สังคม

‘หนุ่ม อนุวัต’ ร้องกองปราบ ถูกแอบอ้างเป็นพรีเซนเตอร์แอปเงินกู้ ลวงเหยื่อนับร้อย

โดย thichaphat_d

27 ม.ค. 2566

43 views

หนุ่ม อนุวัต ผู้ประกาศข่าวดัง ร้องตำรวจ สอท. ถูกมิจฉาชีพนำคลิปและรูปภาพ ไปแฝงในแอปเงินกู้ออนไลน์ หลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ พบมีเหยื่อกว่าร้อยคน บางรายเครียดอยากฆ่าตัวตาย


วานนี้ (26 ม.ค.) หนุ่ม-อนุวัต เฟื่องทองแดง ผู้ประกาศข่าว พร้อมด้วย ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อ พลตำรวจโทวรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. หลังหนุ่ม อนุวัต ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำรูปภาพและวีดีโอไปใช้ในการหลอกเพื่อกู้ยืมเงินสินเชื่อออนไลน์ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อตกเป็นเหยื่อหลายร้อยคน

หนุ่ม อนุวัต เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสียหายที่ถูกหลอก อินบอกซ์เข้ามาหาตนเกือบทุกวัน จนถึงตอนนี้รวบรวมผู้เสียหายได้กว่าหลายร้อยราย สาเหตุเนื่องมาจากชาวบ้านเข้าใจว่าตนเป็นพรีเซนเตอร์ของแอปกู้เงินหลอกลวงเหล่านี้ เลยทำให้ชาวบ้านเชื่อถือและหลงเชื่อว่าตนเป็นพรีเซนเตอร์จริง จึงตกเป็นเหยื่อให้แก่แก๊งมิจฉาชีพเหล่านี้

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ตนทำคลิปเล่าข่าวแจ้งเตือนประชาชน เกี่ยวกับกลุ่มเงินกู้นอกระบบและให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีแพลตฟอร์มสินเชื่อแบบใหม่ที่ชื่อว่า "ไชโยสินเชื่อ" ซึ่งเป็นเครือข่าวอยู่ภายใต้ธนาคารแห่งหนึ่ง แล้วโพสต์ลงหน้าเพจส่วนตัว ปรากฎว่าแก๊งมิจฉาชีพได้นำคลิปข่าวของตนไปตัดต่ออย่างแนบเนียน และแอบอ้างเป็นแพลตฟอร์มสินเชื่อที่ใช้ชื่อเดียวกันว่า "ไชโย แคปปิตอล" พร้อมกับนำรูปภาพของตนไปตัดต่อเป็นพรีเซนเตอร์ของแพลตฟอร์มนี้ ทั้งที่ตนไม่เคยรู้จักและมีส่วนเกี่ยวข้องมาก่อน จนทำให้คนหลงเชื่อ

โดยมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จะยิงโฆษณาไปตามสื่อโซเชียลต่าง ๆ มีการทำเป็นขบวนการทั้งมีเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูล และเสนอวงเงินให้กู้ถึงหลักแสนบาท ซึ่งเมื่อผู้เสียหายหลงเชื่อก็จะถูกให้ทำตามขั้นตอนที่มิจฉาชีพวางไว้ เช่น ส่งเอกสารประจำตัว ทั้งสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดธนาคาร จากนั้นมิจฉาชีพก็จะอ้างว่า ระบบมีปัญหาต้องให้ผู้เสียหายโอนเงินไปเพิ่มเพื่อปลดล็อคระบบ

และผู้เสียหายบางคนถูกหลอกเพิ่มอีก ว่าตรวจสอบแล้วพบประวัติว่ามีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องโอนเงินเพิ่มเพื่อปลดล็อคข้อมูล โดยพบว่า มีผู้เสียหายสูญเงินมากที่สุดถึงกว่า 1 ล้านบาท 2 หมื่นบาท จนผู้เสียหายรายนี้ เครียดมากถึงอยากฆ่าตัวตาย ส่วนข้อมูลของบริษัทไชโยที่แอบอ้างนั้น ตามที่ตนไปสืบดูพบว่า เป็นบริษัทที่ไม่มีอยู่จริง และสำนักงานใหญ่ที่มีการระบุอ้างก็เป็นเพียงบ้านร้างแห่งหนึ่งในกรุงเทพ เท่านั้น จึงแนะนำว่า ทางบริษัทไชโยตัวจริงที่อยู่ในเครือธนาคารแห่งหนึ่งก็ควรมาแจ้งความร้องทุกข์ด้วยว่าบริษัทตนถูกแอบอ้างด้วย

ทนายรณณรงค์ เปิดเผยว่ามาแจ้งความให้ดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) และมาตรา 16 ที่ว่าด้วยการนำข้อมูลเท็จเข้าสู่ระบบอันเป็นการหลอกลวงประชาชนและตัดต่อให้ผู้อื่นเสียหาย และจะขอให้ทางตำรวจ สอท. ดำเนินการปิดแพลตฟอร์มเว็บเพจและไลน์มิจฉาชีพพวกนี้

ขณะที่ พลตำรวจโทวรวัฒน์เปิดเผยว่า คดีลักษณะนี้จะติดตามตัวผู้ก่อเหตุได้ยาก เพราะฐานข้อมูลจะอยู่ต่างประเทศ โดยหลังจากนี้จะเร่งสอบปากคำผู้เสียหาย เพื่อรวบรวมหลักฐาน และฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อเงินกู้ออนไลน์ลักษณะนี้ และควรที่จะตรวจสอบกับธนาคารแห่งประเทศไทยก่อน ที่จะทำธุรกรรม

รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/uZX22PzIrbU

คุณอาจสนใจ

Related News