รับการประกันตัวในคดีจัดการชุมนุมว่า


การได้รับการประกันตัวในคดีอาญาหรือที่กฎหมายใช้คำว่า “ปล่อยชั่วคราว” นั้นเป็นสิทธิตามกฎหมายของผู้ต้องหาและจำเลยทุกคน ดังที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบัญญัติไว้ในมาตรา 107 ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว


แม้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ศาลจะมีดุลพินิจสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราวได้ แต่สิ่งที่บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมอาจจะลืมไปคือ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์นั้น หากศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหา หรือจำเลยจะถูกเอาไปขังไว้ในเรือนจำกับนักโทษที่ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และจะถูกปฏิบัติเหมือนกับนักโทษแทบจะทุกประการ


และนี่คือปัญหาใหญ่มาก เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง บัญญัติว่า ก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดกระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้น เสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ การเอาบุคคลซึ่งยังเป็นแค่ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปขังไว้ในเรือนจำรวมกับนักโทษ ก็คือการปฏิบัติกับเขาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ซึ่งย่อมไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง


ดังนั้น หากศาลท่านจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ก็ต้องสั่งให้ไปกักขังในที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ และให้ปฏิบัติต่อเขาแบบคนที่ยังไม่ถูกศาลพิพากษาด้วยครับ หรือไม่งั้นก็ต้อง อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้เขาสู้คดีนอกคุก อย่างหนึ่งอย่างใด หาไม่แล้วจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 วรรคสอง ที่คุ้มครองประชาชนทุกคนไม่ให้ถูกปฏิบัติเยี่ยงนักโทษก่อนศาลพิพากษา ด้วยความเคารพครับ


สนับสนุนแถลงการณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ขอให้คำนึงถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของผู้ถูกจับกุม


ในเวลาต่อมา ผศ.ดร.ปริญญา ได้ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวช่อง 3 แสดงความไม่เห็นด้วยกับแนวคิดสร้างเรือนจำเพิ่มสำหรับนักโทษคดีการเมืองเพื่อลดความแออัด โดยระบุว่าทางที่ดีควรลดจำนวนคนที่จะเข้าไปอยู่ในคุก ที่สำคัญต้องไม่นำจำเลยหรือผู้ต้องหาที่คดียังถึงที่สุดเข้าไปอยู่ในเรือนจำเช่นเดียวกับผู้ที่คดีสิ้นสุดแล้ว


เพราะขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ที่ระบุว่าในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด จะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ หากสามารถนำผู้ต้องหาหรือจำเลยส่วนนี้ออกมาจากในคุกได้จะลดผู้ต้องขังได้ถึงประมาณ 60,000 คนหรือประมาณ 20% ของผู้ต้องขังทั้งหมด


ทั้งนี้ ดร.ปริญญา เสนอให้มีสถานที่กักตัวสำหรับผู้ต้องหาและจำเลยที่คดียังไม่ถึงที่สุด โดยอาจจะเริ่มจากคดีการเมืองก่อนก็ได้


ด้านนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดการขยายเรือนจำสำหรับนักโทษการเมืองโดยเฉพาะ ว่า ไม่ใช่แนวคิดของตน ไม่มีการแยกประเภทของนักการเมือง ยังไม่มีใครให้นโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องเลย ทั้งนี้ ตอนนี้นักโทษเยอะ ต้องแยกไปอยู่หลายที่ แต่ญาติผู้ต้องขังหลายคนก็อยากให้อยู่ใกล้บ้าน โดยก็ต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์เป็นคนบริหารจัดการ ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ


เมื่อถามว่าเคยมีกระทู้ถามในสภาฯเรื่องของเรือนจำเอกชนนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนก็ได้บอกให้ไปศึกษาเรื่องดังกล่าวก่อน สมัยนี้ทำอะไรต้องรับฟังความคิดเห็นหลายรอบ หลายครั้ง บางครั้ง 3 ครั้งก็ยังไม่พอตามกรอบรัฐธรรมนูญ ตนยังบอกให้ไปทำอีก 2 ครั้งจะได้ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์



รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/hyTYiYDaM_Y

คุณอาจสนใจ

Related News