สังคม

จับตา 'โอมิครอน' กลายพันธุ์ BA.4 – BA.5 ในไทย หลังยุโรปพบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น

โดย petchpawee_k

22 มิ.ย. 2565

51 views

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2565 ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์  หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงสายพันธุ์โควิด19 ว่า จากฐานข้อมูลโควิดโลก หรือ GISAID มีรายงานในประเทศแถบยุโรปและแอฟริกาใต้พบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น โดย BA.5 พบการกลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิมอู่ฮั่น มากที่สุดประมาณ เกือบ 90 ตำแหน่ง ส่วน  BA.4 พบการกลายพันธุ์ต่างไปสายพันธุ์ดั้งเดิมประมาณ 80ตำแหน่ง



ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาฯ เผยข้อมูลเฝ้าระวังโควิดโอมิครอน พบสายพันธุ์ย่อย BA.5 และ BA.4 เพิ่มมากขึ้น การกลายพันธุ์เพิ่ม ก่อเกิดความเสี่ยงอาจหลบภูมิคุ้มกัน และแพร่ระบาดในอนาคต ขณะนี้พบติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกส รักษาใน รพ.เพิ่มกว่า 80% ส่วนใหญ่ประเทศแถบยุโรป ขณะที่ไทยมีรายงาน 26 คน  เตือนคนไทยระวัง ขอให้ปฏิบัติมาตรการเข้มส่วนบุคคล สวมแมสก์ เว้นระยะห่าง ไม่อยู่ในที่แออัด


หมอวสันต์ กล่าวว่า การกลายพันธุ์มากขึ้นก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงที่จะหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันและอาจจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกได้ในอนาคต แต่อาการจะรุนแรงมากหรือไม่ยังต้องติดตามข้อมูลผู้ติดเชื้อเข้ารักษาใน รพ.มีอาการรุนแรงแค่ไหน แต่ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในโปรตุเกสที่เข้ารักษาในรพ.เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยอังกฤษ ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยี่ยม สเปน อิตาลี เดนมาร์ก ส่วนใหญ่เป็นประเทศแถบยุโรปเกือบทั้งหมดที่เริ่มเห็นสัญญาณผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้า รพ.เพิ่มขึ้น  


ที่น่ากังวลคือผลการทดลองในสัตว์ทดลองเบื้องต้นบ่งชี้ว่า BA.4 และBA.5 เพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ปอด อันอาจจะก่อให้เกิดการติดเชื้อปอดอักเสบขึ้นได้ในมนุษย์ ซึ่งต่างไปจากโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1และ BA.2 ซึ่งเพิ่มจำนวนได้ดีในเซลล์ของเยื่อบุระบบทางเดินหายใจส่วนบน ไม่ลงมาแพร่ติดต่อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างที่ปอด


อย่างไรก็ตาม เป็นการทดลองในสัตว์ทดลอง ยังต้องติดตามข้อมูล แต่ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าเริ่มกลับระบาดแล้วในยุโรปและแอฟริกาใต้ แต่จะรุนแรงหรือไม่ยังต้องรอประเมินหน้างานจากผู้ป่วยที่เข้ารพ.


ขณะนี้บางประเทศในยุโรปมีการยกระดับการเตือนภัยแล้ว โดยเฉพาะที่โปรตุเกสหน่วยควบคุมโรคของยุโรปได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องระมัดระวัง แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่ได้ยกระดับให้ BA.4และBA.5 เป็นสายพันธุ์น่ากังวลใจ




รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/5pqzQPj0-Zc

คุณอาจสนใจ

Related News