สังคม

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ประกาศเตือนภัย "โรคหัด" กำลังระบาด

โดย kanyapak_w

18 มี.ค. 2567

1.2K views

สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากา ประกาศเตือนผ่านทางหน้าเพจเฟซบุ๊ก ระบะข้อความว่า "การแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) ในภูมิภาคคันไซ



ด้วยนครโอซากาได้ออกคำเตือนเรื่องการแพร่ระบาดของโรคหัด (Measles) สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโอซากาขอประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนไทยทราบ ดังนี้



1. ญี่ปุ่นสามารถทำให้โรคหัดภายในประเทศหมดไปตั้งแต่ปี 2558 อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 67 ทางการญี่ปุ่นพบว่า มีผู้โดยสารสายการบิน Etihad เที่ยวบิน EY 830 จากกรุงอาบูดาบีสู่นครโอซากา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 67 ติดเชื้อดังกล่าว จึงมีประกาศคำเตือนให้ผู้โดยสารเที่ยวบินดังกล่าว ผู้เดินทางไปสนามบินคันไซ ผู้โดยสารรถไฟสาย Nankai Electric Railway และผู้ที่ใช้บริการห้าง Super Center TRIAL Rinku Town Store ในวันดังกล่าว เฝ้าสังเกตตนเองหากมีอาการ เช่น ไข้สูงกว่า 39 องศา ไอ น้ำมูกไหลและผื่น ให้รีบพบแพทย์โดยสวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ



2. ล่าสุด นครโอซากายืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อโรคหัดในจังหวัด รวม 2 คน และสื่อญี่ปุ่นรายงานยอดรวมผู้ติดเชื้อหัดในญี่ปุ่นรวม 8 คน ทั้งในภูมิภาคคันไซและภูมิภาคอื่น ๆ เช่น นครโอซากา จ.เกียวโต จ.ไอจิ จ.กิฟุ และกรุงโตเกียว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดที่เริ่มขยายวงออกไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้ เมื่อปี 2559 มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในญี่ปุ่นโดยมีผู้ติดเชื้อ 744 คน และในกรณีที่มีความรุนแรง อาจส่งผลให้เสียชีวิตได้ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการรับวัคซีนให้ครบถ้วน



3. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลโรคหัดว่า โดยทั่วไปแล้ว จะเกิดอาการภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อ ดังนี้ (1) อาการเป็นไข้ตัวร้อน ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศา  ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม (2) อาการผื่นขึ้นตามร่างกาย เมื่อผู้ป่วยออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=75)



4. สถานกงสุลใหญ่ฯ ขอแนะนำให้ประชาชนไทยสวมหน้ากากอนามัยขณะใช้บริการขนส่งสาธารณะหรืออยู่ในที่ชุมชน หมั่นรักษาสุขอนามัยโดยเฉพาะการล้างมือ สังเกตอาการของตนเอง และให้พบแพทย์เพื่อขอรับคำแนะนำในการรับวัคซีน หรือรับการรักษาเมื่อมีอาการด้วย"



รวมถึงได้โพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องของอาการและการรักษาโรคหัดว่า



โดยโรคหัด (Measles) คือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย โดยโรคหัดเกิดจากไวรัสกลุ่มพารามิคโซไวรัส (Paramyxovirus) สามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้ผ่านทางอากาศหรือการสัมผัสน้ำมูกและน้ำลายของผู้ป่วยโดยตรง เชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจก่อนแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย โรคหัดถือเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยไม่พบการแพร่เชื้อดังกล่าวในสัตว์ ส่วนใหญ่มักเกิดในเด็กเล็ก รวมทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กแม้จะมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคแล้วก็ตาม



จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัดจากทั่วโลก 134,200 ราย คิดเป็นประมาณ 367 รายต่อวัน หรือ 15 รายต่อชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี สำหรับสถานการณ์โรคหัดในประเทศไทย ตามรายงานของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุขปี 2555-2556 พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคหัดรวมทั้งสิ้น 5,207 คน และ 2,646 คน ในแต่ละปีตามลำดับ โดยเด็กอายุ 9 เดือน-7 ปี จัดเป็นกลุ่มช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคนี้มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 37.03 และ 25.85 ของแต่ละปี ทั้งนี้ยังพบผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 9 เดือน โดยในปี 2555 พบ 19 คน และในปี 2556 พบ 9 คน


อาการของโรคหัด



โดยทั่วไปแล้ว จะเกิดอาการของโรคภายใน 14 วันหลังจากได้รับเชื้อไวรัส  ดังนี้



อาการเป็นไข้ตัวร้อน ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัดในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเริ่มเป็นไข้ประมาณ 10-12 วันหลังได้รับเชื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังมีอาการน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาเยิ้มแดง และมีตุ่มคอพลิค (Koplik Spots) หรือตุ่มแดงที่มีสีขาวเล็ก ๆ ตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม

อาการผื่นขึ้นตามร่างกาย เมื่อผู้ป่วยออกอาการได้ 3-5 วัน จะเกิดผื่นขึ้นตามร่างกาย ซึ่งคล้ายผื่นคันตามผิวหนัง โดยเกิดผื่นแดงหรือสีแดงออกน้ำตาลขึ้นเป็นจุดบนหน้าผากก่อน แล้วค่อยแพร่กระจายมาที่ใบหน้าและลำคอ ภายใน 3 วันจะเกิดผื่นกระจายมาถึงมือและเท้า อาการผื่นคันนี้จะปรากฏอยู่ 3-5 วันและหายไปเอง

สาเหตุของโรคหัด



โรคหัดจัดเป็นโรคติดต่อที่มีโอกาสติดเชื้อได้สูง การติดโรคนั้นเกิดจากการรับเชื้อไวรัสผ่านทางอากาศ จากการสัมผัสละอองน้ำลาย น้ำลาย และน้ำมูกของผู้ป่วย ซึ่งช่วง 4 วันทั้งก่อนและหลังเกิดผื่นนั้นถือเป็นระยะเวลาของการแพร่เชื้อ โดยเชื้อไวรัสจะเข้ามาทางระบบทางเดินหายใจและแพร่ไปทั่วร่างกาย ทำให้ป่วยเป็นโรคหัด โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดมีโอกาสป่วยเป็นโรคหัดหากอยู่ใกล้ผู้ป่วยที่เป็นโรค



ผู้ที่เสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคหัดนั้นมีอยู่หลายกลุ่ม โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคมักเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าว และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงและเสียชีวิตมากที่สุด โดยเเด็กที่ไม่ได้รับสารอาหารจำพวกวิตามินเออย่างเพียงพอจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงและเสียชีวิตได้สูง นอกจากนี้ สตรีมีครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนและได้รับเชื้ออาจเสี่ยงต่อการแท้งบุตรหรือคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอเนื่องจากภูมิต้านทานถูกทำลายอย่างผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ รวมทั้งผู้ที่ขาดสารอาหารนั้น จะป่วยเป็นโรคหัดอย่างรุนแรงเมื่อได้รับเชื้อ



การวินิจฉัยโรคหัด



แพทย์จะวินิจฉัยโรคหัดว่าผู้ป่วยมีอาการผื่นขึ้นและเป็นไข้ร่วมด้วยหรือไม่ และผื่นที่ขึ้นบนผิวหนังนั้นมีลักษณะที่คล้ายโรคหัด (Morbilliform Exanthem) หรือไม่ รวมทั้งพิจารณาอาการอื่น ๆ ที่บ่งชี้โรคหัด ได้แก่ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ ตาแดงแฉะ และเป็นตุ่มคอพลิคสีขาวออกน้ำเงินที่ปรากฏภายในกระพุ้งแก้ม ทั้งนี้ แพทย์อาจเจาะเลือดเพื่อตรวจยืนยันว่าเป็นโรคหัดหรือไม่


การป้องกันโรคหัด



โรคหัดป้องกันได้หากเด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัด (Measles Vaccine) ครบตามกำหนด โดยวัคซีนที่ใช้ฉีดเพื่อป้องกันคือวัคซีน Measles-Mumps-Rubella Vaccine (MMR) ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้ทั้งโรคหัด (Measles) คางทูม (Mumps) และหัดเยอรมัน (Rubella) โดยทารกสามารถรับวัคซีนได้ครั้งแรกเมื่ออายุครบ  9-12 เดือน และรับวัคซีนครั้งต่อไปเมื่ออายุ 4-6 ปี



ส่วนเด็กวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน สามารถรับวัคซีนได้ 2 เข็ม โดยเว้นช่วงการรับวัคซีนแต่ละรอบให้ห่างกันอย่างน้อย 28 วัน อย่างไรก็ตาม การได้รับวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวก็ก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้เช่นกัน โดย 15 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่ได้รับวัคซีนเป็นไข้ 6-12 วันหลังจากได้รับวัคซีน และเด็กอีก 5 เปอร์เซ็นต์มีอาการผื่นขึ้นคล้ายผื่นโรคหัดและหายไปเอง



อย่างไรก็ตาม วัคซีนอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น อาการชัก หูหนวก สมองถูกทำลาย และหมดสติไม่รู้ตัว แต่กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นน้อยมาก นอกจากนี้ พ่อแม่บางรายยังเชื่อว่าวัคซีนโรคหัดก่อให้เกิดโรคออทิสติก (Autism) ในเด็ก แต่งานวิจัยหลายชิ้นก็ได้พิสูจน์แล้วว่าโรคออทิสติกไม่ได้เกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันร่างกายแต่อย่างใด



ทั้งนี้ยังมีวัคซีน Measles-Mumps-Rubella-Varicella Vaccine (MMRV) ซึ่งนอกจากจะป้องกันโรคทั้ง 3 โรคเช่นเดียวกับวัคซีน MMR แล้ว ยังป้องกันโรคอีสุกอีใสด้วย โดยเด็กอายุตั้งแต่ 12 เดือน-12 ปี สามารถรับวัคซีนตัวนี้ได้



การรับวัคซีนนี้ก็มีข้อจำกัดสำหรับบุคคลบางกลุ่ม โดยกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรรับวัคซีนป้องกันโรคหัด ได้แก่ สตรีมีครรภ์ เด็กที่ป่วยเป็นวัณโรค ลูคีเมีย และมะเร็งชนิดอื่น ๆ แล้วยังไม่ได้รับการรักษา ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ และเด็กที่มีประวัติแพ้เจลาตินหรือกลุ่มยาปฏิชีวนะนีโอมัยซิน (Neomycin) อย่างรุนแรง ถึงอย่างนั้น หากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวได้รับเชื้อไวรัสโรคหัดเข้าไปก็สามารถฉีดแอนติบอดี้หรือสารโปรตีนที่มีชื่อว่าอิมมูนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อป้องกันการป่วยได้ ซึ่งต้องฉีดสารดังกล่าวภายใน 6 วันหลังจากที่รับเชื้อ



การรักษาโรคหัด



แม้จะยังไม่มีตัวยาหรือวิธีทางการแพทย์ที่ได้รับการระบุว่าสามารถรักษาและกำจัดเชื้อไวรัสของโรคหัดได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองให้อาการทุเลาลงได้ด้วยการดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว พักผ่อนให้เพียงพอเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย อยู่ในที่แห้งอุณหภูมิพอเหมาะเพื่อลดอาการไอบ่อยและเจ็บคอ และอาจให้วิตามินเอเสริมให้กับร่างกาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดไข้ที่ไม่ใช่ยาแอสไพรินอย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อช่วยลดไข้และบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหัดที่เริ่มมีผื่นขึ้นควรอยู่ในบ้าน ไม่ไปโรงเรียน ทำงาน หรือพบปะผู้คนตามที่สาธารณะเป็นเวลาอย่างน้อย  4 วันหลังจากผื่นเริ่มปรากฏเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปยังผู้คนรอบข้าง



หากทารก เด็ก ผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรค มะเร็ง หรือโรคอื่น ๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอได้รับเชื้อไวรัสโรคหัด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการดูแลอย่างใกล้ชิดทันที ที่สำคัญ ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 12  ปีที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวรับประทานยาแอสไพรินเพื่อลดไข้ เพราะเด็กอาจจะเกิดอาการแพ้ยาที่เรียกว่ากลุ่มอาการราย (Reye’s Syndrome) ซึ่งทำให้ตับและสมองบวม เมื่อเกิดอาการดังกล่าว เด็กจะอาเจียนทันที อ่อนเพลีย หมดความสนใจต่อสิ่งรอบตัว พูดหรือทำอะไรที่แปลกไปจากเดิม และมักนอนซม หากตับและสมองถูกทำลายไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการสับสนมึนงง หายใจหอบเร็ว แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว เกิดอาการชัก และหมดสติ ซึ่งหากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที ก็อาจหายจากอาการได้อย่างปลอดภัย



ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัด



ภาวะแทรกซ้อนของโรคหัดมักเกิดกับทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กที่ขาดสารอาหารและภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ ไปจนถึงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่สุขภาพไม่ดี โดยภาวะแทรกซ้อนมีดังนี้



ภาวะแทรกซ้อนทั่วไป ได้แก่



ท้องเสียและอาเจียน ซึ่งจะนำไปสู่อาการขาดน้ำ

หูชั้นกลางติดเชื้อ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหู

ติดเชื้อที่ตา ก่อให้เกิดอาการตาแดงเยิ้มแฉะ

กล่องเสียงอักเสบ (Laryngitis)

ปอดบวม หลอดลมอักเสบ หรือกลุ่มโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจอักเสบ (Croup) เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจและปอด



ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้แต่ไม่บ่อยนัก



ไวรัสตับอักเสบ

ตาเหล่ หากไวรัสส่งผลกระทบต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อตา

เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือสมองอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อบริเวณเยื่อหุ้มสมองหรือที่สมอง



ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อยมาก



ตาบอด เกิดจากการติดเชื้อที่เส้นประสาทตา ทำให้เกิดโรคประสาทตาอักเสบ (Optic Neuritis) และนำไปสู่ภาวะสูญเสียการมองเห็น

ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและระบบประสาท

ภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้สมองเกิดความผิดปกติ (Subacute Sclerosing Panencephalitis: SSPE) โดยจัดเป็นกรณีที่เกิดน้อยมาก พบผู้เกิดภาวะนี้ได้ 1 ใน 25,000 ราย



กรณีของสตรีมีครรภ์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันโรคหัดและติดเชื้อไวรัสนั้นมีโอกาสเสี่ยงแท้งบุตรหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์และคลอดก่อนกำหนด โดยผู้เป็นแม่จะคลอดก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของอายุครรภ์ ทั้งนี้ ทารกอาจจะมีน้ำหนักตัวเมื่อแรกคลอดน้อย



อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงอาการแทรกซ้อนบางอย่างได้หากรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์และดื่มน้ำอย่างเพียงพอ โดยแพทย์แนะนำให้รักษาอาการขาดน้ำอันเป็นภาวะแทรกซ้อนหนึ่งของโรคหัดด้วยการจิบน้ำผสมผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส (Oral Rehydration Salt) เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับอาการติดเชื้อที่ตา หู และระบบทางเดินหายใจสามารถใช้ยาปฏิชีวนะรักษาได้






คุณอาจสนใจ

Related News