สังคม

ปคบ.เปิดชื่อไส้กรอก-หมูยอ 32 ยี่ห้อ ผลิตจากโรงงานมรณะ

โดย pattraporn_a

3 ก.พ. 2565

516 views

ปคบ.-อย. บุกโรงงานไส้กรอกในจังหวัดชลบุรี ยึดของกลาง 32 รายการ มูลค่ากว่า 7 แสนบาท พบใส่สารกันบูดสูงเกินค่ามาตรฐาน กินแล้วอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต พร้อมเผยรายชื่อไส้กรอก หมูยอ 32 ยี่ห้อ ที่ผลิตจากโรงงานแห่งนี้


ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง ปคบ.และอย. เข้าตรวจค้นโรงงานแห่งหนึ่งในอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ซึ่งขณะเข้าตรวจค้นเจอคนงาน 8 คน และมีนางสาว รักทวี (ขอสงวนนามสกุล) แสดงตนเป็นเจ้าของกิจการ พร้อมยอมรับว่า เปิดโรงงานมา 5 ปีแล้ว โดยการรับจ้างผลิตให้กับคนที่มาว่างจ้าง แล้วติดฉลากยี่ห้อลงไป , สถานที่ผลิตก็ไม่ผ่านเกณฑ์จีเอ็มพีที่กฎหมายกำหนด และไม่มีการควบคุมการใช้วัตถุเจือปนอาหารอย่างเหมาะสม


พันตำรวจเอก เนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 บก.ปคบ. เปิดเผยว่า การบุกจับครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก สสจ.จังหวัดประสานข้อมูลว่า พบผู้บริโภคซึ่งเป็นเด็กในพื้นที่ จ.เชียงใหม่, สระบุรี, เพชรบุรี, ตรัง และ กาญจนบุรี รวม 9 คน ที่ถูกส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หลังจากกินไส้กรอกยี่ห้อหนึ่ง ก่อนเกิดภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย จึงไปสืบสวนหาข้อมูลจนพบว่าแหล่งผลิตอยู่ที่นี่ แล้วส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าที่จังหวัดสมุทรสาครแล้วกระจายขายไปทั่วประเทศ กระทั่งมีเด็กที่กินแล้วป่วย ใน 5 จังหวัด


จากการตรวจสอบพบว่า ผู้ผลิตแสดงฉลากผลิตภัณฑ์ยี่ห้อต่าง ๆ มากถึง 32 ยี่ห้อ รวมทั้งยังมีสัญลักษณ์ฮาลาลปลอมอีกด้วย จึงได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ เนื่องจากสงสัยว่าจะเข้าข่ายอาหารปลอม เบื้องต้นพบว่าโรงงานแห่งนี้มีความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 คือ สถานที่ผลิตอาหารไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการผลิตที่ดี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และผลิตภัณฑ์อาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง โทษปรับไม่เกิน 30,000 บาทและถ้าตรวจพบสารต้องห้ามในอาหารก็จะเข้าข่ายความผิดฐานผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นอาหารปลอมด้วย ก็จะมีโทษหนักขึ้นคือ จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท


ด้าน นายแพทย์ วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการอย. กล่าวว่า ภาวะเมธฮีโมโกลบินนีเมีย คือ ภาวะเม็ดฮีโมโกลบินในเลือดมากผิดปกติ เพราะมีสารอื่นไปจับเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ส่งผลให้ร่างกายมีภาวะขาดอ๊อกซิเจน ทำให้มีอาการเหนื่อยล้า ใจสั่น หน้ามืด วิงเวียน หากอาการหนักก็จะทำให้ปลายมือเท้าเขียว บางรายก็ถึงขึ้นหมดสติ หรือเสียชีวิตได้ ส่วนสาเหตุมาจากการใช้สารไนไตรท์ และไนเตรต ที่ใช้สำหรับยืดอายุของอาหาร หรือ สารกันบูดตามปกติแล้วร่างกายสามารถจะขับสารดังกล่าวออกทางไตได้ หากไม่เกินมาตราฐาน ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ใช้ประกอบผลิตภัณฑ์อาหารได้ไม่เกิน 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมของอาหาร แต่จากการตรวจสอบ พบว่า ในผลิตภัณฑ์มีปริมาณสารนี้ถึง 2,000 กว่ามิลลิกรัม


ชมผ่านยูทูบ : https://youtu.be/y_wxwiTnf0A 

คุณอาจสนใจ