สังคม

บังคับใช้จริง! ศาลสั่งเฝ้าระวังผู้พ้นโทษ คดีทำร้ายร่างกาย ประเดิมติดกำไลอีเอ็มรายแรก

โดย petchpawee_k

31 ม.ค. 2566

11 views

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2566 นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เผยว่า ศาลจังหวัดลำพูนมีคำสั่งกำหนดใช้มาตรการเฝ้าระวัง ติดกำไล EM นักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ตามพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 จำนวน 1 ราย พบประวัติและพฤติกรรมเสี่ยงกระทำความผิดซ้ำเกินกว่าระดับกลางค่อนไปทางสูง


อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า ภายหลังคณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ได้เสนอรายงานและความเห็นต่อพนักงานอัยการจังหวัดลำพูนใช้มาตรการเฝ้าระวังตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 เพื่อพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลให้กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดรายหนึ่งที่ครบกำหนดพ้นโทษออกจากเรือนจำจังหวัดลำพูน ในวันที่ 28 ม.ค. 2566 เพื่อป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ


หลังพบประวัติเคยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสและกระทำความผิดฐานอื่น โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเมาสุรา รวมทั้งมีอาการทางจิต ซึ่งเคยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง อีกทั้งขณะจำคุกยังเคยก่อเหตุทำร้ายร่างกายนักโทษคนอื่น


ล่าสุด ศาลจังหวัดลำพูน จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดรายดังกล่าวภายหลังพ้นโทษให้อยู่ภายใต้การดูแลของพนักงานคุมประพฤติ และกำหนดมาตรการต่างๆ ประกอบด้วย



    1. ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหายและครอบครัวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันปล่อยตัว

    2. ห้ามออกนอกประเทศเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันได้รับการปล่อยตัว

    3. ห้ามก่ออันตรายในละแวกชุมชนที่พักอาศัย

    4. เมื่อได้รับการปล่อยตัวให้พักอาศัยที่บ้านเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันได้รับการปล่อยตัว

    5. รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี ตามวันและเวลาที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด

    6. ให้มาพบหรือรับการตรวจรักษาจากแพทย์หรือแพทย์ที่พนักงานคุมประพฤติกำหนดเป็นเวลา 1 ปี โดยให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องที่โรงพยาบาลหรือแพทย์อนุญาตให้เข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิ และให้รายงานผลการรักษาทางการแพทย์ต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างต่อเนื่อง

    7. แจ้งพนักงานคุมประพฤติทราบถึงการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นโทษ และ

    8. ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันพ้นโทษ เพื่อติดตามพฤติกรรม



อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดลำพูน เพื่อติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานคุมประพฤติตามคำสั่งของศาลอย่างใกล้ชิด ขณะนี้ ได้ติดกำไล EM ให้นักโทษเด็ดขาดรายดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ประสานทางโทรศัพท์แจ้งให้ผู้เสียหายทราบแล้ว เพื่อให้ผู้เสียหายได้ทราบว่าผู้ที่เคยก่อเหตุพ้นโทษจากเรือนจำแล้ว เป็นการแจ้งเตือนเพื่อป้องกันอีกทางหนึ่ง โดยพนักงานคุมประพฤติได้กำหนดรัศมีในการห้ามเข้าใกล้บ้านของผู้เสียหายในรัศมี 1 กิโลเมตร หากผู้พ้นโทษเข้าไปในระยะดังกล่าวกำไล EM จะสั่นเตือนให้เจ้าตัวทราบ อีกทั้งแจ้งเตือนไปยังศูนย์ JSOC และพนักงานคุมประพฤติในพื้นที่ให้ทราบโดยทันที ซึ่งสามารถประสานหน่วยงานภาคีเครือข่ายช่วยกันป้องกันเหตุให้ทันต่อเหตุการณ์ เพื่อความปลอดภัยของผู้เสียหายและสังคม นอกจากนี้ พนักงานคุมประพฤติ จะต้องทำรายงานการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษเสนอศาลทุก 6 เดือนต่อไป



อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวเสริมว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการใส่กำไล EM กับบุคคลพ้นโทษตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สังคมมีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ ทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาสอดส่อง เฝ้าระวังการก่ออาชญากรรม เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยแก่พี่น้องประชาชน



รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/EV_MurRF0Sc

คุณอาจสนใจ

Related News