ข่าวโซเชียล

หมอศิริราช เผยผลวิจัย แม่อุ้มท้องสูด PM 2.5 ลูกที่ออกมาเสี่ยงหัวใจพิการมากกว่าปกติ

โดย thichaphat_d

9 มี.ค. 2566

55 views

นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจ และวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ให้ความรู้ถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 ในหญิงตั้งครรภ์ เนื่องในวันสตรีสากล 8 มี.ค.2566 โดยระบุว่า

วันนี้รับโทรศัพท์จากสื่อมวลชนหลายช่องทาง ที่ให้ความสนใจสัมภาษณ์พิษภัยของฝุ่นต่อเยาวชน ขณะเดียวกันอาจารย์หมอโรคปอดเด็กและหมอโรคภูมิแพ้เด็กที่บ้านริมน้ำ ฝากมาบอกกับผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ทั้งหลายว่า นับแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงบัดนี้ มีเด็กป่วยด้วยโรคภูมิแพ้และโรคระบบการหายใจ เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งป่วยต่อเนื่องลากยาวมายังไม่มีทีท่าว่าจะลดแม้จะเริ่มเข้าหน้าร้อน ทั้งนี้ด้านหนึ่งคงเป็นจากคุณภาพอากาศที่แย่ลงทุกปี แถมความตระหนักของผู้ปกครองเด็กและผู้ปกครองประเทศ ลดน้อยถอยลงไปเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตโควิด



ใกล้จะผ่านพ้นวันสตรีสากลของปีนี้แล้ว วันที่ทั่วโลกเทิดค่าผู้หญิงว่ามีส่วนสำคัญในการรังสรรค์สังคมนี้ หนึ่งในหน้าที่ของพวกเธอ คือการให้กำเนิดทายาทเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติ แล้วในระหว่างที่เหล่าเพศแม่อุ้มท้องรอคลอดนั้น หากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่น PM2.5 สูง นอกจากจะเสี่ยงต่อทารกที่คลอดมาน้ำหนักตัวน้อยและเจ็บป่วยง่ายแล้ว ยังเสี่ยงต่อความพิการแรกคลอด โดยเฉพาะกลุ่มโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

มีการศึกษาชิ้นสำคัญ เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา ฉบับที่ออกตรงกับวันวาเลนไทน์ปีนี้พอดี คณะผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2557-2560 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้นจำนวน 1,434,998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน จึงได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณ PM2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง ระหว่างกลุ่มที่ทารกปกติกับกลุ่มที่ทารกมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด



พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่บรรดาเหล่าคุณแม่กลุ่มนี้ได้รับเฉลี่ยในหนึ่งปีคือ 56.51 (อยู่ในช่วงตั้งแต่ 10.95 - 182.13) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าสูงมากที่เดียว โดยทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกนี้จะพบมากขึ้น ถ้าแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจน จะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น  

https://www.ahajournals.org/.../CIRCULATIONAHA.122.061245

การตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สร้างความปิติให้กับทุกผู้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าแม่ผู้อุ้มท้องไม่สามารถหลีกเลี่ยงมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ได้ ผลลัพธ์อาจไม่สวยหรูอย่างที่ได้รับการรุมล้อมคาดหวัง

สำหรับแม่ที่ไม่มีฐานะเพียงพอจะจัดหาระบบฟอกและระบายอากาศในที่พักซึ่งมีประสิทธิภาพดี เป็นหน้าที่ของหน่วยงานปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต้องจัดทำ "ศูนย์พักคอยฝุ่นชุมชน" เหมือนช่วงโควิด เพียงแต่วิกฤตฝุ่นมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าโควิดหลายเท่า

#ปกป้องทารกในครรภ์จากPM_2_5

#จัดตั้งศูนย์พักคอยฝุ่นชุมชน

คุณอาจสนใจ

Related News