เลือกตั้งและการเมือง
GISTDA เผยภาพน้ำท่วม 9 จังหวัดภาคเหนือ เชียงรายหนักสุด - บึงกาฬเฝ้าระวังน้ำโขง
โดย nattachat_c
27 ส.ค. 2567
66 views
จากเหตุอุทกภัยทางภาคเหนือ ทำให้หลายจังหวัดได้รับความเสียหาย ทั้งในส่วนของบ้านเรือน พื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงมีผู้ได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต
วานนี้ (26 ส.ค. 67) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง ด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม Radarsat-2 ของวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 06.07 น. พบน้ำท่วมขังในพื้นที่บางส่วนของ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่
- เชียงราย 201,700 ไร่
- สุโขทัย 96,348 ไร่
- พะเยา 89,811 ไร่
- พิจิตร 54,500 ไร่
- พิษณุโลก 25,195 ไร่
- นครสวรรค์ 2,195 ไร่
- แพร่ 1,302 ไร่
- เชียงใหม่ 106 ไร่
- ลำพูน 49 ไร่
- รวมพื้นที่ประมาณ 471,206 ไร่
โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 252,362 ไร่ (ข้อมูลพื้นที่ปลูกข้าวจากดาวเทียม ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2567) ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลัก และสายรอง รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน
ทั้งนี้ การประเมินพื้นที่น้ำท่วมขัง ได้จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยประมาณ และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบพื้นที่ภาคสนาม
-------------
ในวันเดียวกัน ที่ จ.นครพนม ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังเพิ่มระดับต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 10.20 เมตร ห่างจากจุดวิกฤตล้นตลิ่งแค่ 2 เมตร (จุดวิกฤต 12 เมตร) หากน้ำโขงถึงจุดล้นตลิ่ง น้ำจะทะลักเข้าตัวเมือง
นอกจากนี้ ลำน้ำสาขาสายหลัก ทั้งลำน้ำก่ำ ลำน้ำสงคราม ลำน้ำอูน และลำห้วยสาขาสายต่าง ๆ จะได้รับผลกระทบ เพราะน้ำไม่สามารถระบายลงน้ำโขงได้ ก็จะเอ่อท่วมพื้นที่ลุ่ม รวมถึงพื้นที่การเกษตร ขยายวงกว้างมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ในส่วนของพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว โดยทางจังหวัดนครพนมได้ประสานเทศบาลเมืองนครพนมและหน่วยงานเกี่ยวข้อง ระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เตรียมอพยพร้านค้าตลาดถนนคนเดินที่อยู่ชั้นใต้ดิน บริเวณลานพญาศรีสัตตนาคราช จุดท่องเที่ยวสำคัญที่อยู่ติดแม่น้ำโขง พร้อมแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง
นายนิวัต เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครพนม เปิดเผยว่า ทางเทศบาลเมืองนครพนม ได้เตรียมพร้อมดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาล ตลอด 24 ชั่วโมง
โดยเทศบาลเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสูบระบายน้ำจากตัวเมืองลงสู่น้ำโขง และต้องปิดจุดระบายน้ำลงน้ำโขงทุกจุด เพราะหากระดับน้ำโขงถึงจุดล้นตลิ่ง อาจจะไหลย้อนเข้าตัวเมือง จึงต้องวางแผนรับมือป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชน และย่านเศรษฐกิจการค้า มั่นใจสามารถบริหารจัดการป้องกันน้ำท่วมขังได้
-------------
ส่วนที่ จ.บึงกาฬ เวลา 07.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดบึงกาฬ วัดได้ 12.20 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 1.80 เมตร (ตลิ่ง 14.00 เมตร) ห่างจากจุดวิกฤต 13 เมตร เพียง 80 เซนติเมตร ถึงแม้ในจังหวัดเลย และหนองคาย ระดับน้ำโขงจะเริ่มลดลงแล้ว แต่ในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬน้ำยังคงเพิ่มขึ้นอีก ประกอบกับในพื้นที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และมีมวลน้ำเหนือจากลำน้ำสาขา และปริมาณน้ำสะสมจากภูเขาควาย ฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ไหลลงมาตามลำห้วย และแม่น้ำสายหลักของฝั่ง สปป.ลาว เช่น แม่น้ำงึม แม่น้ำเงียบ และแม่น้ำปากซัน ไหลลงมาบรรจบในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นอีก
และยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากทางภาคเหนือในหลายจังหวัดยังมีน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงรายที่กำลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง และในวันที่ 26-31 ส.ค. กรมอุตุประกาศจะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในภาคอีสาน
ระดับน้ำโขงที่เพิ่มสูงขึ้นได้ไหลกลับเข้าลำห้วยปาน ที่อยู่ในตำบลวิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ เริ่มเอ่อท่วมพื้นที่การเกษตรที่อยู่ในที่ลุ่ม และติดกับลำห้วยในพื้นที่บ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ
เช่นเดียวกับที่บริเวณถนน 'แลนด์มาร์ก' ของโครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ บริเวณริมถนนข้าวเม่า ตำบลวิศิษฐ์ อำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ ที่ออกแบบการก่อสร้างโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง บนพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ระดับน้ำที่สูงเอ่อล้นเขื่อนป้องกันตลิ่งที่พึ่งก่อสร้างเสร็จ (หรือถนนกลางแม่น้ำโขง) ตั้งแต่หน้าสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดบึงกาฬ ลงไปจนริมแม่น้ำโขงบ้านนาโนน ม.4 ต.บึงกาฬ ระยะทางยาวกว่า 3 กิโลเมตร ต้องจมน้ำเห็นพียงโครงเหล็กกั้นเท่านั้น จนท.เทศบาลเมืองบึงกาฬ ต้องน้ำแผงกั้นเหล็กมาตั้งแจ้งเตือนประชาชน งดใช้ถนนแลนด์มาร์คจนกว่าน้ำจะลดลง
-------------
รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/rdKDOcVe10Q
แท็กที่เกี่ยวข้อง GISTDA ,นครพนม ,บึงกาฬ ,สถานการณ์น้ำท่วมขังภาคเหนือ