สังคม

ม.หอการค้าไทย เผย ปชช.ยกเรื่อง ทุจริตคอรัปชัน ของนักการเมือง-พรรคการเมืองไทย ในการเลือกตั้ง 66 เป็นข้อกังวลอันดับแรก

โดย kanyapak_w

8 มี.ค. 2566

43 views

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมูลนิธิเพื่อคนไทย เผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองและนักการเมืองไทยในการเลือกตั้ง 2566 จากการสำรวจ 2,255 ตัวอย่างทั่วประเทศ ซึ่ง 82% ของกลุ่มตัวอย่างเคยเลือกตั้งมาก่อนหน้านี้



โดยส่วนใหญ่ 41% มองว่าพรรคการเมืองควรจะประกาศนโยบายที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับงบประมาณ รองลงมา 33% เป็นนโยบายกว้างๆ และ 26% เป็นนโยบายที่ระบุกระบวนการตรวจสอบที่สามารถตรวจสอบได้จริง



สำหรับปัญหาสำคัญของประเทศที่ต้องแก้ไขมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน 25%, การศึกษา 14% และ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 13% ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่ากลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ถึง 19 ปี ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ รองจากกลุ่มอายุ 40 ถึง 49 ปี



ทั้งนี้ส่วนใหญ่ 67% ของตัวอย่างมองว่านโยบายต่อต้านคอร์รัปชันของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองมีผลมากต่อการตัดสินใจลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2566 เพราะต้องการพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่มีความชัดเจนต่อนโนยบายต่อต้านคอร์รัปชันและปฏิบัติได้จริง โปร่งใส สุจริตในการดำเนินงาน สามารถตรวจสอบได้ ช่วยแก้ไขวัฒนธรรมการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ และต้องการให้ประเทศพัฒนาขึ้นในทุกด้าน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีสัดส่วนใกล้เคียงกับกลุ่มค้าขายและนักธุรกิจ ส่วน 3%ของตัวอย่างที่เห็นว่าไม่มีผลเลยเพราะเลือกคนที่ชอบ และคิดว่าเป็นเพียงแค่คำโฆษณาไม่น่าเชื่อถือไม่สามารถทำได้จริง พร้อมพิจารณานโยบายอื่นๆร่วมด้วย รวมถึงเลือกพรรคที่ชอบ



อีกทั้ง 79.3% ของตัวอย่างเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองควรจะเสนอนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นนโยบายหลัก โดยมาตรการหรือนโยบายที่รัฐบาลควรให้ ความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชัน 3 ลำดับแรก คือ 19.1% ต้องเปิดเผยข้อมูลสาธารณะให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย , 17.9% รับฟังเสียงประชาชน ปกป้องและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน , 17.8% สนับสนุนให้องค์กรตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระ



ส่วนปัญหาคอร์รัปชัน สามลำดับแรกที่ส่งผลเสียและต้องการให้รัฐบาลเร่งจัดการ คือ 23.9% ปัญหาทุจริตในระบบราชการ , 21.6% กระบวนการยุติธรรม ซึ่งในส่วนนี้ยอมรับว่า ต้องเพิ่มโทษให้เข้มข้น จะเห็นจากกรณีคนมีฐานะสามารถหนีคดีไปต่างประเทศได้ และในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มี 100 คดี เกี่ยวกับทุจริตที่อัยการไม่สั่งฟ้อง และให้ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง ซึ่ง 80% ป.ป.ช. ยื่นฟ้องแล้วชนะ , 11.8% คือเรื่องเงินบริจาคแก่สถาบันและศาสนา



สำหรับปัญหาคอร์รัปชันที่รัฐบาลใหม่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม 3 ลำดับแรก คือ 18% ควบคุม จัดการ สมาชิกในรัฐบาลและสมาชิกพรรคการเมืองเสียงข้างมากร่วมรัฐบาลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอรัปชัน, 16.7% เปิดเผยข้อมูลเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์, 12.4% นโยบายรับประโยชน์ทับซ้อนและการเอื้อประโยชน์พวกพ้อง



ทั้งนี้ผลสำรวจเกี่ยวกับปัญหาคอรัปชั่นในการเลือกตั้งครั้งนี้แตกต่างจากผลสำรวจในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งก่อนหน้าอย่างเห็นได้ชัด คือ ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องคอรัปชันเป็นอันดับหนึ่ง จากผลสำรวจในการเลือกตั้งครั้งก่อนให้อยู่อันดับ 3 โดยมีเรื่องปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจเป็นอันดับ 1 ส่วนเรื่องการศึกษายังคงเป็นอันดับ 2 เช่นเดิม และที่สำคัญพบว่า 83.6% ของกลุ่มตัวอย่างบอกว่าหากพรรคการเมืองไม่มีนโยบายการต่อต้านการทุจริต คอรัปชัน ก็จะไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นเลย และ 86.2% บอกว่าหากนักการเมืองให้เงินซื้อเสียงก็จะไม่เลือกเลยเช่นกัน ซึ่งจากการหาเสียงของพรรคการเมืองในปัจจุบันพบว่ามีเพียงสามพรรคที่พูดเรื่องนี้แต่เป็นการพูดลอยๆ ยังไม่มีรายละเอียด ที่ชัดเจน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่าง ส่วนใหญ่ 42% มองว่าการนำ เทคโนโลยีดิจิทอลมาใช้จะสามารถลดการทุจริตคอรัปชันได้มาก



พร้อมกันนี้เห็นตรงกันว่านักการเมืองและพรรคการเมืองคือกลุ่มที่ทุจริตคอรัปชันมากที่สุด แม้ว่ากระบวนการจะอยู่ในเรื่องของ ระเบียบข้าราชการแต่เป็นเพราะนักการเมืองเข้ามาบริหารจัดการ จึงเป็นต้นตอหลักของปัญหา



ส่วนการเคลื่อนไหวของทุกภาคส่วนรวมไปถึงบุคคลที่มีชื่อเสียงในการเปิดเผยปัญหา รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเช่นการอัดเสียงการถ่ายคลิป ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถือเป็นแรงกระตุ้นสำคัญให้กลุ่มตัวอย่างและประชาชนยกปัญหา นี้เป็นอันดับหนึ่ง



คุณอาจสนใจ

Related News