สังคม
เจออย่าทิ้ง! รองผู้ว่าฯ ยันมะขามขึ้นรากินได้ วิจัยพบสารต้านอนุมูลอิสระ 1 พันเท่า
โดย taweelap_b
6 ก.พ. 2566
214 views
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 66 ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่เวทีกลางงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ประชาชน ร่วมประมูลมะขามหวานที่ชนะการประกวด ในงานมะขามหวานนครบาลเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566 ซึ่งการประมูลในครั้งนี้ สืบเนื่องจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้จัดประกวดมะขามหวาน จำนวน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ศรีชมภู / พันธุ์ขันตี / พันธุ์สีทอง / พันธุ์ประกายทอง และพันธุ์อื่น ๆ และนำมะขามหวาน 5 สายพันธุ์ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ มาคัดเลือก เป็นสุดยอดมะขามหวานจังเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566
จังหวัดเพชรบูรณ์โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้นำมะขามหวาน จากสวนที่ชนะเลิศการประกวด มาจัดประมูลเพื่อหารายได้มอบให้สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ นำไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล โดยมีจำนวน 8 กระเช้าพิเศษ กระเช้าละ 1 กิโลกรัม ประกอบด้วย มะขามหวานจากสวนที่ชนะเลิศการประกวดมะขามหวาน ปี 2566 ทั้ง 5 สายพันธุ์ มะขามหวานจากสวนที่ชนะสุดยอดมะขามหวาน ปี 2564 และ 2565 และ มะขามหวานจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรขี้นาคแผนใหม่ โดยมีราคาเริ่มต้นประมูลที่กิโลกรัมละ 1,500 บาท สรุปการประมูลในครั้งนี้ มียอดการประมูลรวมทั้งสิ้น 60,500 บาท
ที่น่าสนใจคือ นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ชนะการประมูลมะขามหวานพันธุ์ สีทอง ในราคากิโลกรัมละ 16,000 บาท ของ นายอภิวรรธน์ ขีดวัน เกษตรกร ต.ห้วยใหญ่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ที่ชนะเลิศการประกวดมะขามหวานพันธุ์สีทอง และยังได้รับคัดเลือกเป็นสุดยอดมะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ ประจำปี 2566
เนื่องในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ชิมมะขามหวานที่ขึ้นราโชว์ ว่ามะขามที่แกะออกมาแล้วพบเชื้อราสีขาวนั้น สามารถรับประทานได้ หากพบอย่าทิ้ง มีงานวิจัยรองรับ
ดร.จินตนา สนามชัยสกุล ข้าราชการบำนาญมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า ภาควิชาชีวภาพได้เก็บตัวอย่างเชื้อราจากมะขามหวานทั่วจังหวัดเพชรบูรณ์ นำมาเพาะเลี้ยงและแยกเชื้อออกมา พบว่าเชื้อราที่เด่นและสำคัญ เป็นเชื้อราขาว ที่เรียกว่า ราน้ำตาล มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Peatalotiopsis sydowiana มีการส่งไปวิเคราะห์ที่ ศูนย์เทคโนโลยีไบโอเทคที่กรุงเทพฯ และมีการวิเคราะห์ว่าเชื้อราตัวนี้มีสารพิษ สามารถรับประทานได้หรือไม่ ซึ่งมีรายงานกลับมาว่าเป็นกลุ่มเชื้อราที่ไม่สร้างสารพิษ ซึ่งสามารถรับประทานได้โดยไม่เป็นพิษกับร่างกาย
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ว่าราชนิดนี้ มีประโยชน์หรือไม่ พบว่ามะขามหวานที่เป็นเชื้อรา จะมีสารต้านอนุมูลอิสระ มากกว่ามะขามที่ไม่เป็นเชื้อรา 1,000 เท่า ซึ่งมีตัวเลขยืนยันในงานวิจัย นอกจากนี้ เชื้อราตัวนี้ยังทำให้มะขามหวานมีรสชาติหวานขึ้น เนื่องจากเชื้อราไปลดปริมาณกรดทาร์ทาริก ที่มีรสเปรี้ยวให้ลดน้อยลง ทำให้มะขามหวานมีแต่ปริมาณน้ำตาล