สังคม
ซีพีเอฟ เปิดไทม์ไลน์นำเข้าปลาหมอคางดำ ย้ำทำตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมประมง
โดย nutda_t
25 ก.ค. 2567
700 views
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยื่นหนังสือให้ข้อมูลคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม แจงละเอียดทุกขั้นตอน การนำเข้าลูกปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากประเทศกานา ตั้งแต่ปลามาถึงไทยจนถึงทำลายฝังซาก และส่งซากปลาให้กรมประมง ผ่านการตรวจสอบและตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมฯ
นายเปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมาธิการฯ ได้เชิญบริษัทเข้าร่วมการประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการนำเข้าปลาหมอคางดำเพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย นั้น
บริษัทได้ชี้แจงว่า ซีพีเอฟ ได้นำเข้าลูกปลาหมอคางดำ ในชื่อสามัญ Blackchin tilapia และชื่อวิทยาศาสตร์ Sarotherodon melanotheron ขนาด 1 กรัม จำนวน 2,000 ตัว จากประเทศกานา เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 ใช้เวลาเดินทาง 35 ชั่วโมง เมื่อมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ได้เปิดกล่องโฟมบรรจุลูกปลาพร้อมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง ที่ประจำ ณ ด่านกักกัน พบว่ามีลูกปลาตายจำนวนมาก และเมื่อรับลูกปลามาถึงฟาร์ม ได้ตรวจคัดแยกพบว่ามีลูกปลามีชีวิตเหลืออยู่เพียง 600 ตัว ในสภาพที่ไม่แข็งแรง จึงได้นำลูกปลาที่ยังมีชีวิตลงในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง ลูกปลาทยอยตายต่อเนื่องทุกวัน (ตารางแนบ)
เนื่องจากสภาพลูกปลาที่เหลือไม่แข็งแรงและจำนวนไม่เพียงพอต่อการวิจัย จึงโทรปรึกษาเจ้าหน้าที่กรมประมง (นักวิชาการประมง 4 ตำแหน่งในขณะนั้น) กลุ่มความหลากหลายทางชีวภาพสัตว์น้ำจืด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบที่มีชื่อระบุอยู่ในหนังสืออนุมัตินำเข้า โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าให้เก็บตัวอย่างใส่ขวดโหลแช่ฟอร์มาลีน และให้นำมาส่งที่กรมประมง ดังนั้น ในสัปดาห์ที่ 2 ของการรับปลาเข้ามา จึงเก็บตัวอย่างจำนวน 50 ตัว ดองฟอร์มาลีนเข้มข้นเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
วันที่ 6 มกราคม 2554 (สัปดาห์ที่ 3) เนื่องจากมีปลาทยอยตายเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทจึงตัดสินใจไม่เริ่มดำเนินโครงการและยุติการวิจัยทั้งหมด และได้ทำลายลูกปลาทั้งหมด โดยใช้คลอรีนใส่ลงน้ำในบ่อเลี้ยงซีเมนต์ เพื่อฆ่าเชื้อและทำลายลูกปลาที่เหลือ หลังจากนั้น เก็บลูกปลาทั้งหมดแช่ฟอร์มาลีนเข้มข้น 24 ชั่วโมง แล้วนำมาฝังกลบพร้อมโรยปูนขาว ในวันที่ 7 มกราคม 2554 รวมระยะเวลาที่ลูกปลาชุดนี้มีชีวิตอยู่ในประเทศไทยเพียง 16 วันเท่านั้น และบริษัทได้แจ้งต่อกรมประมงถึงการตายของลูกปลา รวมถึงได้ทำลายซากลูกปลาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่กรมประมงท่านดังกล่าว และส่งตัวอย่างลูกปลาดองทั้งตัวในฟอร์มาลีนทั้งหมด 50 ตัว จำนวน 2 ขวด ๆ ละ 25 ตัว ให้กับคุณศิริวรรณ ที่กรมประมง โดยในวันที่ 6 มกราคม 2554 ได้เดินทางมาที่กรมประมง และได้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ท่านเดิม เรื่องการส่งมอบตัวอย่างลูกปลาดองทั้ง 2 ขวด ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อีกท่านหนึ่ง ลงมารับตัวอย่างแทน ที่ชั้น 1 อาคารจุฬาภรณ์ กรมประมง โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอให้ตัวแทนบริษัทกรอกแบบฟอร์มใดๆ ทำให้เข้าใจว่าการส่งมอบสมบูรณ์แล้ว
ถัดมาอีก 7 ปี ในปี 2560 มีข้อมูลจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า มีการพบปลาหมอคางดำระบาดในพื้นที่สมุทรสงคราม กรมประมงจึงได้เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 ซึ่งเจ้าหน้าที่จากกรมประมงตรวจสอบ ไม่พบปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยง จึงได้ขอสุ่มในบ่อพักน้ำที่เชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติแทน ซึ่งบ่อพักน้ำ R2 ของฟาร์ม ไม่ได้เป็นส่วนของบ่อเลี้ยง แต่เป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อรอการกรองและฆ่าเชื้อทำความสะอาดก่อนนำน้ำเข้ามาใช้ในฟาร์ม
บ่อพักน้ำเป็นส่วนที่เชื่อมกับแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ปลาที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติย่อมมีอยู่ในบ่อพักน้ำ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำเดียวกัน และยังไม่เข้าสู่ระบบการเลี้ยง ดังนั้น การสุ่มในบ่อพักน้ำ จึงไม่แปลกที่ปลาจะเป็นชนิดเดียวกันกับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ การนำมาเปรียบเทียบว่าเป็นปลาชนิดเดียวกันหรือไม่ จึงเป็นการตั้งสมมติฐานที่ทราบคำตอบตั้งแต่ต้นว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน เพราะมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเดียวกัน
นายเปรมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า บริษัทไม่มีการวิจัย หรือเลี้ยงปลาหมอคางดำอีกเลย นับตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2554 ถึงแม้ว่าบริษัทมั่นใจว่าไม่ได้เป็นต้นเหตุของการแพร่ระบาด แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จึงได้นำศักยภาพองค์กรขับเคลื่อน 5 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย
1. ร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำจากทุกจังหวัดทั่วประเทศที่มีการระบาด จำนวน 2,000,000 กิโลกรัม ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม
2. สนับสนุนปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ 200,000 ตัวตามแนวทางของกรมประมง
3. สนับสนุนกิจกรรมจับปลา โดยสนับสนุนอุปกรณ์จับปลาและกำลังคนในทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหา
4. ร่วมกับสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำ
5. ร่วมทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำในระยะยาว
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปลาหมอคางดำ ,กรมประมง ,ซีพีเอฟ