สังคม
“ปลาหมอคางดำ” ระบาด 16 จังหวัด กรมประมง เปิด 6 มาตรการเร่งด่วน
โดย thanaporn_s
17 ก.ค. 2567
178 views
วันที่ 17 ก.ค. 2567 อธิบดีกรมประมง แถลงข่าวกรณีปลาหมอคางดำระบาดหนัก โดยกรมประมงได้มีแนวทางไว้ 6 มาตรการ แก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ
1.การควบคุมและจำกัดปลาหมอคางดำ ในแหล่งน้ำทุกแห่ง โดยใช้อุปกรณ์ประมงที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรค
2.นำปลากระพงซึ่งเป็นปลาผู้ล่า ไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อกำจัดปลาหมอคางดำ ซึ่งตอนนี้ได้ปล่อยไปแล้วกว่า 226,000 ตัว ไปในแหล่งธรรมชาติ 7 จังหวัด และจะมีการปล่อยต่อเนื่องทุกพื้นที่
3.นำปลาหมอคางดำ ไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นปลาป่นได้ พร้อมเชิญชวนประชาชนนำไปประกอบอาหาร ซึ่งทำได้ทั้ง คั่วกลิ้ง ทอดเกลือ เผาเหลือ ฉู่ฉี่ น้ำยาขนมจีน ต้มยำ แดดเดียว ทอดมัน ซึ่งทั้งหมดใช้ปลาหมอคางดำทำได้
4.สำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ในพื้นที่เขตกันชน นำมาจัดระบบหาตำแหน่งที่อยู่ ก่อนกำจัดต่อไป
5.สร้างความรู้ ตระหนัก และมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอคางดำ โดยมีคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำแล้ว โดยสำนักงานประมงทั้ง 16 จังหวัดที่ปลาแพร่ระบาด
6.ทำวิจัยเหนี่ยวนำชุดโครโมโซม 4 ชุด (4n) ทำให้ปลาหมอคางดำเป็นหมัน จากนั้นจะปล่อยปลาหมอคางดำพิเศษเหล่านี้ ลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อให้ไปผสมพันธุ์กับปลาหมอคางดำปกติ ที่มีชุดโครโมโซม 2 ชุด (2n) การผสมพันธุ์ก็จะทำให้เกิดลูกปลาหมอคางดำ ที่มีชุดโครโมโซม 3 ชุด (3n) กลายเป็นปลาหมอคางดำที่เป็นหมัน ไม่สามารถสืบพันธุ์ต่อได้
อธิบดีกรมประมง กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังเสนอแก้ไขร่างพระราชบัญญัติกรมประมง กำหนดโทษเพิ่มเติมทั้งทางอาญาและโทษทางปกครอง ในผู้ที่กระทำผิดกฎหมายกรมประมง
สำหรับจุดรับซื้อปลาหมอคางดำของกรมประมงในราคา 15 บาท/กิโลกรัมนั้น จะเริ่มรับซื้อได้ ภายในสัปดาห์หน้า- ส่วนบริษัทเอกชนที่นำเข้าปลาหมอคางดำ ในปี 2553 จำนวน 2,000 ตัว และกล่าวอ้างว่า มีการนำส่งตัวอย่าง 50 ตัวมายังกรมประมงนั้น ได้ตรวจสอบย้อนหลังในสมุดบันทึกลงข้อมูล ที่นำสัตว์น้ำเข้าเพื่อมาตรวจสอบ ตั้งแต่ปี 2550 เน้นตรวจสอบในปี 2553 และปี 2554 ยืนยันไม่พบข้อมูล จึงย้ำว่า กรมประมง ไม่ได้รับตัวอย่าง จากบริษัทผู้นำเข้าแต่อย่างใด
แท็กที่เกี่ยวข้อง ปลาหมอคางดำ ,กรมประมง ,ทำลายระบบนิเวศ