สังคม

'ธรรมนัส' ประกาศจับตาย 'ปลาหมอคางดำ' - ซีพีเอฟลั่นทำลายซากตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว ย้ำไม่ใช่ต้นตอระบาด

โดย petchpawee_k

18 ก.ค. 2567

210 views

'ธรรมนัส' ประกาศล่า 'ปลาหมอคางดำ' เคาะราคา 15 บาท/กก. เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ย ด้านอธิบดีกรมประมง ตั้งโต๊ะ แถลงยืนยัน อนุญาตบริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำเพียงรายเดียวเท่านั้น ในปี 53 และทำลายปี 54 แต่ไม่แจ้งเจ้าหน้าที่กรมเข้าไปตรวจสอบการฝังกลบ  ลั่นยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า อะไรเป็นต้นตอของการระบาด กำหนด 5 มาตรการเร่งด่วนแก้ปัญหา


วานนี้ (17 ก.ค.) ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวถึงปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่มีการขยายวงกว้างมากขึ้นว่า


“ประกาศจับตาย ! ผมขอเชิญชวนนักล่าทั้งหลาย จับตาย ”ปลาหมอคางดำ“ มีเงินรางวัลนำจับ กิโลกรัมละ 15 บาท โดยการยางแห่งประเทศไทย ตั้งจุดรับซื้อทุกจังหวัดที่มีการแพร่ระบาด (จับตายเท่านั้น) เพื่อนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่อไปครับ”

ขณะที่กรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง พร้อมด้วย นายคงภพ อำพลศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมสัตว์น้ำ และนางสาวทิวารัตน์ เถลิงเกียรติลีลา ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านประมงน้ำจืด ตั้งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกัน เรื่องการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำที่กรมประมง ซึ่งมีนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล มาร่วมฟังการแถลงข่าวด้วย


นายบัญชา อธิบายว่า ปลาหมอคางดำอยู่ในบัญชีสัตว์ห้ามนำเข้า โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งการนำเข้าปลาหมอคางดำในครั้งนั้น กรมประมงมีกลไกในการควบคุมการนำเข้า ตั้งคณะกรรมการมาชุดหนึ่ง หรือที่เรียกว่าคณะกรรมการไอบีซี หรือ คณะกรรมการระดับสถาบันด้านความปลอดภัยและความหลากหลายทางชีวภาพของกรมประมง สมัยนั้นการจะนำสัตว์เหล่านี้เข้ามาต้องผ่านคณะกรรมการอนุมัติ โดยมีเงื่อนไข 2 ข้อ


1.ให้เก็บตัวอย่างครีบดอง และรายงานผลกลับมายังคณะกรรมการ และ 2 เมื่อยกเลิกการวิจัยจะต้องทำลาย และรายงานผล พร้อมส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำกลับมาที่กรมประมง


โดยผู้ขออนุญาตเอกชน ได้นำปลาเข้ามา 2,000 ตัว ในเดือนธันวาคม 53 ผ่านด่านตรวจสัตว์น้ำ เมื่อนำเข้ามา ก็เข้าสู่ฟาร์มเพาะเลี้ยงที่จังหวัดสมุทรสงคราม


ตนเองได้เรียกหน่วยงาน กองที่ดูแลกลุ่มงานนี้มาตรวจข้อมูล โดยเอาสมุดบันทึกลงทะเบียนในการลงรับข้อมูล หรือเรียกว่า “สมุดคุม” ที่มีการบันทึก โดยเน้นไปช่วงปี 53 ของเดือนธันวาคม และมกราคม 54 แต่ก็ไม่พบยังไม่พบข้อมูลการนำส่ง 50 ตัวอย่างตามที่บริษัทเอกชนกล่าวอ้างในสมุดคุม


ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ และให้เจ้าหน้าที่หา ก็ไม่มีตามกล่าวอ้าง  ยืนยันว่ากรมประมงไม่มีการรับตัวอย่างปลาจำนวน 50 ตัวจากบริษัทผู้นำเข้าแต่อย่างใด


ส่วนสถานการณ์การระบาดของปลาหมอคางดำในขณะนี้ พบแล้วใน 16 จังหวัด (จากเดิม 14 จังหวัดของประเทศไทย) และระบาดหนักใน 5 จังหวัด ทางกรมประมงจึงได้กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา 5 มาตรการ


1. ประกาศประกาศอนุญาตผ่อนผันการใช้เครื่องมือประมงอวนรุน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัดปลาหมอคางดำ


2.ปล่อยลูกพันธุ์ปลานักล่าเข้าสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ปลากะพงขาว ปลาอีกรง จำนวน 226,000 ตัว ใน 7 จังหวัด


3.ประสานสมาคมผู้ผลิตปลาป่นไทย ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครจำนวน 2 แห่ง เพื่อรับซื้อ ปลาหมอคางดำในจังหวัดใกล้เคียงเพื่อนำไปผลิต เป็นปลาป่น จำนวน 500 ตัน พร้อมทั้งประสานเครือข่ายภาคเอกชนเพื่อรับซื้อปลาหมอคางดำ ไปใช้เป็นปลา เหยื่อเลี้ยงสัตว์น้ำ


4. สำรวจและกระจายเฝ้าระวังการแพร่กระจาย ประชากรปลาหมอข้างดำในพื้นที่เขตกันชน ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อรับแจ้งเบาะแสและพิกัดของปลาหมอคางดำทั่วประเทศ


5. สร้างความรู้ความเข้าใจในการมีส่วนร่วมกำจัดปลาหมอคางดำ

นอกจากนี้ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายในการแก้ไขปัญหาด้วยการใช้มาตรการด้านราคา เพื่อจูงใจให้จับปลาหมอคางดำมาขาย ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานภาคีเครือข่ายและชุมชนประมงในพื้นที่ ตั้งเป้าจะเริ่มดำเนินการได้ในสัปดาห์หน้า


ในส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมประมงได้วิจัยเพื่อปรับปรุงโครโมโซมปลาหมอคางดำ เพื่อสร้างประชากรปลาหมอคางดำพิเศษ ที่มีชุดโครโมโซม 4 ชุด เพื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ ที่มี 2 โครโมโซม เพื่อทำให้ลูกปลาหมอคางดำ เป็นหมัน (3 โครโมโซม) ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อไปได้


คาดว่า จะเริ่มทยอยปล่อยสายพันธุ์พิเศษนี้จำนวน 50,000 ตัว อย่างช้าไม่เกินเดือนธันวาคม 2567 และคาดว่าจะสามารถควบคุมการระบาดภายในภายใน 3 ปี


โดยหลังแถลงข่าวเสร็จ ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยประเด็นหลักที่สื่อสอบถาม คือ บริษัทที่นำเข้าปลาหมอคางดำ ในกรณีของผู้นำเข้าที่ไม่พบเอกสารการนำส่งปลาตัวอย่างให้กรมประมง ซึ่งไม่สอดคล้องกับที่บริษัทเอกชนอ้างว่าได้นำส่งมาแล้ว ทางกรมจะดำเนินการอย่างไร


ทางอธิบดีกรมประมง ระบุว่า ราชการไทยมีระบบควบคุม เวลาทำอะไรเกี่ยวกับระบบราชการมีหนังสือส่งราชการ และมีสมุดคุม ถ้าบริษัทดังกล่าวมีข้อมูล มีเอกสาร ก็นำส่งเอกสารมา หรือมีบุคคล หรือมีข้อมูลอื่นใดที่จะร่วมกันแสวงหาความจริงในเรื่องนี้  ก็ต้องออกมาร่วมกันพิสูจน์


ทั้งนี้ ตนได้เรียก ผอ.กอง และเจ้าหน้าที่เอาเอกสารมาไล่เรียง โดยมี ผอ.กองกฎหมายมาดู  ส่วนฝ่ายของบริษัทผู้รับอนุญาตที่นำเข้า ถ้ามีเอกสารก็ต้องนำออกมาแสดง


โดยความรับผิดชอบของมนุษย์มี 2 ส่วน ส่วนแรกคือรับผิดชอบตามที่กฎหมายบอกไว้ และ2 รับผิดชอบต่อสังคม “ไม่ใช่กฎหมายตามไม่ได้ แล้วความรับผิดชอบไม่มี กฎหมายตามไม่ได้ แต่ความรับผิดชอบต้องเกิดขึ้น”  และยืนยันว่า ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน มีบริษัทเดียวที่ขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำ


แต่หนึ่งในประเด็นที่ทางอธิบดีกรมประมงถูกผู้สื่อข่าวซักถามมาก คือ ประเด็นเรื่องการส่งเจ้าหน้าที่ไปดูการฝังกลบหรือไม่ และระยะเวลาที่ล่วงเลยมานาน ทำไมจึงไม่มีการเข้าไปตรวจสอบ ทางอธิบดีกรมประมง แจงว่าตอนนั้นทางฟารร์มไม่ได้แจ้งทางผู้เชี่ยวชาญ ให้เข้าไปดูการฝังกลบ


จากข้อมูล เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบพื้นที่ฝังกลบเองในช่วงที่มีการระบาด เมื่อปี 2560 มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจฟาร์ม แต่ทางฟาร์มแจ้งว่าฝังกลบไปแล้ว  


นางสาวทิวารัตน์ เถลิงเกียรติลีลา ผู้เชี่ยวชาญทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพด้านการประมงน้ำจืด ขยายความเพิ่มเติมว่า ทางผู้นำเข้าไม่ได้แจ้งในวันที่ทำลายเอาไปฝังกลบ แต่ในวันที่แพร่ระบาดปี 60 เจ้าหน้าที่ของกรมประมง จึงลงไปตรวจสอบ และพบว่า ผู้นำเข้าแจ้งว่า ฝังกลบไปแล้ว เนื่องจากมีการตายของปลาตัวอย่าง ซึ่งตรงจุดนี้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างทับไปแล้วด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบ ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ในวันนั้น


ผู้สื่อข่าวเลยถามว่า ทำไมผ่านระยะเวลาไปตั้ง 6 ปี (จากปีที่ทำลาย 54 ไปถึงปี 60 ที่กรมประมงเข้าไปตรวจฟาร์ม) จนมีการสร้างอาคารทับไปแล้ว ทำไมกรมประมงถึงปล่อยไว้  อธิบดีประมง ย้ำว่า ทางบริษัทไม่ได้แจ้งให้กรมประมงส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบในวันทำลาย


เมื่อถามว่า กรณีไม่ได้แจ้ง จะมีความผิดไหม อธิบดี บอกว่า ตามระเบียบถ้าไม่ทำตาม จะไม่อนุญาตให้นำเข้าปลาสายพันธุ์ดังกล่าวในครั้งต่อไป หมายถึงว่า ถ้าคุณจะทำธุรกรรมกับรัฐ ถ้าไม่ทำตามระเบียบ ก็จะไม่อนุมัติแล้ว ส่วนความผิดที่เพิ่งเกิด ก็ต้องมาดูว่าการผิดเงื่อนไขเหล่านี้ สามารถทำอะไรได้บ้าง กฎหมายประมงไม่ได้กำหนดไว้


เมื่อถามว่า แสดงว่ากฎหมายปี 53 เอาผิดไม่ได้หรือ อธิบดีระบุว่า ตนเองไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เงื่อนไขที่อ่าน กำหนดไว้ว่าจะไม่อนุญาตให้นำเข้าครั้งต่อไป เพราะฉะนั้นความผิดอื่นที่จะเพิ่งเกิด มันอาจจะมีความผิดในกฎหมายอื่น แต่ก็ยังนึกไม่ออก แต่ถ้ามีอะไร กรมประมงก็ยินดี  โดยจะให้กองกฎหมายไปศึกษาดู ว่ามีองค์ประกอบอื่นที่พิจารณาเพิ่มเติมหรือไม่  เพื่อแก้ไขปัญหานี้


ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การที่เว้นช่วงการติดตามถึง 6 ปี ทางกรมจะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบย้อนกลับไปที่เจ้าหน้าที่ที่อนุญาตหรือไม่  ว่าทำไมถึงไม่ไปดูถึงผลการวิจัยของเอกชนถึง 6 ปี  อธิบดีบอกว่า ก่อนหน้านี้ มีสื่อมวลชนถามรัฐมนตรีช่วยว่าการ  ก็มีการจัดตั้งคณะกรรมการหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้  ไม่ได้หาว่าใครทำผิด แต่จะหาว่าเหตุเกิดยังไง   


ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า จนถึงเวลานี้ผ่านมาหลายปี สรุปแล้ว ทราบต้นตอที่ทำให้ปลาหมอคางดำระบาดหรือยัง ว่าเกิดจากอะไร และในเมื่อกรมประมงอนุญาตให้เอกชนเพียงรายเดียวนำเข้าในประเทศไทย และไม่ส่งกลับมาที่กรมประมง แล้วมันมีความเชื่อมโยงกับการระบาดในไทยหรือไม่ อธิบดีบอกว่า “จะให้ไปชี้ ยังตอบตรงๆ ไม่ได้ ในใจก็คิดไม่ต่างจากพวกเรา พูดตรงๆ แต่พูดออกมาชี้ชัดไม่ได้ ถึงวันหนึ่งทุกอย่างมีหลักฐาน อะไรที่ราชการเห็นในทางกฎหมาย เราก็ต้องมาดำเนินการตามขั้นตอน”  พร้อม ยืนยันไม่หนักใจ ราชการต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำอะไรต้องชั่งน้ำหนัก


ส่วนกรณีมีรายงานว่า มีการส่งออกปลาหมอคางดำ  ตนเองยังไม่ได้รับข้อมูลในส่วนนี้ โดยจะเร่งตรวจสอบ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากช่วงที่มีการระบาดของปลาหมอคางดำ และมีผู้จะไปเลี้ยงก็เป็นไปได้  แต่ว่าในรายละเอียดขอไปตรวจสอบก่อน


สำหรับมาตรการการรับซื้อปลาหมอคางดำนั้น อธิบดีบอกว่า ร้อยเอกธรรมนัส เข้ามาในห้องประชุมเมื่อวันที่ 16 ก.ค. และใช้เวลา 15 นาที ก็ตัดสินใจเลยว่า การแก้ปัญหาเร่งด่วน คือการใช้ราคาจูงใจ จากเดิมรับซื้ออยู่ 7 บาท 10 บาท ตอนนี้ให้นโยบายชัดเจนว่ารับซื้อ 15 บาท


ส่วนจุดรับซื้อ ทางกรมก็มีโมเดลอยู่แล้ว เช่น จุดที่มีการแพร่ระบาดชุกชุม ประมาณ 5 จังหวัด  อาจจะต้องมีจุดรับซื้อเยอะหน่อย ลดหลั่นกันไปตามปริมาณการแพร่ระบาด ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในการจับปลา จากที่เสนอที่ประชุมไป 5 มาตรการ แต่ละมาตรการก็ใช้เงินต่างกัน รวม 5 มาตรการ  181 ล้านบาท   ที่ประชุมอนุมัติมาตรการ แต่ยังไม่อนุมัติเรื่องวงเงิน  และให้กลับไปทบทวนอีกครั้ง


ทั้งนี้ หลังจากแถลงข่าวเสร็จ อธิบดีกรมประมง  ได้เดินเข้าไปหา ส.สณัฐชา และจับมือ พร้อมกล่าวขอบคุณที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดผลอิมแพค


ด้าน ส.ส.ณัฐชา ระบุว่า หลังจากฟังการแถลง เห็นได้ว่า ทางกรมกล้าที่จะให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงว่า เอกสารที่บริษัทเอกชนส่งมาที่กรมประมง ไม่เคยได้รับตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน และต้องขอบคุณข้อมูลที่ชัดเจนจากกรมประมง  ที่ยืนยันว่าตั้งแต่ 2554 จนปัจจุบันไม่เคยมีเอกชนรายใด ขอนำเข้าปลาสายพันธุ์นี้อีกเลย นั่ นหมายความว่าเป็นเครื่องยืนยันว่า การนำเข้าแบบถูกต้องตามกฏหมายและขออนุญาตโดยบริษัทเอกชนบริษัทนี้ เป็นบริษัทเดียวตลอดระยะเวลา 10-15 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาด และรุกราน


จากการแถลงข่าว เห็นได้ชัดว่า กระบวนการติดตาม ไม่รัดกุมเท่าไหร่ ทำให้ปลาที่มีอนุภาพทำลายล้างสูง หลุดรอดออกไปได้ เพราะฉะนั้นในอนาคตการ  ดำเนินการที่รัดกุมจะเกิดขึ้นภายใต้กฎหมายใหม่  แต่วันนี้อธิบดีได้ชี้แจงแล้วว่า ถึงแม้ว่าจะพบว่ามีเอกชนรายหนึ่งนำเข้า และปล่อยปละละเลยจนหลุด  ข้อกฎหมายขณะนั้นยังไม่สามารถเอาผิดได้ อันนี้เป็นประเด็นสำคัญ อันนี้เป็นเรื่องน่ากังวลใจอย่างยิ่งในวงการเกษตร วงการประมง    


 ขณะเดียวกันเห็นว่า นายกรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการหาต้นตอของที่มาและสาเหตุการแพร่ระบาด ต้องขอความร่วมมือไปยังฝ่ายบริหาร ในการพิสูจน์ตามคำพูด  ว่าจะหาต้นตอให้ได้ เพราะอย่างที่เห็นแล้วว่าแนวทางริบหรี่เหลือเกิน แม้จะเจอต้นตอแต่แนวทางในการเอาผิด หรือข้อกฎหมายในการรับผิดชอบก็ริบหรี่


ส่วนตนเองจะเร่งพิจารณายื่นญัตติด่วน เพื่อตั้งคณะกรรมการวิสามัญ และเชิญหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องนี้  และถ้ากฎหมายไม่มี ก็เหลือเพียงจิตสำนึกที่จะต้องรับผิดชอบต่อสังคมไทยได้


ขณะเดียวกัน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวหลังร่วมพิธีลงนามความร่วมมือยกระดับคุณภาพแรงงานฟาร์มสุกรตามแนวปฏิบัติสากล (GLP) ถึงการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ว่า ซีพีเอฟนำเข้าลูกปลาหมอคางดำมาในไทยเมื่อปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว แต่เมื่อปลามาถึงมันอ่อนเพลียเหลือรอดแค่ 600 ตัว เลี้ยงแล้วไม่ดีก็เลิกโครงการนี้ไปในช่วง ม.ค.ปี 2554 ผ่านมา 14 ปี ปลาลอตนั้นมันคงไปสวรรค์หรือไปไหนแล้วก็ไม่รู้ แล้วที่มันมาระบาดตอนนี้มันจะมาเกี่ยวอะไรกับเรา แต่ในฐานะที่เราทำเกษตรเมื่อมันมีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องดูว่าเราจะช่วยอะไรได้บ้าง แน่นอนว่ารัฐบาลเป็นหัวหน้าทีมหลักเราแค่ช่วยเป็นตัวเสริม

ปธ.ผู้บริหารซีพีเอฟ กล่าวต่อว่า เราเป็นบริษัทใหญ่ทำอะไรก็ต้องมีขั้นตอน การนำเข้ามาเราเป็นรายเดียวที่มีเอกสารในการนำเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่ไม่รู้ว่ามีใครอีกที่นำเข้าอีกบ้าง และเข้ามาเยอะแค่ไหน ปลาชนิดนี้เคยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม และมีการเลี้ยงเพื่อส่งออกด้วยปีละ 5-6 หมื่นตัว ยังมีคนที่เลี้ยงแล้วเบื่อเอาไปทำอะไรกันบ้างก็ไม่รู้ มันมีเป็นแสนตัว เหมือนปลาซัคเกอร์ที่คนนำมาเลี้ยงพอมันโตก็นำไปปล่อยทิ้ง ถ้าถามว่าปลาหมอมันมาจากไหนก็มาจากตรงนี้แหละ แต่เราไม่มีหลักฐาน

ผู้สื่อข่าวถามว่า อธิบดีกรมประมง ยืนยัน หลังซีพีเอฟยกเลิกการทำวิจัยไม่ได้ส่งซากปลา 50 ตัว ที่ใช้ในการวิจัย ให้กรมประมง นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวก็ฟังจากข่าวหลายๆ ข่าว ก็ทราบว่า ครั้งหนึ่งกรมประมงเคยถูกน้ำท่วมหลักฐานต่างๆ ก็หายไปหมด เลยไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เราส่งไปแต่มันนานกว่า 10 ปีแล้ว และเรามีการบันทึกว่า ได้มีการทำลายไปหมดแล้ว และปลามันก็มีจำนวนนิดเดียวเท่านั้น ส่วนที่ ขณะนี้ ยังทำวิจัยอยู่ก็มีพวกปลานิล และปลาทับทิม ที่เรามีอยู่และทำได้ดีอยู่แล้ว ในเรื่องของทำยังไงให้ปลาทับทิมโตขึ้น แข็งแรงขึ้นมีอัตราการเลี้ยงรอดเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ได้รับความนิยม


รับชมผ่านยูทูบได้ที่ : https://youtu.be/EwkdTiLBgYg

คุณอาจสนใจ

Related News