สังคม

เปิดบทสรุปและแนวทางหลังประชุม COP29 มุ่งยกระดับลดก๊าซเรือนกระจก-ระดมทุนฟื้นฟูประเทศได้รับผลกระทบ

โดย panwilai_c

4 ธ.ค. 2567

108 views

ทุกๆ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย โดยปีนี้ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้ใช้เวทีนี้เปิดผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 29 ที่จบลงไปเมื่อเดือนที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อสรุปในหลายประเด็น โดยเฉพาะเป้าหมายใหม่ทางการเงิน ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องจัดสรรเงินเพื่อช่วยเหลือประเทศที่กำลังพัฒนาเยียวยาและฟื้นฟูตัวเองจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในกรอบวงเงิน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ



กระทรวงรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมไทยและวันอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านแห่งชาติ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "Impact – Driven Policy: Empowering Action for Change รวมพลังลดโลกเดือด: เปลี่ยนเรา เปลี่ยนโลก" นำเสนอผลการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP 29 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน



ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้สรุปภาพรวมการประชุม COP 29 โดย ที่ประชุมได้ผลลัพธ์ในหลายประเด็น ประกอบด้วย การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ BAKU Finance Goal หรือ NCQG จากข้อตกลงปารีส ปี 2015 ให้ประเทศผู้พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการระดมเงิน ผ่านช่องทางที่หลากหลายและไม่ซับซ้อน ประเด็นความคืบหน้าของกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย หรือ LOSS and DAMAGE ในการแต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารกองทุนคนแรก และ จะเริ่มขัยเคลื่อนอย่างเป็นทางการในปี 2025 ประเด็นการยกระดับการลดก๊าซเรือนกระจก ลดการปลดปล่อยให้ได้ร้อยละ 43 ภายในปี 2030 และ ร้อยละ 60 ภายในปี 2035 รวมทั้งส่งเสริมประเทศกำลังพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายยกระดับ NDC 3.0 ประเด็นเป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก หรือ GGA ในการพัฒนาตัวชี้วัดด้านการปรับตัวตามกรอบแผนงานจาก COPครั้งที่ผ่านมา ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ลดปัญหาการฟอกเขียวในภาคอุตสาหกรรม และประเด็นกลไกคาร์บอนเครดิต ระหว่างประเทศในความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส หรือ article 6



ดร.พิรุณ ระบุว่า ตอนนี้ประเทศไทยได้จัดทำแนวทางปฏิบัติและแผนงานต่อเนื่อง ให้สอดคล้องกับแนวทางที่ปรับเปลี่ยนจากการประชุม COP ประกอบด้วย การจัดทำข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ / การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวและบูรณาการเข้าสู่พื้นที่ พร้อมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก พ.ศ.2564-2573 / เป้าหมาย NDC 2031-2035 พัฒนาศักยภาพการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างประเทศ / จัดทำแผนลงทุนรองรับการดำเนินงาน NDC 3.0 / รวมทั้ง เร่งผลักดัน พรบ. การเปลีย่นแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศเพื่อการประกาศใช้ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาที่ต้องรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน Loss and damage ซึ่งต้องแข่งขันในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากกองทุนร่วมกับอีกหลาย 100 ประเทศ



ขณะที่เวทีเสวนา "สาระสำคัญจาก COP29 สู่การดำเนินงานของประเทศไทย" ก็ได้สรุปแผนการดำเนินงานและแนวทางปฏิบัติ ได้แก่ กรอบความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส (Transparency Framework) การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) และเป้าหมายการปรับตัวต่อผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมพลังการดำเนินงาน ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Action for Climate Empowerment) และการเสริมศักยภาพ (Capacity Building) รวมถึง ความร่วมมือภายใต้กลไกข้อ 6 ของความตกลงปารีส (Article6) ซึ่งเป้าหมายของประเทศไทยจากนี้ คือ การดำเนินการตามแผนลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ในปี ค.ศ. 2050 และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ในปี ค.ศ. 2065 โดยมีภาคเอกชน และภาคประชาชน เครือข่าย ทสม. เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับพื้นที่ และมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งและชัดเจน ให้สามารถขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างได้อย่างเป็นรูปธรรม

คุณอาจสนใจ

Related News