สังคม

เปิดข้อมูลอีก 1 หน่วยงานรัฐ ถูกอ้างรับส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก

โดย kanyapak_w

30 พ.ค. 2566

834 views

จากกรณีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง กรณีส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกซึ่งได้จัดทำเป็นหลายรูปแบบให้กับผู้ประกอบการ โดยมีตำรวจทางหลวงและกรมการขนส่งที่รับผิดชอบโดยตรงปฎิเสธว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับส่วยดังกล่าว หลังตกเป็นข่าวยังมีอีกหนึ่งหน่วยงานที่กำกับดูแลรถบรรทุกที่มีการรับส่วยจากผู้ประกอบการมีพฤติกรรมไม่ต่างจากสององค์กรแรกที่ถูกกล่าวหาคือ กรมการขนส่งทางบกหลังจากที่มีข่าวเจ้าหน้าที่ได้มีการสั่งการ ให้ผู้ประกอบการที่จ่ายส่วยอยู่แกะสัญลักษณ์หรือสติกเกอร์ ที่มีรูปแบบคือพื้นสีส้ม ตัวหนังสือสีแดงเขียนว่า เจริญภูมิและคนกรุงเก่า ติดอยู่บริเวณกระจกหน้าด้านซ้าย รวมทั้งป้ายชื่อที่ติดอยู่บนกลางรถเป็นป้ายไม้มีชื่อผู้ประกอบการให้แกะออกทั้งหมด

โดยวิธีการของเจ้าหน้าที่กองตรวจการณ์กรมการขนส่งทางบกส่วนกลาง ซึ่งกำกับดูแลพื้นที่ประกอบด้วย ภาคใต้และกาญจนบุรี ตั้งแต่พระราม 2 ถึงแยกวังมะนาว, ภาคตะวันออก ชลบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก บางนา ถึง อ.พานทอง, ภาคตะวันออก ถนนมิตรภาพ ตั้งแต่สระบุรีหินกอง, ภาคเหนือสายเอเชีย สิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา, ส่วนภาคตะวันตก บางเลน สุพรรณบุรี กาญจนบุรี หากพ้นพื้นที่ดังกล่าวไปถือว่าเป็นความรับผิดชอบของขนส่งแต่ละจังหวัด

โดยพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ จะขับรถขององค์กรพร้อมแต่งเครื่องแบบเต็มยศเข้าไปพบผู้ประกอบการก่อนสิ้นเดือน ซึ่งตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ขนส่งสามารถเข้าไปตรวจสอบรถที่ไม่ได้วิ่งและจอดอยู่ตามบริษัทได้ตามอำนาจหน้าที่ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องการต่อภาษีประจำปี และ พ.ร.บ.รถยนต์ ฯ ส่วนควบของรถว่าถูกต้องตามที่ได้มีการจดทะเบียนตั้งแต่แรกหรือไม่ เช่น การตกแต่งรถ สป๊อตไลค์ บังโคลน ท่อใหญ่ผิดปกติ แตรลม และหัวลากและหางลากพ่วง ว่าเลขทะเบียนตรงกันหรือไม่ รวมทั้งกระบะทึบ การติดตั้งตระแกรงเหล็ก เจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะมี 16 ชุด ชุดละ 5-6 คน ในการกำกับดูแลพื้นที่ โดยใน 1 ชุด จะมีผู้ประกอบการในความรับผิดชอบประมาณ 30 บริษัท บริษัทละประมาณ 20 คัน จ่ายส่วย คันละ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน หรือประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่มีมากกว่า 20 คัน จะต้องจ่ายส่วย เดือน 30,000-50,000 บาทต่อเดือน โดยรูปแบบผู้ประกอบการจะจ่ายเป็นซองเงินสด ให้กับเจ้าหน้าที่แล้วไปแบ่งกันตามลำดับชั้นยศ คือ 5,000-10,000บาทต่อเดือน ที่เหลือจะถูกส่งไปยังหัวหน้าฝ่าย และต่อเนื่องไปถึงผู้อำนวยการกองตรวจการณ์

สำหรับพื้นที่ที่กรมการขนส่งทางบกรับผิดชอบ หากตำรวจเห็นสัญลักษณ์หรือสติกเกอร์ดังกล่าวจะไม่ยุ่งเกี่ยว เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่าได้รับสัมปทานจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ในทางกลับกันหากกรมการขนส่งทางบกเห็นสติกเกอร์ของตำรวจที่ดูแลก็จะไม่ก้าวก่ายเช่นกัน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะต้องจ่ายให้หน่วยไหนบ้าง แต่หากผู้ประกอบการรายใดไม่จ่ายรายเดือน ตำรวจพื้นที่หรือตำรวจทางหลวงจะชี้เป้าให้กรมการขนส่งทางบกเรียกผู้ประกอบการนำรถเข้ามาตรวจสอบภายในด่าน ว่าทำผิดกฎหมายหรือไม่

คุณอาจสนใจ

Related News