สังคม

ศูนย์จีโนมฯเผย โอมิครอน 'BA.4 - BA.5 - BA.2.12.1' กลายพันธุ์คล้ายเดลตา ทำลายปอด

โดย thichaphat_d

9 พ.ค. 2565

193 views

วานนี้ (วันที่ 8 พ.ค.) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยที่ต้องจับตา โดยระบุว่า การกลายพันธุ์บนสายจีโนมของไวรัสโคโรนา 2019 บริเวณยีนที่สร้างหนาม (Spike gene) ณ. ตำแหน่ง 452 อาจเป็นปัจจัยสำคัญทำให้โอไมครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, และ BA.2.12.1 มีความสามารถที่จะแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น และมีคุณสมบัติในการเชื่อมต่อผนังเซลล์ (ปอด) จากหลายเซลล์เข้ามาเป็นเซลล์เดียว ก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอดได้เช่นเดียวกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในอดีต


จากการถอดรหัสพันธุกรรม พบการเปลี่ยนแปลงบริเวณส่วนหนามตำแหน่งที่ 452 จากกรดอะมิโนลิวซีน (L) เปลี่ยนมาเป็นอาร์จีนีน (R) หรือ กลูตามีน (Q) ทำให้ส่วนหนามมีคุณสมบัติที่สามารถเชื่อมต่อผนังเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียง หลอมรวมเป็นเซลล์เดียว ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่ไประหว่างเซลล์ต่อเซลล์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องออกมานอกเซลล์ที่สุ่มเสี่ยงจะถูกจับและทำลายด้วยแอนติบอดี ที่ถูกสร้างในร่างกายผู้เคยติดเชื้อตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน  


เซลล์ปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่หลอมหลวมรวมเป็นเซลล์เดียว จะเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ โดยภายในเซลล์มีหลายนิวเคลียส ดีเอ็นเอภายในเซลล์ดังกล่าวถูกทำลายแตกหัก ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายผู้ติดเชื้อมองเป็นสิ่งแปลกปลอมและเข้ามาทำลายเซลล์ที่มีหลายนิวเคลียสเหล่านั้น เกิดการอักเสบลุกลาม เกิดเป็นปอดบวม ซึ่งอาจทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้


ศูนย์จีโนมฯ ยังระบุว่า สายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์ของหนามเป็น R452 ก่อให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง จากอาการปอดอักเสบ จากการหลอมหลวมของเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามารวมเป็นเซลล์เดียวกัน ตรงกันข้ามกับสายพันธุ์โอมิครอนดั้งเดิม (B.1.1529) เช่น BA.1,  BA.1.1 และ BA.2 ไม่มีการกลายพันธุ์ กรดอะมิโนยังคงเป็น L452 สอดคล้องกับอาการทางคลินิกของโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมที่อาการไม่รุนแรง สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะไม่เกิดในเซลล์ปอดที่ติดเชื้อ


แต่ที่น่ากังวล คือ ทั้งไวรัส “BA.4” และ “BA.5” ที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้เฝ้าระวังเพราะกำลังมีการระบาดในประเทศแอฟริกาใต้ กลับมีการกลายพันธุ์เป็น R452  ส่วนไวรัส BA.2.12.1 ที่ระบาดในสหรัฐอเมริกา ก็มีการกลายพันธุ์เป็น Q452 กลับไปเหมือนกับสายพันธุ์เดลตา คือ สามารถก่อให้เกิดเซลล์ติดเชื้อหลายเซลล์เข้ามาหลอมรวมเป็นเซลล์เดียวกัน


ดังนั้น มีแนวโน้มที่โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5, BA.2.12.1 อาจจะมีการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่ง WHO และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกำลังเฝ้าติดตามอาการทางคลินิกจากการติดเชื้อ BA.4, BA.5 และ BA.2.12.1 จากประเทศแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกาใน 2-4  สัปดาห์จากนี้ โดยข้อมูลอัปเดตล่าสุดพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลของ 2 ประเทศ เริ่มเพิ่มขึ้นแล้ว แต่อัตราผู้เสียชีวิตยังคงเดิม
--------------

นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน พูดถึงกรณีประเทศไทยเตรียมปรับโรคโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า


แม้ขณะนี้ ผู้ป่วยมีแนวโน้มลดลง แต่ต้องพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่า ผู้ติดเชื้อที่ลดลงเป็นเพราะไม่ได้ตรวจหรือลดลงจริง ผู้เสียชีวิตที่ลดลงเป็นเพราะมีการแยกผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ออกจากผู้เสียชีวิตที่มีการติดโควิด 19 ร่วมด้วย หรือไม่


หากตามเกณฑ์การเป็นโรคประจำถิ่นจะต้องมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 0.1% ขณะที่ไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ราว 8,000 รายต่อวัน ก็น่าจะต้องมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 8 รายต่อวัน ขณะนี้ยังมีราว 50 รายต่อวัน


คุณอาจสนใจ

Related News