ข่าวโซเชียล

อย่าหาทำ! อ.เจษฎ์ โต้ไลฟ์โค้ชดัง แชร์สูตรชารักษาน้ำท่วมปอด เสียเวลากิน แนะรีบส่งโรงพยาบาล

โดย nicharee_m

23 ธ.ค. 2565

401 views

กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ หลังไลฟ์โค้ชเพจดัง ที่มีผู้ติดตามกว่า 1 แสนคน ออกมาให้ข้อมูลสูตรการรักษาน้ำท่วมปอด โดยระบุว่า “น้ำท่วมปอด แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรที่ต้มจาก ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระชายขาว (แบบเข้มข้นเช้ากลางวันเย็นครั้งละ 70 ซีซี)” หลังโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก บางส่วนหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่า “อย่าหาทำ”



อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์โต้แย้งข้อมูลดังกล่าวว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ผิดแก่สังคม โดยระบุว่า “น้ำท่วมปอด รีบส่งโรงพยาบาล ไม่ต้องมาเสียเวลาต้มชากิน

‘ภาวะน้ำท่วมปอด’ นั้นเป็นอันตรายถึงชีวิตครับ ถ้าพบผู้ที่มีอาการนี้ ให้รีบนำส่งแพทย์ส่งโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่ใช่ว่ามาไล่หาสมุนไพร ต้มชาดื่มกันนะครับ เดี๋ยวช้าเกินไป อาจทำให้อันตรายร้ายแรงได้!!

ภาวะน้ำท่วมปอด (Pulmonary edema) หรือภาวะปอดบวมน้ำ เกิดจากการมีของเหลวในถุงลมปอดมากผิดปกติ ทำให้การแลกเปลี่ยนกำซลดลง

ผู้ป่วยจึงเกิดอาการต่าง ๆ จากการมีระดับออกซิเจนในเลือดลดลง ... หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับอาการ สาเหตุ และแนวทางการรักษา ได้ด้านล่างนี้จากบทความของโรงพยาบาลจุฬาฯ ครับ

(บทความ) ‘ภาวะน้ำท่วมปอดอันตรายถึงชีวิต’

#อาการ
- หายใจหอบเหนื่อยขณะที่ออกแรง หรือหายใจไม่สะดวกเวลานอนราบเมื่อโรคมีความรุนแรงมากขึ้นอาจมีอาการหอบเหนื่อยแม้ไม่ได้ออกแรง
- มีอาการไอ เหนื่อย หรือแน่นหน้าอก
- มีอาการบวมที่แขนหรือขา

#สาเหตุ
- สาเหตุจากการบีบและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจลดลง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในหัวใจมากขึ้นและมีแรงดันย้อนกลับไปที่ถุงลมปอด เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจโตภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ภาวะลิ้นหัวใจตีบหรือรั่ว ปัจจัยส่งเสริม ได้แก่ ความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ดี ภาวะโปรตีนในเลือดต่ำ ไตทำงานลดลง (ไตเสื่อมหรือไตวาย)
- สาเหตุอื่นนอกจากการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะการหายใจล้มเหลวฉับพลัน การได้รับยาหรือสารเสพติดบางชนิด การได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดหรือภาวะน้ำท่วมปอดจากการขึ้นที่สูง

#การรักษา
- การรักษาเบื้องต้น ได้แก่ การให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดปริมาณน้ำในปอดและเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือดเพื่อการลดอาการเหนื่อย
- การรักษาหลัก คือ แก้ไขสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด เช่น การแก้ใขการทำงานของหัวใจ การควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม การลดอาหารเค็ม เป็นต้น

ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ที่มา : อ.นพ.นพพล ลีลายุวัฒนกุล”


ทั้งนี้ แม้จะมีผู้ออกมาให้ข้อมูลโต้แย้งเป็นจำนวนมาก ด้านไลฟ์โค้ชยังไม่มีการออกมาชี้แจงแต่อย่างใด และไม่ลบโพสต์ดังกล่าวออก ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเกิดความกังวลหวั่นมีการส่งต่อข้อมูลที่ผิดให้กับสังคมจนเกิดอันตรายได้



ข้อมูล : ภาวะน้ำท่วมปอดอันตรายถึงชีวิต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

คุณอาจสนใจ