เทคโนโลยี

พาดูการจัดการ 'ภัยแล้ง-น้ำท่วม' ด้วยเทคโนโลยี ผ่านข้อมูลดาวเทียมจากจิสด้า

โดย panwilai_c

21 ก.ย. 2567

75 views

ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัย แต่หลายพื้นที่ในภาคกลางก็ต้องพบกับปัญหาน้ำแล้ง จากอิทธิพลของลานีญา ในลักษณะน้ำท่วมกระจุก ความแห้งแล้งกระจาย



โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ได้เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมพบพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง กระจายตัวเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคกลางตอนบน โดยเฉพาะที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งทีมข่าวได้สำรวจพื้นที่ พบว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวนาหลายรายต้องทิ้งแปลงข้าวบางส่วนให้ยืนต้นตาย หลังฝนทิ้งช่วงมานานกว่า 2 เดือน



ชาวนาบ้านบ่อทอง ตำบลนาขอม อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ กลุ่มนี้ พาข่าว 3 มิติ ไปดูกับข้าวนาปี ที่ปลูกได้เพียงครั้งเดียวของพวกเขา ซึ่งได้แห้งตายไปเกือบหมดแล้ว ส่วนที่เห็นสีเขียวอยู่นี้ คือ วัชพืชที่ขึ้นมาแทนที่หลังได้น้ำฝนอีกครั้งในรอบกว่า 2 เดือน แต่นั่นก็ไม่เพียงพอให้ข้าวซึ่งเป็นผลผลิตหลักฟื้นกลับมาได้



โดยเจ้าของที่นาแปลงนี้ เล่าว่า เขาจำเป็นต้องปล่อยข้าวแปลงนี้ทิ้ง ขณะที่ผลผลิตในแปลงอื่นๆ รวม 46 ไร่ ก็คาดว่าจะได้ไม่ถึงไร่ละ 20 ถัง หรือ ประมาณ 300 กิโลกรัมเท่านั้น จากปกติที่ต้องได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 750 กิโลกรัม ซึ่งหักลบแล้วขาดทุน



ปัจจัยสำคัญทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนี้ เป็นแหล่งเพาะปลูกที่ไม่มีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ทำให้ต้องอาศัยบ่อพักเพื่อกักเก็บน้ำฝน ประกอบกับพื้นที่ที่สูงกว่าที่ราบทั่วไป เมื่อฝนทิ้งช่วงนานจึงทำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้รับผลกระทบ



ข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศชุดนี้ แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของภัยแล้ง ที่กระจายตัวอยู่บริเวณภาคกลางตอนบน โดยคาดการณ์ว่าเป็นอิทธิพลของปรากฏการณ์ลานีญา ซึ่งชี้ชัดว่าตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม เป็นต้น มาภัยแล้งเริ่มรุนแรงขึ้น โดยมีค่าดัชนีเสียงภัยแล้งร้อยละ 61 ถือเป็นความเสี่ยงปานกลาง



โดย นักภูมิสารสนเทศชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า ได้นำอุปกรณ์ตรวจวัดความสมบูรณ์ของพืชพรรณมาใช้ตรวจสอบความสมบูรณ์ของพื้นที่ ก็พบว่าพื้นที่ที่เห็นแมจะเห็นความเขียวขึ้นปกคลุม แต่จริงๆแล้วภายใต้ผิวดินนั้นความชุ่มชื้นยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่เหมาะแก่การเพาะปลูก



เบื้องต้นสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ได้นำข้อมูลจากดาวเทียมชุดนี้มาใช้อ้างอิงย้อนหลัง เพื่อเปรียบเทียบความเหมาะสมในการเพาะปลูก ก่อนให้คำแนะนำเกษตรกร และ บริหารความเสี่ยงการจัดการพื้นที่ต่อไปได้



ปัจจุบันเกษตรกรและหน่วยงานท้องถิ่นสามารถตรวจสอบข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ ได้ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ได้ เช่น แอปพลิเคชั่นเช็คแล้ง และ ดรากอนฟลาย ซึ่งจะเป็นการบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างจิสด้า กรมส่งเสริมการเกษตร กรมชลประทาน และกรมอุตุนิยมวิทยา

คุณอาจสนใจ

Related News