สังคม

'ซีเซียม-137' ถูกหลอมถลุงเป็นฝุ่นแดง แพทย์ชี้ไอเสียทำลาย DNA ลอยได้ไกล พันกม.

โดย nattachat_c

20 มี.ค. 2566

2K views

จากกรณีบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด เข้าแจ้งความที่ สภ.ศรีมหาโพธิ ว่า วัตถุบรรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 (Cesium-137) ลักษณะเป็นท่อเหล็กกลม นาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 นิ้ว ความยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ได้สูญหายไปจากโรงไฟฟ้าพลังไอน้ำ ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยเข้าแจ้งความวันที่ 10 มีนาคม 2566


ทั้งนี้ แม้จะมีการแจ้งความว่า วัตถุบรรรจุสารกัมมันตรังสี ซีเซียม 137 ได้หายไปในวันที่ 10 มีนาคม 66 แต่ได้มีเผยแพร่ข่าวสารต่อประชาชนในวันที่ 14 มีนาคม 66 เวลา 15.00 น. โดยนายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วย นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) 


ความคืบหน้า วานนี้ (19 มี.ค. 66) เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ปภ.กรมการปกครอง ออกตรวจการปฎิบัติงานการในโรงงานต่างๆ 

  • โรงงานที่ 1 เป็นโรงงานหลอมเหล็กที่ใหญ่ที่สุดมีเตาหลอดจำนวน 8 เตา พบว่าเครื่องตรวจวัด พบค่ารังสีสูงถึง 59.29  แต่ยังไม่สามารถยืนได้ว่าเป็นกัมมันตรังสีซีเซียม 137 หรือไม่ เพราะกองเศษเหล็กมีจำนวนมากอยากแก่การนำเครื่องตรวจวัดเข้าถึงได้
  • โรงงานที่ 2 จากการตรวจสอบยังไม่พบเบาะแสว่าจะพบห่อหุ้มสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 แต่อย่างใด
  • โรงงานที่ 3 จากการตรวจสอบยังไม่พบเบาะแสว่าจะพบห่อหุ้มสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 แต่อย่างใด


ล่าสุด นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ออกมายืนยันว่าทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็ค โรงหลอมแห่งที่ 4 อย่างละเอียด และยืนยันว่าพบสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 ในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่งในตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี โดยทางจังหวัดปราจีนบุรีได้ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงานเพื่อความปลอดภัย


โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี จะทำการแถลงข่าวในวันที่ 20 มี.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องศูนย์การเรียนรู้ ชั้น 4 ศูนย์ราชการจังหวัดปราจีนบุรี

-------------

วานนี้ (19 มี.ค. 66) เวลา 22.00 น. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยทางโทรศัพท์กับทีมข่าวว่า วันนี้เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ปภ.กรมการปกครอง ได้ออกตรวจปฎิบัติงานโรงถลุงเหล็กในพื้นที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 


โดยทีมได้เข้าตรวจสอบโรงถลุงเหล็ก ในพื้นที่ ต.หาดนางแก้ว อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ซึ่งได้เข้าทำการตรวจสอบ 2 รอบ

  • รอบแรก เข้าไปตรวจสอบบริเวณกองเศษเหล็กแต่ไม่พบกล่องเหล็กที่บรรจุสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137
  • รอบสอง นำเครื่องมือเข้าตรวจสอบบริเวณฝุ่นแดง ปรากฎว่า พบสารกัมมันตภาพรังสีซีเซียม 137


สำหรับการถลุงเศษเหล็ก มี 2 กระบวนการ คือ 1.ใช้เตาไฟฟ้า 2.ใช้เตาแม่เหล็กเหนี่ยวนำ ซึ่งกรณีใช้เตาไฟฟ้าถลุงจะได้เป็นฝุ่นแดงออกมาจากกระบวนการถลุงเหล็ก


ส่วนฝุ่นแดงที่พบในโรงถลุงเหล็ก ต.หาดนางแก้ว เจ้าหน้าที่ได้ทำการอายัดไว้ที่โรงถลุงเหล็ก ในส่วนของกรมโรงงานอุตสาหกรรมยังไม่ได้สั่งปิดโรงถลุงเหล็กดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้นิ่งนอนใจ


อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบายว่า สำหรับ ‘ฝุ่นแดง’ คือเมื่อนำเศษเหล็กไปถลุงจะได้น้ำเหล็กออกมา ซึ่งเหล็กจุดหลอมเหลวจะสูงมาก แต่สังกะสีและซีเซียม 137 ที่เป็นสารกัมมันตภาพรังสี จุดเดือดจะต่ำกว่าเหล็ก มันจึงระเหิดกลายเป็นฝุ่นแดง


คาดการณ์ว่า เหล็กสารกัมมันตภาพรังสี ซีเซียม 137 น่าจะถูกถลุงหมดแล้ว เพราะทีมที่ไปตรวจ ไม่พบผลิตภัณฑ์เหล็ก


ลักษณะของการถลุงด้วยเตาไฟฟ้าซึ่งใช้วัตถุดิบเป็นเศษเหล็ก เหล็กส่วนใหญ่จะเคลือบสังกะสี ดังนั้นสังกะสี ซีเซียม ก็จะระเหิดอยู่กับฝุ่นแดง


ขั้นตอนจากนี้ สิ่งที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะดำเนินการคือ ต้องตรวจสอบว่าเมื่อทำการถลุงเศษเหล็กกลายเป็นฝุ่นแดงแล้ว ฝุ่นแดงถูกส่งไปที่ไหนต่อ


ฝุ่นแดงเป็นของเสียจากโรงถลุงเหล็ก ซึ่งอาจถูกส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลในประเทศ หรืออาจส่งออกไปยังต่างประเทศ เพื่อรีไซเคิลเพื่อเอาสังกะสีที่อยู่ในฝุ่นแดงมาใช้ประโยชน์อีก จากรายงานบริษัทดังกล่าวรับซีเซียม 137 มาหลอมถลุงเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แต่ไม่ชัดเจนรับมาจากที่ไหน


ซึ่งกรมโรงงานอุตสาหกรรม ทราบว่าได้ส่งไปยังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งที่ จ.ระยอง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 จำนวน 12 ตัน ในวันนี้ (20 มี.ค. 66) จะส่งเจ้าหน้าที่นำอุปกรณ์ตรวจวัดสารกัมมันตรังสีลงพื้นที่ ไปทำการตรวจสอบที่โรงงานรีไซเคิลดังกล่าวว่า มีฝุ่นแดงหลุดไปถึงที่นั่นหรือไม่


อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่าเมื่อถลุงเป็นน้ำเหล็กแล้วมันจะกระจายไปหมด เข้าใจว่าฝุ่นแดงคงปนเปื้อนด้วยซีเซียม ทั้งหมด เพียงแต่ว่ามีการขนฝุ่นแดงออกจากโรงถลุงเหล็กไปที่อื่นหรือไม่


ส่วนอันตรายจากฝุ่นแดงและสารกัมมันตภาพรังสี ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ได้รับ ถ้าไม่สัมผัสตลอดเวลาคงจะไม่ได้รับผลอะไร


อย่างไรก็ตาม เหล็กที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ไม่ควรหลุดรอดออกมา ไม่แน่ใจว่าเป็นความผิดพลาดของโรงงานหรือไม่


อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อหมดอายุแล้ว

1.เก็บไว้จนกระทั่งสลายตัวด้วยธรรมชาติเอง

2.ส่งกลับผู้ผลิต ซึ่งสารกัมมันตรังสี จะสลายตัวครึ่งชีวิตของมัน (กรณีซีเซียม 137 นี้มีอายุ 30 ปี)


โดยปกติ ซีเซียม 137 ประเทศเราผลิตเองไม่ได้ ต้องนำเข้ามา กฎหมายที่ใช้ควบคุมดูแลสารกัมมันตภาพรังสีเป็นกฎหมายเฉพาะ มีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ดูแล ตั้งแต่การนำเข้ามา ขึ้นทะเบียนอุปกรณ์ นำไปใช้ที่ไหน เมื่อเลิกใช้แล้ว กากที่เหลือจะนำไปกำจัดอย่างไร


เรื่องนี้คงต้องหารือกัน ไม่ให้มีการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี ในส่วนกฎหมายของโรงงานเราดูแลความปลอดภัยทั้งหมดก็จริง แต่เรื่องของกัมมันตภาพรังสี มีกฎหมายเฉพาะ กฎหมายเขียนชัด ถ้าเข้าข่ายเป็นกากกัมมันตภาพรังสี ให้เป็นไปตามระเบียบ พ.ร.บ. ปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งต้องเข้ามาควบคุม

-------------

นพ. สมรส พงศ์ละไม ได้โพสต์เฟซบุ๊กผ่านเพจ Somros MD Phonglamai ว่า 


ถ้า Cesium-137 ถูกหลอมเผาไหม้และกลายเป็นไอ สามารถออกไปได้เป็นหลักร้อยถึงพันกิโลเมตรขึ้นกับลม (เหตุการณ์ที่ Chernobyl พบว่า Cesium-137 ปลิวไปถึงสวีเดน 1,000 กิโลเมตร) และทำร้ายสิ่งมีชีวิตได้ทั้งการสัมผัสโดยตรง การกิน และการหายใจ


Cesium-137 จะสะสมในดิน น้ำ อาหาร ทำให้เกิดผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ ปลา นก ไก่ หมู หมา แมว วัว ฯลฯ อนุภาคบีต้าและรังสีแกมมา จะทำลาย DNA, ทำให้เกิด mutation ถ้าไม่ตายก็เกิดมะเร็งต่อ โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์


Cesium 137 มีค่าครึ่งชีวิต 30 ปี ดังนั้นจะใช้เวลาในธรรมาชาติไม่ต่ำกว่า 100 ปีจึงจะสลายหมด คนที่จะได้รับผลกระทบน่าจะหลายแสนและเป็น 100 ปี จะมีคนเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวและไธรอยด์เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในพื้นที่เสี่ยง


คนที่คิดว่าเสี่ยงต่อการสัมผัส Cesium-137 ควรเฝ้าระวังเร่งด่วน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ผิวหนังไหม้โดยไม่ทราบสาเหตุ


รัฐควรเก็บบันทึกข้อมูลอย่างโปร่งใส มีโอกาสที่คนจะสัมผัสปริมาณมาก ยิ่งคนที่อยู่ใกล้ในระยะ 5-10 เมตร น่าจะอันตรายมาก (ไม่รู้ว่าระยะจริงที่ปลอดภัยเท่าไหร่ เพราะขึ้นกับความเข้มข้นที่เหลืออยู่และ shield ที่ป้องกัน)


รอการประกาศเร่งด่วนอย่างเป็นทางการและโปร่งใสจากหน่วยงานของรัฐอีกทีพรุ่งนี้นะครับ


หมายเหตุ: ข้อมูลเบื้องต้นที่ค้นเอง และ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านปรมาณูนะครับ

-------------
รศ.ดร.วีระชัย พุทธวงศ์ อาจารย์สาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงสารกัมตรังสี ‘ซีเซียม-137’ ว่า


ถ้าหากสารตัวนี้ถูกหลอมแล้วจะเกิดอันตรายอย่างมาก โดยได้ยกตัวอย่างกรณีของอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนปิล และการระเบิดของปรมาณู และสามารถเดินทางในอากาศได้เป็นระยะทางไกลมาก


หลังจากสะสมบนดินในรูปของสารกัมมันตภาพรังสีแล้ว สารกัมมันตภาพรังสีจะเคลื่อนที่และแพร่กระจายได้ง่ายในสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารประกอบทางเคมีที่พบมากที่สุดของซีเซียม ซึ่งเป็นเกลือ สามารถละลายน้ำได้สูง แต่ที่พบในประเทศไทยมีปริมาณที่บรรจุภายในกล่องมีปริมาณที่ไม่มากเท่ากับโรงไฟฟ้า แต่มีปริมาณเพียงพอที่จะทำให้เกิดมะเร็งในคนได้


ซึ่งสารตัวนี้จุดเดือดค่อนข้างต่ำที่ 671 °C (1,240 °F) และระเหยได้ง่ายหากนำเข้าเตาหลอมก็จะเปลี่ยนแปลงสภาพจากผงเป็นไอความร้อน เมื่อไอเหล่านี้ปล่อยออกมาอย่างกะทันหันจ ะเกิดการกระจายในสิ่งแวดล้อม ซึ่งความรุนแรงนี้จะมีความอันตรายเทียบเท่าการสัมผัสโดยตรง ทำให้มือหงิก มืองอ


จุดความเข้มข้นสูงที่สุดคือในโรงหลอม หากหลุดออกมาภายนอก ก็จะทำให้เกิดการเจือจางลง แต่ก็จะทำให้เกิดมะเร็ง
-------------

วานนี้ (19 มี.ค. 66) ทีมข่าวช่อง 3 ได้โทรถาม อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ว่า จะเกิดอะไรอันตรายขึ้นหรือไม่ ถ้า ‘ซีเซียม-137’ มันถูกหลอมไปแล้ว !?


โดย อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ตอบว่า คร่าวๆ คือ ตอบได้ยากครับ ว่าจะเกิดอันตรายอะไรบ้างเพราะมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง (ทั้งปริมาณของสาร และลักษณะการหลอมโลหะ) ... ที่น่าจะตอบได้คือ มันไม่น่าจะเกิดเหตุระเบิด แบบระเบิดนิวเคลียร์ พลูโตเนียม-ยูเรเนียม อะไรทำนองนั้นขึ้น ไม่น่าจะห่วงในเรื่องนี้


และเมื่อซีเซียม-137 ถูกเผาหลอมรวมตัวกับโลหะอื่นๆ เสร็จแล้ว จนกลายเป็น "โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี" นั้น ก็บอกได้ยาก ว่าจะยังคงมีความสามารถในการสลายตัวให้รังสีเบต้าและรังสีแกมม่า มากเท่าเดิมหรือไม่ (ต้องให้ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ หรือ ปส. เอาเครื่องวัดรังสีมาตรวจ)


แต่ที่น่าห่วงคือ การหลอมโลหะก็ย่อมจะเกิดการประทุของวัสดุที่เอามาเข้าเตาหลอม ซึ่งสามารถที่จะปลดปล่อยตัวสารซีเซียม-137 นั้นให้กระเด็นฟุ้งกระจายออกมาจากเตาหลอม สู่ผู้คนที่อยู่โดยรอบในโรงงานจนเกิดอันตรายจากการรับเข้าไปในร่างกาย (เช่น ผ่านทางการหายใจ หรือการสัมผัส หรือเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า)


สถานการณ์ที่หนักที่สุด ที่เป็นไปได้คือ เถ้าเขม่าควันที่ออกจากเตาเผาขึ้นปล่องไฟไป อาจจะนำพาเอาสารซีเซียม-137 ล่องลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศ (หรือทำให้เกิด radioactive  cloud เมฆกัมมันตรังสี ) และไปร่วงหล่นเป็น fallout หรือฝุ่งผงรังสี ไปทั่วบริเวณที่กระแสลมพาไป เป็นอันตรายต่อผู้ที่สัมผัสหรือสูดดม และถ้ามีการปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ก็จะยิ่งมีอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและการนำน้ำไปใช้อุปโภคบริโภค


.... ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้เคยเกิดมาแล้วในต่างประเทศ เช่น ที่ประเทศสเปน (ดูด้านล่าง) และกลายเป็นวิกฤตินิวเคลียร์ครั้งใหญ่ ที่ควบคุมแทบไม่ได้ เลยทีเดียวครับ


อ่านข้อมูลข่าวต่างๆ เพิ่มเติมด้านล่างนี้


1. รายงานข่าวล่าสุด ยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็กแห่งหนึ่ง เป็นวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม 137 สภาพถูกบีบอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยม กองซ้อนกันเป็นชั้นสูง เตรียมหลอมตามรอบช่วงเย็น เคราะห์ดีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือตรวจจับรังสีได้ทันเวลา หวิดเกิดโศกนาฏกรรม


- วันนี้ 19 มี.ค.66 เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ป.ส.) พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปราจีนบุรี , กรมการปกครอง ออกตรวจการปฏิบัติงานในเขตอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี  ตรวจโรงหลอมเหล็ก ที่คาดว่าอาจจะเป็นจุดที่สารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ถูกขายเป็นของเก่า ปนมากับเหล็กที่จะเข้ามาได้


- ได้มีการใช้เครื่องมือของ ป.ส. เข้าตรวจวัดสแกนหารังสีตามกองเศษเหล็ก รวมทั้งเหล็กที่ถูกบีบอัดที่จะเข้าเตาหลอมบางจุด ขณะกำลังตรวจสอบพบว่า เครื่องตรวจวัดอาจจะเจอกับสารบางอย่าง แต่ไม่ระบุชนิด หรือเป็นสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’ ทำให้เจ้าหน้าที่ ป.ส. เข้าตรวจสอบ โดยขณะตรวจพบอย่างละเอียด ยังไม่ยืนยันว่าเป็นสารกัมมันตรังสีซีเซียม 137 หรือไม่ เพราะกองเศษเหล็กมีจำนวนมาก ยากแก่การนำเครื่องตรวจวัดเข้าถึงได้ นอกจากนี้ ยังตรวจตะกอนจากเตาหลอมรวมทั้งเศษดินภายในโรงงาน พบว่ามีสารกัมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’


- ล่าสุด ทางสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติได้ตรวจเช็คอย่างละเอียด และยืนยันว่า สารที่พบในโรงหลอมเหล็ก เป็นวัสดุกัมมมันตรังสี ‘ซีเซียม 137’  ทางจังหวัดปราจีนบุรีได้ประกาศปิดโรงงาน และกันพื้นที่ไม่ให้พนักงานทั้งหมดออกจากโรงงานเพื่อความปลอดภัย


2. เหตุการณ์วิกฤติระทึก ที่ซีเซียม-137 ซึ่งถูกเก็บไว้ในภาชนะโลหะ แล้วอาจจะถูกนำไปปะปนกับโลหะเก่าและถูกนำไปหลอม จนอาจทำให้เกิด "โลหะผสมที่มีกัมมันตภาพรังสี" ได้เช่นนี้ เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศมาก่อนแล้ว (ข้อมูลจาก https://www.nst.or.th/article/article54/article54-004.html)


- ดังเช่น ในปี ค.ศ. 1988 เกิดอุบัติเหตุขึ้นที่ทางตอนใต้ของประเทศสเปน เมื่อบริษัท Acerinox ซึ่งดำเนินกิจการรีไซเคิ้ลแปรรูปของเก่า ได้พลาดทำการหลอมซีเซียม-137 ที่มาจากเครื่องกำเนิดรังสีแกมมา ทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในรูปของ "radioactive cloud เมฆกัมมันตรังสี" (ดูรายละเอียดในข้อ 3.)


- และ ในปี ค.ศ. 2009 บริษัทปูนซีเมนต์ของประเทศจีน ในจังหวัด Shaanxi ได้รื้อโรงงานผลิตซีเมนต์เก่าที่เลิกใช้แล้ว โดยไม่ได้ดำเนินการตามมาตรฐานการปฏิบัติงานกับสารรังสี ทำให้ซีเซียม-137 บางส่วนที่ใช้ในเครื่องมือตรวจวัดซีเมนต์ ถูกส่งไปหลอมรวมไปกับโลหะที่ไม่ใช้แล้ว 8 คันรถที่โรงงานหลอมเหล็ก


3. อุบัติเหตุ เอเซอริน็อกซ์ (Acerinox accident)


- บริษัท Acerinox ของสเปน เป็นบริษัทที่ผลิตเหล็กชนิดสเตนเลสสตีล โดยในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1998 เกิดเหตุการที่สาร cesium-137 ได้หลุดปนเข้าไปอยู่ในโรงงานแปรรูปเศษเหล็ก ที่อยู่ในเมือง Los Barrios ทั้งที่โรงงานดังกล่าวมีเครื่องมือในการตรวจจับวัตถุที่อาจเป็นอันตราย แต่ก็ยังมีสารซีเซียม-137 ผ่านเข้าไปได้และถูกหลอมในเตาเผาหนึ่งของโรงงาน


- จากนั้น ได้เกิด "เมฆกัมมันตรังสี radioactive cloud" ขึ้น และถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโดยทันที ซึ่งไม่โดนตรวจจับได้จากเครื่องตรวจวัดที่ปล่องไฟของโรงงานนั้น แต่ประเทศอื่นๆ อย่าง ฝรั่งเศส เยอรมันนี ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ และอิตาลี กลับตรวจพบได้  โดยขี้เถ้าที่โรงงานนี้สร้างขึ้น ถูกพบว่ามีระดับของกัมมันตภาพรังสีสูงมาเพียงพอที่จะเป็นอันตรายได้ โดยมีระบบความเข้มข้นของรังสีสูงขึ้นจากปรกติถึง 1 พันเท่า


- มีคนงาน 6 คนในโรงงานดังกล่าวที่ได้รับอันตรายจากการปนเปื้อนของซีเซียม-137 เพียงเล็กน้อย โรงงานได้ถูกปิดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดกำจัดการปนเปื้อน รวมไปถึงโรงงานอื่นๆ อีก 2 โรง ที่รับเอาของเสียจากโรงงานนี้ไป


- อุบัติเหตุนี้ทำให้เกิดน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี มากถึง 40 ลูกบาศก์เมตร มีเถ้ากัมมันตรังสีเกิดขึ้นถึง 2 พันตัน และมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ปนเปื้อนอีก 150 ตัน โดยมูลค่าของกระบวนการในการทำความสะอาด รวมถึงความสูญเสียการผลิตของโรงงานไป นั้นสูงถึง 26 ล้านเหรียญสหรัฐ (ณ ขณะนั้น)

---------------




แท็กที่เกี่ยวข้อง  ซีเซียม 137 ,อำเภอศรีมหาโพธิ ,ปราจีนบุรี ,อำเภอกบินทร์บุรี ,เมฆกัมมันตรังสี ,สภ.ศรีมหโพธิ ,Cesium-137 ,วัตถุบรรรจุสารกัมมันตรังสี ,สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ,ตำบลท่าตูม ,อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ,กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ,นพ. สมรส พงศ์ละไม ,รศ.ดร.วีระชัย พุทธวงศ์ ,อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์

คุณอาจสนใจ

Related News