กีฬา

จอดำ! กสทช.สั่งตัดสัญญาณ จานดาวเทียม C-Band หลังฟีฟ่าแจ้งเตือน 6 ครั้ง สัญญาณรั่วไปประเทศเพื่อนบ้าน

โดย thichaphat_d

2 ธ.ค. 2565

203 views

จานดาวเทียม C-Band ดูบอลโลกไม่ได้แล้ว หลังจากที่ เมื่อวานนี้ (1 ธ.ค.) มีรายงานว่า กสทช. ได้เรียกประชุมผู้แทนสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ของไทย เพื่อหารือเรื่องการเข้ารหัสสัญญาณ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 จากประเทศกาตาร์


เนื่องจากได้รับคำเตือนจากฟีฟ่า หรือสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง เรื่องการตรวจพบการลักลอบใช้สัญญาณถ่ายทอดสดแบบผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้านของไทย เนื่องจากมาตรฐานการเข้ารหัสสัญญาณดาวเทียมแบบเดิมที่ประเทศไทยใช้อยู่ คือในระบบ BISSKY โดย ฟีฟ่า ได้ส่งคำเตือนมาแล้วถึง 6 ครั้ง หากไทยไม่แก้ไข ก็อาจถูกระงับสัญญาณ ห้ามถ่ายทอดสดการแข่งขัน แม้ว่าจะมีการจ่ายเงินค่าลิขสิทธิ์ไปแล้วก็ตาม


กสทช. จึงมีมติให้ต้องมีการเข้ารหัสชั้นสูง (CAS) จากผู้ให้บริการโครงข่าย MUX และงดการส่งสัญญาณภาพในระบบดาวเทียม C-Band (จานดาวเทียมตะแกรงดำ) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ทำให้ผู้ชมในระบบดาวเทียม C-Band ไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ได้


สำหรับ ช่องทางการรับชมฟุตบอลโลก 2022 ที่ยังสามารถรับชมได้ตามปกติ มีดังนี้

- ระบบดิจิตอลทีวี

- ระบบดาวเทียมเฉพาะ KU-Band (จานเล็ก) DTV Samart

- โครงข่าย True Visions


ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเริ่มมีผลทันทีตั้งแต่เวลา 00.01 น. วันที่ 2 ธ.ค.65 และจะทำให้ไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลก 2022 ระบบดาวเทียม C-Band ได้ ในเกมรอบแบ่งกลุ่ม นัดสุดท้าย กลุ่มอี ทั้ง 2 คู่ในช่วงดึก เวลาตี 2  โดยจะขึ้นเป็นจอดำเฉพาะในช่วงที่มีการแข่งขันเท่านั้น จนถึงรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 18 ธ.ค.นี้


โดยที่ประชุมเสนอให้ กทท.ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ อย่างถูกต้องจาก FIFA ทำหนังสือแจ้งมา กสทช. ผู้ให้บริการกล่องดาวเทียม และบริษัทไทยคม เพื่อร่วมมือกันดำเนินการแจ้งข้อความประชาสัมพันธ์ให้ผู้ชมผ่านทางกล่องรับดาวเทียมได้รับทราบเหตุผลและช่องทางที่สามารถรับชมได้ รวมทั้งเป็นการป้องกันไม่ให้มีการรับชมการถ่ายทอดสดรายการนี้ภายนอกขอบเขตของประเทศไทยได้


โดยให้ขึ้นข้อความที่หน้าจอของการรับชมผ่านดาวเทียม ขณะในห้วงเวลาที่ถ่ายทอดสดรายการนี้ เพื่อแจ้งเหตุของการไม่สามารถรับชมได้


ซึ่งตั้งแต่ 22.00 น. ได้เริ่มขึ้นข้อความแทนการถ่ายทอดสดใน c-band ทั้ง Mux และ Must Carry ข้อความว่า "ด้วยข้อกำหนดด้านลิขสิทธิ์ ท่านสามารถรับชมการถ่ายทอดสด FIFA World Cup Qatar 2022 ได้เฉพาะทางโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินเสาก้างปลาและโทรทัศน์ระบบดาวเทียมที่ทำการเข้ารหัสตามข้อกำหนดของ FIFA ซึ่งครอบคลุมพื้นที่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นขออภัยในความไม่สะดวกในการรับชมมา ณ ที่นี้"

------------------------------------------

ก้องศักดิ์ วอน กสทช. ฟังคำสั่งศาล กรณีขอคืนเงิน 600 ล้าน ถ่ายสด ฟุตบอลโลก

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แจ้งกับทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้เร่งดำเนินการแก้ไขการบริหารจัดการลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลกให้ถูกต้องตามข้อตกลงใน “เอ็มโอยู” และกฎ “มัสต์แครี่” และขู่จะแจ้งยกเลิกการสนับสนุนเงินค่าลิขสิทธิ์ 600 ล้านบาท ทั้งต้องคืนภายใน 15 วัน พร้อมดอกเบี้ย 5% กรณีผิดนัด หลังกลุ่มทรู ในฐานะผู้ได้รับสิทธิในการเผยแพร่การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทยในระบบ IPTV และระบบ OTT ยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายหนึ่งที่ให้บริการผ่านกล่อง AIS PLAYBOX ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการชั่วคราวด้วย


ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ถึงเวลานี้เราได้ทำตามระเบียบ และเอกสารต่างๆ ตามกฎเกณฑ์ที่ กสทช. ระบุแล้วทุกอย่าง แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องรอฟังคำวินิจฉัยของศาลทรัพย์สินทางปัญญาจะให้ปฏิบัติอย่างไรด้วย ซึ่งคาดว่าอีก 2-3 วันน่าจะได้รับคำตัดสิน ซึ่งเราพร้อมจะทำตามทุกอย่าง


ส่วนประเด็นของการจะต้องคืนเงิน 600 ล้านบาทนั้นคงต้องรอดูว่าสามารถทำได้และชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากทาง ทรู เองก็ถือเป็นผู้สนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ ฟุตบอลโลกครั้งนี้เหมือนกัน เราเองไม่ได้นิ่งนอนใจ บางเรื่องเราทำตามระเบียบของ กสทช. ทุกประการ โดยเฉพาะการเผยแพร่ในหลากหลายช่องทางนั้นทำให้เกิดปัญหาของการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะประเทศอื่นสามารถดึงสัญญาไปใช้ได้ ป้องกันได้ยากลำบาก กกท.ได้รับหนังสือเตือนจาก ฟีฟ่า ทุกวันว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างไรบ้าง ซึ่งหากยังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ เรามีโอกาสถูกระงับสัญญาณจากทางฟีฟ่าได้ตลอดเวลา เท่าที่ทราบ กสทช. กำลังหารือกับผู้ประกอบการเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/Wqa6LeVq0Ns

คุณอาจสนใจ

Related News