สังคม

พระราชทานน้ำหลวงอาบศพ 'คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี' ภรรยาเจ้าสัวเจริญ ถึงแก่กรรมอย่างสงบ

โดย petchpawee_k

18 มี.ค. 2566

102 views

เมื่อเวลา 17.23 น. วันที่ 17 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ไปพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ คุณหญิงวรรณา  สิริวัฒนภักดี  และทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง  พวงมาลาของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี  และพวงมาลาส่วนพระองค์  ที่หน้าโกศศพ ณ ศาลากวีนิรมิต วัดเทพศิรินทราวาส  เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

ภายหลังจาก คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ภรรยา นายเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือเจ้าสัวเบียร์ช้าง ถึงแก่กรรมอย่างสงบ เมื่อเวลา 01.24 น.  

สำหรับ โดยคุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี เกิดปี 2486 มีอายุ 80 ปี เป็นบุตรสาวของ “เจ้าสัวกึ้งจู แซ่จิว” ผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจค้าขายเครื่องดื่มสุรา สมรัสกับ เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ อาทินันท์ พีชานนท์ ,วัลลภา ไตรโสรัส ,ฐาปน สิริวัฒนภักดี , ปณต สิริวัฒนภักดี และฐาปนี เตชะเจริญวิกุล


สำหรับคุณหญิงวรรณานั้น นอกจากจะร่วมบริหารกิจการแล้วยังรับภาระดูแลบุตรธิดา ให้ได้รับการศึกษาอย่างดีทุกคน ทั้งยังเป็นกำลังสำคัญในด้านการทำงานการกุศลและช่วยเหลือสังคมในหลายด้าน


เมื่อปี พ.ศ. 2531 ได้รับพระราชทานนามสกุล “สิริวัฒนภักดี”


 เส้นทางธุรกิจ คุณหญิงวรรณา และเจ้าสัวเจริญ ก่อตั้งอาณาจักรไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ทีซีซี กรุ๊ป) เครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย ในแง่ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 50 ปี


 2 สามีภรรยา ได้ร่วมกันพัฒนากิจการจากเล็กสู่ใหญ่ จากการขายสินค้าให้โรงงานสุรา พัฒนาสู่การเป็นเจ้าของโรงงาน จนได้รับสัมปทานโรงงานสุราทั้งหมด เมื่อเข้าสู่ยุคการค้าสุราเสรี ประมูลโรงกลั่นสุราในกลุ่มแสงโสม โดยในปี 2538 เจ้าสัวเจริญ และ คุณหญิงวรรณา ได้นำเบียร์ช้างสู่ตลาด


ก่อนจะขยายกิจการไปสู่ธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ต่อเนื่อง เป็น 5 สายธุรกิจ เช่น เบียร์ แอลกอฮอลล์ น้ำตาล บรรจุภัณฑ์ และอื่นๆ ตลอดจนได้เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลงทุนในกลุ่มโรงแรมอิมพีเรียล กลุ่มนอร์ธปาร์ค กลุ่มพันธ์ทิพย์ กลุ่มเกษตร รวมทั้งได้เข้าลงทุนในกิจการของกลุ่มธุรกิจที่สำคัญ เช่น กลุ่มเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ และกลุ่มอาคเนย์ประกันภัย ประกันชีวิต เป็นต้น ปัจจุบันคุณหญิงวรรณา ดำรงตำแหน่งในหลายบริษัทในเครือ 


นอกจากนี้ คุณหญิงวรรณายังมีบทบาทสำคัญในด้านการทำงานการกุศลและช่วยเหลือสังคมในหลากหลายด้าน ทั้งยังดำรงตำแหน่งสำคัญในมูลนิธิต่างๆ เช่น กรรมการมูลนิธิสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ กรรมการมูลนิธิรามาธิบดี กรรมการศิริราชมูลนิธิ กรรมการมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช กรรมการมูลนิธิคืนช้างสู่ธรรมชาติ กรรมการ คณะกรรมการจัดหาและส่งเสริมผู้ให้โลหิตแห่งสภากาชาดไทย กรรมการมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง และกรรมการมูลนิธิ แอสเสท เวิรด์ เพื่อการกุศล


โดยได้ทำงานขับเคลื่อน ทั้งด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ และ วัฒนธรรมอยู่เสมอ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย อาทิ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก , เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาวชิรมงกุฎ , เครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ , เครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า และ เครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสิริวัฒน์ราชมิตราภรณ์ อันดับหนึ่งที่มีเกียรติอันสูงสุด ด้านการทูต แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา


ประวัติการศึกษา คุณหญิงวรรณา ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก 8 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย อันได้แก่ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการธุรกิจมหาวิทยาลัยพะเยา ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาบริหารธุรกิจการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณประโยชน์ทางธุรกิจของแต่ละสาขาวิชาได้เป็นอย่างดี


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/uYnKTkPWZT4

คุณอาจสนใจ

Related News