สังคม

สวนสัตว์ขอนแก่นช่วย "นำโชค" ฮิปโปวัย 18 ปี ตัดเขี้ยวให้พบทั้งสองข้างยาวทิ่มเหงือกเคี้ยวลำบาก

โดย taweelap_b

29 ส.ค. 2566

258 views

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 66 เวลา 10.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานที่ สวนสัตว์ขอนแก่น จัดให้นายสัตวแพทย์เข้ารักษาช่องปากของ “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส หลังพบเขี้ยวล่างทั้งสองข้างยาวทิ่มแทงเหงือกบน


สำหรับ “นำโชค” ฮิปโปโปเตมัส เพศผู้ เกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2548 ปัจจุบันอายุ 18 ปี ย้ายมาจากสวนสัตว์นครราชสีมา ในวันที่ 9 เม.ย. 2558 ปัจจุบันสวนสัตว์ขอนแก่น มีฮิปโปโปเตมัส จำนวน 4 ตัว เพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 2 ตัว


ลักษณะของฮิปโปโปเตมัส เป็นสัตว์ที่มีรูปร่างกลมใหญ่เทอะทะ และมีปากกว้างมาก เขี้ยวล่างยาวโค้งเป็นอาวุธสำคัญประจำตัว สังเกตเห็นเส้นขนได้บริเวณรอบปาก และใกล้กับปลายหาง ส่วนลำตัวเมื่อมองดูแล้วคล้ายกับไม่มีขน แต่ที่จริงแล้วลำตัวของฮิปโปโปเตมัส มีขนเส้นที่เล็กมาก ๆ และกระจายอยู่ห่าง ๆ กัน หนังมีความหนา มีต่อมเมือกใต้ผิวหนัง จะผลิตเมือกเหลวออกมา เมื่อโดนแสงแดดจะค่อย ๆ กลายเป็นเมือกสีแดงอ่อนคล้ายเลือด


ทั้งนี้ ฮิปโปโปเตมัส อาศัยในทวีปแอฟริกา อูกันดา ซูลูแลนด์ตอนเหนือ ทรานสวาลล์ เคนยา เซเนกัล อาหารฮิปโปโปเตมัสกินหญ้า พืชน้ำ ใบไม้ ลูกไม้ และพืชผลต่าง ๆ พฤติกรรมชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ปกติชอบอยู่ในน้ำตอนกลางวัน และขึ้นบกมาหากินตอนกลางคืน ทนต่อความหนาวได้ดี ชอบอาศัยอยู่ในน้ำนิ่งหรือน้ำไหลเอื่อย ๆ ปกติไม่ดุ แต่ในช่วงผสมพันธุ์ตัวผู้จะต่อสู้กันอย่างดุร้าย จะดุเวลาตกใจหรือได้รับบาดเจ็บ และแม่ลูกอ่อนจะดุมาก ดำน้ำเก่ง สามารถเดินท่องอยู่ใต้น้ำได้ สถานภาพในปัจจุบันสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์


นายณรงวิทย์ ชดช้อย ผอ.สวนสัตว์ขอนแก่น กล่าวว่า สวนสัตว์ขอนแก่น ได้ตรวจรักษาช่องปากฮิปโปโปเตมัส ชื่อ “นำโชค” เนื่องจากพบว่ากินอาหารน้อยลง เพราะมีเขี้ยวล่างทั้งสองข้างยาว และทิ่มแทงเหงือกด้านบน ทำให้เกิดความเจ็บปวดขณะเคี้ยวอาหาร จึงดำเนินการรักษาด้วยการตัดเขี้ยวตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตัดเขี้ยวด้านล่างซ้าย ความยาว 13 เซนติเมตร ด้านล่างขวาความยาว 11 เซนติเมตร ด้านบนซ้าย ความยาว 4 เซนติเมตร ด้านบนขวา ความยาว 5 เซนติเมตร ซึ่งการปฏิบัติการรักษาดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากนายสัตวแพทย์ จากสถาบันอนุรักษ์และวิจัยสัตว์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว เข้ามาร่วมในการรักษาช่องปากให้ “นำโชค” ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถกลับมายิ้มร่ารับนักท่องเที่ยวที่สวนสัตว์ขอนแก่นอีกครั้ง และในการรักษาช่องปาก “นำโชค” ในครั้งนี้ ยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ทักษะ และประสบการณ์ ในการรักษาให้แก่นายสัตวแพทย์รุ่นใหม่ และนักศึกษาฝึกงานที่เข้ามาเรียนรู้ภายในสวนสัตว์ขอนแก่น ซึ่งเป็นประสบการณ์จริงที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในรั้วมหาวิทยาลัย สวนสัตว์ขอนแก่นจึงอยากจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมความน่ารักของ “นำโชค” พร้อมครอบครัวได้ที่สวนสัตว์ขอนแก่นได้ทุกวัน

คุณอาจสนใจ

Related News