สังคม

กรมคุมประพฤติ พบ 'ทักษิณ' แจ้งเงื่อนไขพักโทษ ไม่มีข้อห้ามทำงานการเมือง

โดย panisa_p

23 ก.พ. 2567

36 views

กรมคุมประพฤติ เข้าพบ 'ทักษิณ' ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า แจงขั้นตอนพักโทษ ย้ำชัดไม่มีข้อห้าม หากนายทักษิณจะไปนั่งบอร์ดกรรมการ ที่ปรึกษาทางการเมือง 


พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางผู้บริหารที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ซึ่งเป็นสำนักงานที่เป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่เขตดังกล่าว โดยได้เดินทางเข้าพบนายทักษิณ ชินวัตร และผู้อุปการะ พร้อมกับแจ้งเงื่อนไขข้อกำหนดการพักโทษ และนัดหมายรายงานตัวในครั้งถัดไป


โดยการรายงานตัว จะนัดหมายทุกเดือน ซึ่งครั้งถัดไป คือ เดือนมีนาคม แต่หากนายทักษิณยังคงอยู่ระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว หรือการตรวจรักษากับแพทย์ ทางเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ จะต้องประสานติดต่อกับผู้อุปการะว่าสะดวกให้เข้าพบในวันเวลาใด หรือถ้ายังไม่สะดวกในเดือนนั้นๆ ก็สามารถแจ้งเลื่อนได้ โดยในแต่ละเดือนสามารถขยับวันเวลาบวกลบได้ แค่ต้องไม่เกินปฏิทินในเดือนนั้น


แต่ถ้ามีอาการดีขึ้น และสามารถเดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่คุมประพฤติด้วยตัวเอง ก็สามารถเดินทางไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติกรุงเทพมหานคร 1 ถนนพรานนก แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ และหากรายงานตัวครบ 4 เดือน ครั้งถัดไปก็สามารถลดหย่อนได้ เป็น 2 เดือนค่อยรายงานตัวได้ ซึ่งก็เป็นไปตามเกณฑ์ที่ถูกใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติรายอื่นๆ


ส่วนคุณสมบัติของผู้อุปการะผู้ได้รับการพักโทษ พ.ต.ท.มนตรี ระบุว่า ผู้อุปการะไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ครอบครองทะเบียนบ้านของสถานพักโทษ แต่ต้องเป็นบุคคลที่สามารถให้หลักประกันแก่กรมคุมประพฤติได้ มีสถานะ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งในพื้นที่ กทม. เจ้าหน้าที่คุมประพฤติสามารถติดต่อได้สะดวก สำหรับข้อกำหนด ข้อห้ามระหว่างการพักโทษ คือ "5 ให้ 5 ห้าม"


5 ให้ คือ

1.ให้รายงานตัวกับกรมคุมประพฤติภายใน 3 วัน

2.ให้อยู่ในความดูแลของผู้อุปการะ

3.ให้ปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบแบบแผน หากฝ่าฝืนหรือมีปัญหาใดให้ผู้ถูกคุมความประพฤติรายงานให้ผู้คุมประพฤติรับทราบ ส่วนการจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ผู้คุมประพฤติจะตรวจสอบและวินิจฉัย หากผิดเงื่อนไขก็ต้องส่งตัวกลับเข้าเรือนจำฯ

4.ให้ประกอบอาชีพสุจริต ถ้าเปลี่ยนอาชีพก็ต้องแจ้งผู้คุมประพฤติรับทราบ

5.ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของพนักงานคุมประพฤติ



5 ห้าม คือ

1.ห้ามออกนอกเขตจังหวัด หากมีกิจธุระจำเป็นต้องแจ้งผู้คุมประพฤติเพื่อขออนุญาต และต้องแจ้งกำหนดเวลาการไป-กลับ อยู่ยาวเป็นเดือนไม่ได้

2.ห้ามประพฤติเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนันหรือดื่มสุราจนมีอาการมึนเมาจนก่อให้เกิดความเสียหาย ส่วนจะดื่มไวน์หรือไปสังสรรค์เล็กน้อยไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สังคมสามารถทำได้

3.ห้ามเกี่ยวข้องกับสารระเหยหรือยาเสพติด

4.ห้ามไปเยี่ยมผู้ต้องขังอื่นที่ถูกคุมขังภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน

5.ห้ามคบค้าสมาคมกับผู้ที่จะนำไปสู่การกระทำความผิดซ้ำ


เมื่อถามว่าการไปดำรงตำแหน่งนั่งบอร์ดกรรมการ หรือไปเป็นที่ปรึกษาในทางการเมืองสามารถ ทำได้ในระหว่างการพักโทษหรือไม่ พ.ต.ท.มนตรี อธิบายว่า ขออธิบายตามหลักการของกรมคุมประพฤติ ต้องดูที่เงื่อนไขที่คณะกรรมการพักโทษกำหนดมา ถ้าเงื่อนไขไม่มีห้าม ก็สามารถไปได้ หากเป็นอาชีพสุจริตก็สามารถทำได้


แต่สิ่งสำคัญคือต้องไปดูว่าบอร์ดกรรมการนั้น ๆ หรือตำแหน่งที่ปรึกษาในทางการเมืองนั้นๆ มีการกำหนดคุณสมบัติ หรือกำหนดข้อห้ามอะไรใดหรือไม่ เช่น มีข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดมาดำรงตำแหน่ง เป็นต้น เหมือนกับกรณีที่บุคคลใดจะไปสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ก็จะมีข้อห้ามกำหนดไว้ว่าต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาของศาลมาก่อน เพราะฉะนั้น ในระหว่างการพักโทษ จึงยังไม่มีการห้ามในเรื่องของงานทางการเมือง เพราะอย่างไรแล้วผู้ได้รับการพักโทษ เมื่อพ้นโทษก็จะได้ใช้ชีวิตปกติ และมีสิทธิในฐานะคนไทยตามรัฐธรรมนูญทุกประการ


ส่วนเรื่องการติดกำไล EM ในส่วนของผู้ได้รับการพักโทษแบบปกติ จะต้องติดกำไล EM เกือบทุกราย ยกเว้นมีอาการเจ็บป่วยหนัก หรือต้องเอกซเรย์จากการประสบอุบัติเหตุ หรือมีความจำเป็นต้องถอดออก เพื่อการรักษาพยาบาล กรมคุมประพฤติก็จะทำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการพักการลงโทษเพื่อถอดกำไล EM ให้ได้ ส่วนผู้ได้รับการพักโทษแบบกรณีมีเหตุพิเศษฯ ถ้าเจ็บป่วยและสูงอายุจะเข้าเงื่อนไขยกเว้นให้ไม่ต้องติดกำไล EM ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการพักการลงโทษได้กำหนดไว้

คุณอาจสนใจ

Related News