สังคม
"โนเบิล" แจงการใช้ทางเข้า-ออก 3 โครงการ ชอบด้วยกฎหมาย
โดย kanyapak_w
2 ส.ค. 2566
303 views
(2 ส.ค.) นายธงชัย บุศราพันธ์ รองประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม พร้อมด้วยนายธีรพล วรนิธิพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมชี้แจงข้อเท็จจริงผ่านระบบ ZOOM กรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว และ โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา รวม 3 โครงการว่าอาจประสบปัญหาซ้ำรอยกรณี แอชตัน อโศก โดยบริษัทฯ ยืนยันว่า
โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออกจากถนนรัชดาภิเษก ซึ่งเป็นทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยที่ดินเดิมของโครงการฯ มีทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะ แต่ถูกเวนคืนโดย รฟม. ส่งผลให้ที่ดินที่เป็นที่ตั้งโครงการฯ ไม่มีทางเข้า-ออก ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงเห็นชอบที่จะอนุญาตให้ใช้ทางเข้า-ออกของอาคารจอดรถแล้วจรดังกล่าว เป็นทางเข้า-ออกของโครงการฯ ได้ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน โดยไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งการที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวไม่ได้ทำให้วัตถุประสงค์ของการเวนคืนเดิมเสียไปและ รฟม. ยังคงใช้ที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนตามปกติ
โดยอาคารจอดรถของ รฟม. ดังกล่าวได้เปิดใช้งานแก่ประชาชนทั่วไปตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน กรณีนี้จึงเห็นได้ชัดว่า รูปแบบการใช้งานเป็นไปตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด ทางเข้า - ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ซึ่งแตกต่างจากกรณีแอชตันอโศกตรงที่ 1.พื้นที่โครงการเป็นที่ดินตาบอดเนื่องจากรฟม.เวนคืน 2.รฟม. ให้สิทธิ์โนเบิล ในการใช้ทางเข้า-ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย 3. โนเบิลไม่ได้เปลี่ยนแปลงทางเข้าออก ไม่ได้ย้ายที่หรือลดขนาด ที่สำคัญคือทางเข้าออกดังกล่าวยังใช้เป็นทางเข้าออกสาธารณะสำหรับอาคารจอดแล้วจรของรฟม.ให้กับประชาชนทั่วไปด้วย โดยเป็นการอนุญาตให้ใช้ทางดังกล่าวโดยไม่กำหนดระยะเวลา ซึ่งทางโนเบิลไม่ได้จ่ายเป็นค่าเช่า แต่ตามกฎหมายเรียกว่าเป็นค่าใช้ทางและโนเบิลได้ชำระเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งรฟม.ได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความแล้วว่าสามารถดำเนินการได้
ส่วนโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 นั้น ได้ขออนุญาตก่อสร้าง โดยใช้ทางเข้า-ออก จากถนนรัชดาภิเษก ซอย 6 โดยที่ดินเดิมของโครงการฯ ได้ถูกเวนคืนโดย รฟม. บางส่วน เพื่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีศูนย์วัฒนธรรม อาคารจอดรถแล้วจร และลานจอดรถเพิ่มเติม ส่งผลให้ที่ดินโครงการฯ ไม่มีทางเข้าออก ด้วยเหตุนี้ รฟม. จึงชอบที่จะอนุญาตให้ใช้ที่ดินบางส่วน เพื่อวัตถุประสงค์ในการผ่านเข้า-ออกของโครงการฯ เพื่อคงสิทธิในการใช้ทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะที่มีอยู่เดิมโดยชอบก่อนการเวนคืน
โดยไม่มีเงื่อนระยะเวลา ซึ่งการที่ รฟม. อนุญาตให้ใช้ประโยชน์ดังกล่าวเป็นการใช้ตามวัตถุประสงค์เดิมทุกประการ ไม่ได้มีการดัดแปลงรูปแบบการใช้งานที่มีอยู่เดิม ย้ายตำแหน่ง หรือเปลี่ยนแปลงความกว้างของทางเข้า-ออกแต่อย่างใด เพราะแต่เดิม รฟม. ก็ใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้า-ออกของลานจอดรถอยู่แล้ว จึงสามารถกระทำได้ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังได้นำที่ดินอีกส่วนหนึ่งของบริษัทฯ จดทะเบียนเป็นภาระจำยอม เพื่อใช้เป็นทางเข้า-ออก ร่วมกันของโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ด้วย ดังนั้น ทางเข้า - ออกของโครงการจึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว
ทั้งนี้จากกรณีดังกล่าวมีลูกบ้าน ได้สอบถามมา 30 ราย โนเบิลได้ตอบคำถามและส่งหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว และตั้งคอลเซ็นเตอร์ขึ้นมาเฉพาะเพื่อคอยตอบคำถาม โดยพบว่ามีเพียง 1 ราย ที่ขอปรึกษาครอบครัวและทนายความก่อนจะยอมรับข้อมูลที่ทางโนเบิลชี้แจงไป
มองว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อวงการพัฒนาและซื้อขายอาคารชุด ทำให้ผู้บริโภคอาจชะลอการตัดสินซื้ออยู่บ้าง ในส่วนบริษัทเองได้เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับลูกค้า ในส่วนโครงการที่กำลังพัฒนาเพื่อสร้างความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบทเรียนจากครั้งนี้จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเข้ามาทบทวนกฎระเบียบเพื่อสร้างความชัดเจนในแง่การปฎิบัติมากขึ้น และอยากให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความชัดเจนให้กับผู้บริโภคกรณีที่เคสดังกล่าวอาจกระทบกับโครงการอื่น
บริษัทฯ ขอให้ความเชื่อมั่นแก่ลูกค้า และยืนยันว่า โครงการ นิว โนเบิล รัชดา ลาดพร้าว โครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา และโครงการ โนเบิล รีวอลฟ์ รัชดา 2 ได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมาย และได้ดำเนินการก่อสร้างถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ
แท็กที่เกี่ยวข้อง คอนโด ,ลาดพร้าว ,โนเบิล