สังคม

วิกฤตฝุ่นพิษ! ยอดป่วยพุ่ง ไม่ใช่แค่โรคทางเดินหายใจ 'หมอนิธิพัฒน์' ให้คำแนะนำ ท่อง "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"

โดย petchpawee_k

9 มี.ค. 2566

38 views

วานนี้ ( 8 มี.ค.) สถานการณ์หมอกควัน ในหลายพื้นที่ในประเทศยังวิกฤติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ  อีสาน รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล 


จ.เชียงใหม่ - ประสบปัญหาหมอกควันพิษ อย่างหนักกระทบต่อสุขภาพประชาชน  จนแพทย์ต้องออกมาให้คำแนะสำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ฟุ้งกระจายในอากาศ เกินค่ามาตรฐาน ควรสวมหน้ากากอนามัย N 95 หากอยู่กลางแจ้งและสวมเป็นเวลานาน หากรู้สึกอึดอัด ควรถอดทุก 1 ชั่วโมง ให้อากาศถ่ายเทสักครู่ และสวมใหม่ ส่วนหน้ากากอนามัยทั่วไป ให้สวมใส่ 2 ชั้น ก็ช่วยได้ถึงร้อยละ 60 ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจ และโรคปอดเรื้อรัง ไม่แนะนำให้ใช้หน้ากาก N 95


ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชน มีผู้นำท้องถิ่น อำเภอแห่งหนึ่ง ไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ที่ประกาศห้ามเผาในพื้นที่โล่งแจ้งทุกชนิด ไปจนถึง 30 เม.ย. 2566 แต่ทุกวันจะมีการสุมไฟ จนเกิดกลุ่มควันจำนวนมาก เพื่อไล่แมลงให้กับวัวควายที่เลี้ยงไว้ ไปห้ามชาวบ้านห้ามเผา แต่กลับเผาเอง ซึ่งถือว่ามีความผิด ชาวบ้านสามารถนำภาพถ่ายมาร้องเรียนได้

จ.ลำปาง – มีภาพมุมสูง พบว่าบรรยากาศปกคลุมไปด้วยหมอกควัน โดยเฉพาะเขตชุมชนกลางเมืองลำปาง ในเขตเทศบาลนครลำปาง ที่พบว่าเกินค่ามาตรฐานทุกจุดวัด  

จ.นครพนม - ถานการณ์หมอกควันอากาศเป็นพิษ ยังวิกฤติ ในช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา ล่าสุดจากการตรวจวัดคุณภาพอากาศของสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครพนม พบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ อำเภอชายแดน อ.เมือง อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน และ อ.ธาตุพนม มีค่าสูงประมาณ 180 -200 ไมโครกรัม / ลูกบาศก์เมตร  ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ส่วนสาเหตุมาจากการเผาป่าพื้นที่การเกษตร ในพื้นที่อำเภอต่างๆ รวมถึงพื้นที่ชายแดน ประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว บวกกับสภาพอากาศร้อนอบอ้าว แห้งแล้ว ทำให้เกิดกลุ่มหมอกควันพิษปกคลุม

จ.เลย - พบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่า 113 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังพบปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) มีค่า 151 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กด้านการแพทย์และสาธารณสุข ประจำวันที่ 8 มี.ค. 2566 พบพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เกิน 51 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ซึ่งเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ติดต่อกันเกิน 3 วัน จำนวน 15 จังหวัด


“ค่าฝุ่น PM 2.5 ปีนี้สูงกว่าปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปี 2564 และ 2565 เป็นช่วงที่มีสถานการณ์โควิด 19 การเดินทางน้อย ทำให้มีค่าฝุ่นน้อย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ วันที่ 9-14 มี.ค. 2566 โดยกรมควบคุมมลพิษ พื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากมีลมทางใต้ช่วยพัดพาฝุ่นละอองออกจากพื้นที่ ส่วนภาคเหนือตอนบนและตอนล่างยังมีแนวโน้มสูงขึ้น”  นพ.โอภาสกล่าว

นพ.โอภาสกล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน สถานการณ์ฝุ่นจะค่อยๆ ลดลง คาดว่าจะยังมีปัญหาอยู่อีก 1-2 สัปดาห์ จึงต้องเฝ้าระวังในกลุ่มเสี่ยง ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีโรคทางปอดและหัวใจ รวมถึงเด็กเล็ก ซึ่งจากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 5 มี.ค. 2566 พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย

โดยสัปดาห์นี้พบผู้ป่วย 196,311 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่พบ 161,839 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 85,910 ราย, กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย เพิ่มขึ้น 35,878 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย เพิ่มขึ้น 36,537 ราย และโรคหัวใจ หลอดเลือดและสมอง 208,880 ราย เพิ่มขึ้น 33,413 ราย

ขณะที่ นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล โพสต์ข้อความระบุว่า เมื่อประชาชนที่ควรจะเป็นใหญ่ แต่กลุ่มคนที่ไปเป็นใหญ่เขายังไม่ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พวกเราต้องหันมาดูแลตัวเองเพื่อลดความสูญเสียไปชั่วคราวก่อน พอถึงอีกสองเดือนข้างหน้า จะมีวันหนึ่งเรียกว่าวันเลือกตั้งทั่วไป จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่าพรรคการเมืองยกยอให้ประชาชนเป็นใหญ่ได้หนึ่งวัน หลังจากนั้นเขาคงถีบหัวเราส่งเช่นเคย แต่พวกเราสามารถรวมตัวกันเปลี่ยนชะตากรรมนี้ได้ เหมือนการดูแลตัวเองในสถานการณ์วิกฤตฝุ่น PM2.5 ดังนี้

หมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศจากแหล่งข้อมูลของรัฐและเอกชน หรือใช้เครื่องวัดปริมาณฝุ่นแบบพกพา เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสม

เมื่อค่า PM2.5 ในขณะนั้น (ค่ารายชั่วโมง) ขึ้นสูงเกินเกณฑ์ คือ

1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา

3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคารซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงานไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที

ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคารควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมอจะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง หลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการออกกำลังกายกลางแจ้งตามระดับเตือนภัยในข้อ 2. การออกกำลังกายในร่มควรจัดให้มีระบบระบายและฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM2.5 ที่เล็ดรอดเข้ากระแสเลือด ออกไปทางไตในรูปของปัสสาวะได้มากขึ้น

การกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยลดการทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้

การอยู่ในบริเวณที่มีพืชใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น

ถึงตรงนี้คงต้องท่องคาถา ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน จะไปหวังข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำที่ใส่เกียร์ว่างรอเลือกตั้ง คงสะบักสะบอมหนักกันไปเสียก่อน ดูคล้ายนักเตะทีมปิศาจแดงที่ถูกกล่าวหาว่าใส่เกียร์ว่างจนโดนคู่ปรับตลอดกาลถล่มยับ แต่ถ้ามองอย่างใจเป็นธรรม พวกเขาคงเหนื่อยล้าต่อเนื่องและต้องแบกรับความคาดหวังสูง ไม่เหมือนนักการเมืองไทยที่ระริกระรี้ทันทีเมื่อเสียงปี่กลองเลือกตั้งเริ่มดังขึ้น


ส่วนอีกโพสต์ คุณหมอระบุว่า หลัง call out ให้พวกมีอำนาจหันมาสนใจ ทั้งที่รู้ว่าเขาสนใจเรื่องอื่นกันมากกว่า ได้ทบทวนข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติม พบบทความเรื่องผลของ PM2.5 ต่อทารกในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก ยิ่งตอกย้ำความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดีกว่าการย้ำกรอกหูประชาชนให้ “ดูแลตนเอง”

จากการติดตามเด็กอนุบาลจำนวน 115,023 คน จาก 551 เมืองในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM2.5 ที่สูงตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก สัมพันธ์กับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับฝุ่นที่สูงในช่วงอายุ 0-3 ปีจะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา ความผิดปกติที่เกิดขึ้นทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน เด็กที่แรกคลอดไม่แข็งแรงต้องเข้าไอซียูจะพบความผิดปกติได้มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ เด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย (คิดเอาเองว่าอาจได้รับ PM2.5 เพิ่มทางน้ำนมแม่)

ในฐานะหมอโรคปอดและหมอโรคจากการนอนหลับ สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวนโดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน อาจทำให้พัฒนาการทางสมองถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วย ว่าแต่จะมีใคร “รู้หน้าที่” ทำเพื่ออนาคตเยาวชนของชาติเราบ้าง

ต่อมาคุณหมอได้โพสต์อีกว่า มีการศึกษาชิ้นสำคัญ เผยแพร่ในวารสารของสมาคมหัวใจแห่งอเมริกา ฉบับที่ออกตรงกับวันวาเลนไทน์ปีนี้พอดี คณะผู้วิจัยได้นำเสนอข้อมูลที่รวบรวมมาจาก 30 จังหวัดในประเทศจีน ระหว่างปี 2557-2560 ซึ่งมีเด็กทารกที่คลอดในช่วงเวลานั้นจำนวน 1,434,998 คน พบเกิดโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด 7,335 คน  จึงได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณ PM2.5 ที่แม่ของทารกดังกล่าวได้รับเข้าไปในช่วงที่อุ้มท้อง ระหว่างกลุ่มที่ทารกปกติกับกลุ่มที่ทารกมีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด

พบว่าค่าเฉลี่ย PM2.5 ที่บรรดาเหล่าคุณแม่กลุ่มนี้ได้รับเฉลี่ยในหนึ่งปีคือ 56.51 (อยู่ในช่วงตั้งแต่ 10.95 - 182.13) ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือว่าสูงมากที่เดียว โดยทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรที่ปริมาณฝุ่นสูงขึ้น จะพบโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดเพิ่มขึ้น 2% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทผนังกั้นห้องหัวใจมีรูรั่ว คำนวณเป็นความเสี่ยงได้ 1.04 เท่า สำหรับผลร้ายของฝุ่นต่อหัวใจทารกนี้จะพบมากขึ้น ถ้าแม่ได้รับฝุ่นเข้าไปมากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิสนธิ นอกจากนี้แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี และแม่ที่มีฐานะยากจน จะพบความเสี่ยงนี้ได้มากขึ้น  

การตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่สร้างความปิติให้กับทุกผู้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าแม่ผู้อุ้มท้องไม่สามารถหลีกเลี่ยงมลพิษจากฝุ่น PM2.5 ได้ ผลลัพธ์อาจไม่สวยหรูอย่างที่ได้รับการรุมล้อมคาดหวัง

สำหรับแม่ที่ไม่มีฐานะเพียงพอจะจัดหาระบบฟอกและระบายอากาศในที่พักซึ่งมีประสิทธิภาพดี เป็นหน้าที่ของหน่วยงานปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ต้องจัดทำ "ศูนย์พักคอยฝุ่นชุมชน" เหมือนช่วงโควิด เพียงแต่วิกฤตฝุ่นมีผู้ได้รับผลกระทบมากกว่าโควิดหลายเท่า


รับชมทางยูทูบที่ : https://youtu.be/GorWCyXBgRQ

คุณอาจสนใจ

Related News