ข่าวโซเชียล

อุทาหรณ์! ลูกวัย 2 ขวบ ‘ร้องกลั้น’ จนหยุดหายใจต้อง CPR ช่วยชีวิต แพทย์แนะวิธีดู เมื่อลูกเล็กมีอาการ

โดย petchpawee_k

10 ส.ค. 2566

973 views

แม่โพสต์คลิปลูกวัย 2 ขวบ 3 เดือน ร้องกลั้น จนหยุดหายใจไป 3 นาที - ก่อนทำ CPR จนลูกหายใจกลับมา เผย พาไป รพ. หมอ ระบุ อาการร้องกลั้นมักเกิดขึ้นในเด็ก 1-3 ขวบ


ผู้ใช้เฟซบุ๊ก “Nannalin Chainphonsaen” หรือแม่ของน้องภูผา วัย 2 ขวบ 3 เดือน โพสต์คลิปหวังแชร์เป็นอุทาหรณ์ กรณีลูกน้อยหยุดหายใจไป 3 นาที พร้อมกับมีอาการตัวแข็ง ตาเหลือก หน้าเขียวไปทั้งตัว  ลักษณะเหมือนคนเกร็งชัก


จากคลิปจะเห็นว่าผู้เป็นแม่ อุ้มลูกน้อยวัย 2 ขวบ 3 เดือน ที่หยุดหายใจจากการร้องกลั้น แล้วพยายามกระทุ้งและเขย่าตัว พร้อมเรียกชื่อลูก จนกระทั่งผู้เป็นพ่อได้มาเปลี่ยนมือ เขย่าตัวและเรียกชื่อลูก แต่ก็ไม่มีเสียงตอบกลับซึ่งทั้งคู่ทำแบบนี้อยู่สักพัก  ก่อนจะเอาตัวลูกนอนลงกับพื้นเพื่อทำ CRP ซึ่งตามคำบอกเล่าของแม่บอกว่า CPR ไป 3 นาที จนลูกหายใจและฟื้นคืนสติกลับมา


ทั้งนี้ เจ้าตัวโพสต์ดังกล่าว เขียนข้อความระบุว่า “ใจแม่แทบขาด สติหลุดทำอะไรไม่ถูกเลย ลูกร้องดิ้น ไม่ใช่เรื่องปกติ ลูกร้องดิ้นจนสุดลมหายใจ หยุดหายใจไปประมาน 3 นาที  ตัวแข็ง หน้าเขียวไปทั้งตัว ตาเหลือก เหมือนคนเกร็งชัก มันน่ากลัวมากๆจนแม่สติแตก  ตั้งสติ CPR ขอบคุณทุกลมหายใจที่ส่งลูกกลับมา แม่ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกแล้ว อยากจะเป็นแทนลูก หัวใจแทบสลาย  ใครเคยมีประสบการณ์แบบนี้ช่วยแชร์ความรู้กันได้นะคะ ต้องทำยังไงไม่ให้ลูกร้องดิ้น กลัวมาก ผวาไปหมดเลย ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกแล้ว


#ขอบคุณเพื่อนบ้านมากๆนะคะที่เข้ามาช่วยเหลือ

------------------------


สาเหตุลูกทารกร้องกลั้น และวิธีดูแลเมื่อลูกมีอาการร้อนกลั้น


ภาวะลูกร้องกลั้น ร้องกลั้นคืออะไร

ภาวะลูกร้องกลั้นพบได้ 2-5% ของเด็ก เริ่มพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 5-6 เดือน แต่จะพบมากขึ้นช่วงอายุ 1-2 ปี หลังจากนั้นอาการจะค่อย ๆ ลดลง และภาวะนี้ไม่ได้เกิดอันตรายต่อสมองหรือทำให้เกิดพัฒนาการช้าแต่อย่างใด    


ร้องกลั้นเกิดจากอะไร ทำไมทารกร้องกลั้น


ทารกร้องกลั้นสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่เด็กมีความโกรธ ตกใจ หรือถูกขัดใจ จึงร้องไห้อย่างรุนแรง ตามด้วยการกลั้นหายใจจนทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจ (Apnea) และขาดออกซิเจน (Hypoxia) อาจตามด้วยการหมดสติ หรือแขนขากระตุก ซึ่งเป็นเพียงชั่วครู่ แล้วเด็กจะกลับมาหายใจปกติ    

ร้องกลั้นมี 2 ประเภท

Cyanotic Spells เด็กจะมีอาการร้องไห้อย่างรุนแรง และหยุดหายใจในขณะหายใจออก ทำให้เกิดการขาดออกซิเจนและหน้าเขียว เหตุกระตุ้น  เกิดจากการถูกขัดใจ หรือโมโห โกรธอย่างรุนแรง

Pallid Spells เด็กมักร้องไห้ไม่รุนแรง ไม่มีภาวะเขียวหรือขาดออกซิเจน แต่อาจมีอาการหน้าซีด เหตุกระตุ้น  เกิดจากความกลัวหรือตกใจ  


การดูแลเมื่อลูกทารกร้องกลั้น

ควรหลีกเลี่ยงวิธีบังคับหรือขัดใจและเปลี่ยนเป็นใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจ โน้มน้าวหรือห้ามด้วยความนุ่มนวล และพ่อแม่ไม่ควรแสดงความตกใจเมื่อลูกแสดงอาการ

ในขณะที่มีอาการพ่อแม่ควรอุ้มเด็กไว้ หรือให้นอนราบ เพื่อป้องกันการล้มศีรษะฟาดพื้น  

อย่างไรก็ดี คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตว่าลูกเป็นภาวะร้องกลั้นหรือลมชัก เพราะถ้าร้องกลั้นมักจะเป็นไม่เกิน 1- 2 นาที และหลังจากนั้นจะรู้สึกตัวดี แต่ถ้าภาวะลมชัก มักจะเป็นนานกว่า 1 นาที และเด็กอาจไม่รู้สึกตัว


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/mm4MgCvO33Q



คุณอาจสนใจ

Related News