เตรียมพร้อมเปิดบ้าน “ดอน” ชวนเที่ยวอยุธยาเรียนรู้รากเหง้าทางการทูต

เลือกตั้งและการเมือง

เตรียมพร้อมเปิดบ้าน “ดอน” ชวนเที่ยวอยุธยาเรียนรู้รากเหง้าทางการทูต

โดย JitrarutP

5 มี.ค. 2564

151 views

เมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ทางการทูตหลายท่านคงนึกถึงฉากหนึ่งในละครบุพเพสันนิวาส ของทางช่อง3 ที่พาคนไทยย้อนกลับไปในเหตุการณ์ปี พ.ศ.2228 เมื่อครั้ง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จออกรับการถวายพระราชสาส์นจากคณะราชทูตฝรั่งเศสที่มาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยาม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา



ไม่เพียงแต่ชาติฝรั่งเศสเท่านั้นความสัมพันธ์ระหว่างกรุงศรีอยุธยากับนานาชาติได้เกิดขึ้นมาอย่างหลากหลายและต่อเนื่องผ่านการค้าขายและเหตุผลต่างๆ ทั้งในมิติความสัมพันธ์ทางศาสนา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ตลอดจนการเมืองการปกครอง ในฐานะที่อยุธยาเป็นราชธานีสำคัญที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมากของภูมิภาคในยุคนั้นทำให้อยุธยาได้ชื่อว่าเป็น”สังคมพหุวัฒนธรรม” อันเป็นรากเหง้าส่งผลมาจากถึงมาจนถึงทุกวันนี้



(หมู่บ้านโปรตุเกส)

ร่องรอยประวัติศาสตร์ ที่ยังคงหลงเหลือผ่านบันทึก ภาพเขียน และโบราณวัตถุ โบราณสถาน ในปัจจุบันยังคงสะท้อนถึงความมั่งคั่งของกรุงศรีอยุธยาได้เป็นอย่างดี 

โดยเฉพาะ ที่ตั้งหมู่บ้านนานาชาติ ทั้งหมู่บ้านญี่ปุ่น บ้านโปรตุเกส บ้านฮอลันดา ที่สะท้อนถึงยุทธศาสตร์ทางการปกครองและยังมีผลมาถึงยุครัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะการแบ่งโซนนิ่ง กำหนดพื้นที่ให้ชาติต่างๆ ที่ล่องเรือเข้ามาทำการค้าขายมีพื้นที่อาศัยเฉพาะบริเวณทางทิศใต้ของเกาะอยุธยาเท่านั้น เพื่อให้เรือชาติต่างๆ ต้องผ่านการจัดเก็บภาษี และเป็นยุทธศาสตร์ความมั่นคง ที่ไม่ให้เข้าถึงเกาะเมืองอยุธยาอันเป็นใจกลางสำคัญได้ง่าย ทำให้เกิดเป็นหมู่บ้านชาติต่างๆ ขึ้นในพื้นที่ใกล้เคียงกัน


ในยุคปัจจุบันกรุงเทพมหานครไม่เพียงแต่ถอดแบบชื่อสถานที่วัดวาอารามมาจากกรุงศรีอยุธยาเท่านั้น การจัดโซนนิ่งยังเกิดขึ้น ในสมัยรัชกาลที่4 เห็นได้จากสถานทูตของประเทศต่างๆถูกกำหนดให้อยู่เรียงรายริมแม่น้ำเจ้าพระยา หรือย่านสาทรโซนทิศใต้ของกรุงเทพ รวมถึงพื้นที่ชาวจีน ชาวแขกย่านเยาวราช เพื่อไม่ให้เข้าถึงเขตพระนครได้ง่าย อันเป็นใจกลางของราชธานี


การลงพื้นที่ของกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ นำคณะสื่อมวลชนตามรอยประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้น ณ หมู่บ้านญี่ปุ่น บ้านโปรตุเกส บ้านฮอลันดา และวัดนักบุญยอเซฟ ที่นอกจากจะทำให้เห็นมุมมองการท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์กับต่างประเทศแล้ว ยังเป็นการเชิญชวนให้คนไทยได้หันมาให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวภายในประเทศ และเตรียมพร้อมเป็นเจ้าบ้านในการประชุมเอเปกในปี2565 ด้วย


รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การท่องเที่ยวอยุธยาทำให้เราได้รับรู้รากเหง้าการต่างประเทศของไทยมากขึ้นรวมถึงบทบาทของกรุงศรีอยุธยาในด้านต่างๆซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก

ความจริงแล้วไม่เพียงแต่ประเทศฝรั่ง แต่อยุธยายังมีความสัมพันธ์กับชาติอื่นๆอย่างหลากหลาย ทั้ง ญี่ปุ่น ชาวเปอร์เซีย แขก พม่า หรือแม้กระทั้งชาวมะละกา ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเรื่องราวเชื่อมโยงกัน โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการติดต่อค้าขาย  หรือที่เรียกว่า “Hub” เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างตะวันตก และตะวันออก และยังคงส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ที่จะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ไม่ผิด และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังเป็นศูนย์กลางของเอเชีย  ประกอบกับไทยยังเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย  ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ที่มีความหมาย

อย่างไรก็ตามโบราณสถานเหล่านี้อยู่กับที่มาเป็นเวลานานจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมเพื่อให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง และกิจกรรมต่างๆ ยังน้อยไป จำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันทำ ให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวาง ไม่ใช่แค่เฉพาะคนในต่างประเทศ แต่คนไทยด้วยกันเองและคนในภูมิภาคของอาเซียน  และนอกจากความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวทางด้านศาสนา และยังมีอาหารการกินที่ค่อนข้างหลากหลาย

สำหรับโลกหลังโควิด-19 รองนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ภูมิภาคนี้จะได้รับความสนใจมากขึ้น และไทยเป็นจุดหมายปลายทางของประเทศต่างๆในภูมิภาค  เพราะไทยเปรียบเสมือนหนึ่งในแม่เหล็กของอาเซียนด้วย จากประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโควิด-19 และในหลายเรื่องที่เราสามารถดำเนินการด้วยตัวของเราเอง ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง หรือที่เรียกว่า soft power หรือ อำนาจละมูล  ที่ไม่ใช่ว่าใครอยากมีอำนาจอะไร แล้วประกาศตัวเองเช่นนั้นได้ เพราะมันเกิดขึ้นจากความเพียบพร้อมในหลายปัจจัย 

และขณะนี้อาเซียนได้มอบหมายให้ไทยโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green economy (BCG) ในการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศและภูมิภาค เพื่อผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์ของอาเซียน ในโลกยุคหลังโควิด และสามารถเชื่อมโยงให้เกิดกระบวนทัศน์ใหม่ในหลายเรื่องโดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมในภูมิภาค สร้างความสมดุลทางธรรมชาติ และคาดว่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการประชุมเอเปก ที่ถ่ายจะเป็นเจ้าภาพในปี 2565 ด้วย และเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ


สำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ในรูปแบบ Balance of power ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น ถือเป็น DNA ของคนไทย ในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ที่ในภาพปกติ เราเป็นมิตรกับคนทั้งโลกได้ อย่างไม่มีข้อกังขา แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ไทยได้รับผลกระทบจากฝ่ายใดเราก็จะยังมีมิตรอีกกลุ่มหนึ่งที่จะช่วยดูแล ซึ่งเป็นเช่นนี้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน ในทางกลับกันไทยยังมีบทบาท ในการเข้าไปสมานความขัดแย้งที่เกิดขึ้นของฝ่ายอื่นๆด้วย ให้ความขัดแย้งเหล่านั้นลดน้อยลง เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย  โดยเฉพาะโลกหลังโควิดทุกประเทศต้องฟื้นฟูบ้านเมืองเพราะเสียหายกันมาเยอะ แต่หากหลังโควิดแล้วยังคิดจะต่อสู้กัน มันก็เท่ากับว่าซ้ำเติมตัวเองด้วยซ้ำไป ดังนั้นแต่ละประเทศควรใช้เวลาไปฟื้นฟูประเทศตัวเองแทนที่จะมาขัดแย้งกัน


ธีรวัฒน์ ซ้วนตั้น

ทีมข่าวการเมือง รายงาน


ชมผ่านยูทูบที่ :https://www.youtube.com/watch?v=SiOT4qx67nQ

คุณอาจสนใจ

Related News