เทคโนโลยี

ศวอ.ทอ.ร่วม GISTDA ส่งดาวเทียม TU-1 ทดสอบ หากสำเร็จพร้อมสำรวจทรัพยากรได้ทันที

โดย chiwatthanai_t

12 เม.ย. 2566

141 views

2 ปีที่ผ่านมาความพร้อมด้านกิจการอวกาศไทย เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากที่ไทยได้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศแห่งแรก ในพื้นที่ของจิสด้า ศรีราชา มารองรับการเป็นศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียม โดยล่าสุด ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ ได้ร่วมกับจิสด้าทดสอบ ดาวเทียม ทียู-1 สร้างโดยใช้วัสดุเชิงพาณิชย์เพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งหากการทดสอบประสบความสำเร็จ ก็จะสามารถนำมาใช้สนับสนุนด้านการช่วยเหลือและสำรวจทรัพยากรได้ในทันที


ดาวเทียมดวงนี้เป็นแบบจำลองทางวิศวกรรมของดาวเทียม Thai Universe-1 หรือ TU-1 พัฒนาขึ้นโดย ทีมกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ เพื่อนำมาใช้เป็นดาวทีมสำรวจทรัพยากรและบรรเทาสาธารณภัยขนาดก็เล็กเพียงแค่ 1 ฝ่ามือเท่านั้น แต่สามารถปฏิบัติภารกิจต่างๆ ได้ตามอุปกรณ์ที่ติดตั้งไว้


นาวาอากาศเอก รณชิต วิจิตร ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ หรือ ศวอ.ทอ. ระบุว่า สิ่งสำคัญของดาวเทียม TU-1 คือ การทดลองใช้วัสดุอุปกรณ์ที่อยู่ในระดับcommercial grade ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า ระดับ space grade ถึงกว่า 30 เท่า มาใช้ทดสอบระบบ โดยหากสำเร็จจริงนี่ก็จะเป็นก้าวแรกของการสร้างดาวเทียมที่มีประโยชน์เพื่อการใช้ได้เองภายในประเทศเป็นครั้งแรก แบบชนิดที่ว่าเป็นการพึ่งพาตัวเอง


ตอนนี้ TU-1 ถูกส่งไปยังจิสด้าเพื่อเข้ารับการทดสอบระบบรองรับการสั่นสะเทือน และอุณหภูมิ จำลองขั้นตอนการส่งและปฏิบัติหน้าที่ในอวกาศ ซึ่งหากสำเร็จทาง ศวอ. ก็จะต่อยอดไปสู่ดาวเทียมดวงที่ 2 คือ TU-2 ขนาด 6 ยูนิต หรือ ประมาณ 60 เซนติเมตร ในระดับ Flight Model ที่มีคุณสมบัติสำรวจโลกในระยะไกล โดยจะเพิ่มศักยภาพของซอร์ฟแวร์ กับ ระบบปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้วิเคราะห์ภาพถ่ายให้หลากหลายมากขึ้น


จิสด้า ระบุว่า กองทัพอากาศถือเป็นหน่วยงานราชการไทยแห่งแรกที่เข้ามาใช้บริการ ที่ศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ โดยจากความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานอวกาศของไทยในตอนนี้ GISTDA และหน่วยงานพันธมิตร ก็ได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้และการออกแบบ เบื้องต้นสำหรับดาวเทียมสำรวจโลกระยะที่ 3 หรือ THEOS-3 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มุ่งเน้นสร้างความต่อเนื่องของระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศไทย ทั้งศักยภาพของบุคลากร ความต่อเนื่องขององค์ความรู้ และการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมอวกาศไทย


สำหรับความพร้อมของ ศวอ. ตอนนี้ทีมวิจัยได้มีสถานีรับสัญญาณและระบบควบคุมการทำงานของดาวเทียมไว้เรียบร้อยแล้ว จากนี้คือการรอผลจากการทดสอบระบบของ TU-1 เพื่อต่อยอดไปสู่ TU-2 ซึ่งก็คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนเมษายน หากสำเร็จจริงดาวเทียมก็จะพร้อมส่งขึ้นสู่วงโคจรทันทีภายใน 2-3 ปีนี้

แท็กที่เกี่ยวข้อง  GISTDA ,ศวอ.ทอ. ,ดาวเทียม TU-1

คุณอาจสนใจ

Related News