ต่างประเทศ

ปิดฉาก COP29 ถกเงินหนุนประเทศยากจนยังไม่นิ่ง เสนอปีละ 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2035

โดย chawalwit_m

22 พ.ย. 2567

19 views

คณะผู้แทนเจรจาเกือบ 200 ประเทศของการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 หรือ COP29 ที่กรุงบากูของอาเซอร์ไบจาน เร่งเจรจาเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับข้อตกลงในการจัดสรรเงินทุนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศใหม่ ก่อนที่การประชุมจะปิดฉากลงอย่างเป็นทางการในวันนี้


ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่นที่ช้ากว่าไทย3ชั่วโมงที่ประชุม COP29 ได้เผยแพร่ร่างข้อตกลง ด้านสภาพอากาศฉบับแก้ไขใหม่ออกมาแล้ว โดยตัดเนื้อหาออกไปหลายส่วน จากร่างแรก โดยประเด็นเงินทุนเพื่อสภาพอากาศก้อนใหม่ มีการเสนอให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว มอบเงินทุนช่วยเหลือประเทศที่ยากจนปีละ 2 แสน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2035 หรือ พ.ศ. 2578 จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ถือว่าเพิ่มขึ้นจากคำมั่นสัญญาเดิม ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่กำหนดไว้ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี


ด้านอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของไทย และรองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ที่อยู่ห้องเจรจาในการประชุม cop29 ระบุว่านอกจากเรื่องเงินแล้วยังมีหลายประเด็นที่ขาดหายไป


ก่อนหน้านี้ ตลอดทั้งวัน อาเซอร์ไบจาน เจ้าภาพการประชุม COP29 เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการประชุมลดความขัดแย้งและเร่งเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับเงินทุนด้านสภาพอากาศใหม่ให้ได้ภายในวันนี้ โดย นายมุกห์ตาร์ บาบาเยฟ (Mukhtar Babayev) ประธานการประชุม COP29 ได้กล่าวในบันทึกถึงผู้แทนที่เข้าร่วมการประชุมว่า พวกเขาขอสนับสุนนให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน เพื่อให้การประชุม COP29 ที่กรุงบากูบรรลุเป้าหมาย


อย่างไรก็ดี รายงานระบุว่าร่างข้อตกลงใหม่ จะถูกประกาศออกมาในช่วงบ่ายวันนี้ (ตามเวลาท้องถิ่น) โดยมีความหวังคณะผู้แทนเจรจาจากประเทศต่าง ๆ จะสามารถบรรลุข้อตกลงกันได้ หลังจากเมื่อวานนี้ ประธานการประชุมได้เผยร่างผลการประชุมออกมา ซึ่งมีการเสนอตัวเลือกที่แตกต่างกัน 2 ทางแต่ยังไม่มีใครพึงพอใจ


ข้อสรุปที่ออกมาเบื้องต้นทำให้หลายฝ่ายไม่พอใจ เช่นนายฮาร์จีต ซิงห์ (Harjeet Singh) ผู้อำนวยการฝ่ายการมีส่วนร่วมระดับโลก ขององค์กรรณรงค์ไม่แพร่ขยาย การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลบอกว่า การไม่มีข้อตกลงเลยยังดีกว่าการได้ข้อตกลงที่ไม่ดี และว่าอุปสรรคของการบรรลุข้อตกลง


ในการประชุมครั้งนี้คือ บรรดาประเทศที่ร่ำรวยไม่เต็มใจที่จะบอกว่า พวกเขาจะจ่ายเงินเท่าใด เพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นางซิงห์ยังตำหนิว่าการเจรจาครั้งนี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ติดขัดไปหมด และเป็นการเจรจาที่ไม่มีใครเอาจริงเอาจังโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว


ขณะเดียวกัน บรรดากลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศก็ยังคงจัดกิจกรรมประท้วงอย่างต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเยาวชนที่จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ทั่วโลกเคารพสิทธิมนุษยชน ผู้ชุมนุมพากันถือป้ายและใช้เทปสีดำปิดปาก เพื่อให้สอดคล้องกับสโลแกนของการประท้วง คือ "สิทธิมนุษยชนกำลงจะตายภายใต้ความเงียบงัน"


จอร์จินา เคอรูโบ (Georgina Kerubo) วัย 21 ปี จากองค์กรโกลบอล ยัง กรีน (Global Young Green) กล่าวว่าในฐานะของนักเคลื่อนไหว เธอมีหน้าที่ต้องให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้พวกเขาตระหนักว่า เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว พวกเขาจำเป็นต้องพูดมันออกมา

คุณอาจสนใจ

Related News