เทคโนโลยี

ตัวแทนแต่ละประเทศโชว์นวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม หวังนำช่วยลดโลกร้อน ผ่าน COP29

โดย panwilai_c

21 พ.ย. 2567

24 views

การประชุมโลกร้อน Cop29 เข้าสู่ช่วงสำคัญ ที่ตัวแทนผู้เจรจา จะตัดสินใจในร่างเอกสารข้อตัดสินใจ คุณกิตติ สิงหาปัด ยังอยู่ที่ Cop29 พร้อมมีตัวอย่างการจัดการและเทคโนโลยี ลดโลกร้อน



ที่ Japan pavilion หรือ ศาลาญี่ปุ่น ได้นำตัวอย่างนวัตกรรมและเทคโนโลยีจากภาครัฐ และเอกชนมาจัดแสดง มากกว่า 10 ผลงาน ส่วนใหญ่ก็เป็นนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้ได้มากที่สุดตั้งแต่ต้นจนถึงปลายทางของกระบวนการผลิต



อย่างเช่น การจัดการขยะแบบครบวงจร นำขยะมาเข้าสู่โรงเผาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า แทนการฝังกลบที่ทำให้เกิดก๊าซมีเทนที่เป็นก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 28 เท่า ส่วนขยะที่ต้องฝังกลบก็นำมาสกัดก๊าซมีเทนก่อนนำไปเป็นพลังงานหมุนเวียนต่อภายในเมือง ซึ่งระบบนี้เองก็มีการนำน้ำทะเลมาสกัดเป็นน้ำบริสุทธิ์ด้วยกระแสไฟฟ้าและมาใช้ในกระบวนการจัดการขยะร่วมด้วย



ขณะที่พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนก็เป็นอีกทางเลือกที่ตอนนี้เกิดขึ้นจริงแล้วในญี่ปุ่น และกำลังสร้างโมเดลอีกแห่งในประเทศอังกฤษ โดยนำมากักเก็บในรูปแบบแบตเตอรี่ไฮโดรเจน



ตอนนี้ญี่ปุ่นเองให้ความสำคัญกับการติดตามสถานการณ์น้ำมากๆ โดยใช้ทั้งเทคโนโลยีสารสนเทศจากดาวเทียม และ การติดตามน้ำจากสถานีตรวจวัดภาคพื้นคุณภาพสูง ซึ่งกระจายทั่วประเทศ



เห็นได้จากแนวเส้นสีน้ำเงินที่กระจุกตัวคือแนวทางน้ำนะครับ ส่วนสีแดงคือน้ำใต้ดิน ทำให้สามารถรับมือและเตือนภัยกับสถานการณ์อุทกภัยที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า นอกจากญี่ปุ่นแล้วก็มีอีกหลายพาวิลเลียนที่น่าจับตา อย่างบราซิลพาวิลเลียน



ที่ปีหน้าจะเป็นเจ้าภาพจากการประชุม COP30 ในครั้งต่อไป และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งแรกมาก่อน ก็นำเสนอความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ รวมถึงการนำเสนอแผนการจัดการสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมาย Netzero ในปี 2025



ส่วนฝั่งกรีนโซนที่เป็นการจัดแสดงนวัตกรรมของภาคเอกชนจากทั่วโลกปีนี้มีความคืบหน้าการวิจัยพลังงานฟิวชั่น



ด้วยความร่วมมือของ 7 ประเทศ รวมสหภาพยุโรป ในการสร้างเตาปฏิกรณ์โทคาแมค หรือ เครื่องกำเนิดพลังงานฟิวชั่นขนาดใหญ่สูงเทียบเท่ากับตึก 5 ชั้น และลึกลงไปใต้ดินกว่า 30 เมตร โดยใช้ก๊าซไฮโดรเจนเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งคาดว่าอีก 10 ปี ก็พร้อมเดินเครื่องทดสอบ ตั้งเป้าสร้างปฏิกิริยาฟิวชันให้ได้นานมากกว่า 10 นาที เพราะจากเดิมในปัจจุบันมีหลายประเทศ กำลังทดลองสร้างปฏิกิริยาฟิวชันกันอยู่แต่ก็ได้ในหลักวินาที หรือ เสี้ยววินาทีเท่านั้น



นี่ก็เป็นความคืบหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่น่าสนใจจาก COP 29 ครั้งนี้ ซึ่งทุกๆ ปี ก็จะมีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดใหม่ๆ มาอัพเดทกันอย่างต่อเนื่อง

คุณอาจสนใจ

Related News