สังคม

'หมอนิธิพัฒน์' เผยเคส 'ลองโควิด' อาจมีปัญหาเรื่องความจำ สมองไม่โปร่งเหมือนเดิม

โดย thichaphat_d

10 มี.ค. 2565

392 views

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ข้อความเกี่ยวกับ อาการของผู้ป่วย ลองโควิด สองราย โดยระบุว่า


ตัวเลขรวมรายวันดูนิ่งแบบลง แต่ตัวเลขวิกฤตยังไปต่อช้าๆ ต้องรอให้แน่ใจว่าเพราะตรวจยืนยันและเข้าข่ายน้อยกว่าจริงหรือเปล่า สัปดาห์ก่อนตรวจผู้ป่วยลองโควิดสองราย หายกันมากว่าหกเดือนหลงเหลืออาการเด่นทางระบบประสาท


รายแรกเป็นชาย เดิมเป็นนักธุรกิจวัยกลางคนที่แข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว รูปร่างสมส่วน ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และไม่ใช้สารเสพติด ป่วยเป็นโควิดเข้าโรงพยาบาลนาน 14 วัน อาการไม่รุนแรง ใช้ออกซิเจนแค่สองสามวัน


หลังกลับไปบ้านเขารู้สึกว่าสมองไม่โปร่งโล่งเหมือนเดิม สมาธิและความจำไม่ดี และนอนหลับได้ไม่สนิท เท่าที่ซักประวัติและตรวจร่างกายทำการประเมินขั้นต้น ยังไม่พบความผิดปกติทางร่างกายที่จะอธิบายอาการต่างๆ ได้ดี กำลังอยู่ในระหว่างนัดตรวจการนอนหลับ ในระหว่างนี้แนะนำให้เขาพยายามฟื้นฟูร่างกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องกังวลว่าจะมีโรคหรือความผิดปกติอะไรที่น่ากลัว ในระหว่างรอผลตรวจจะพยายามไปค้นคว้าหาคำตอบมาพูดคุยและหาทางช่วยเหลือ


รายที่สองเป็นหญิงวัยกลางคนเช่นกัน เป็นข้าราชการระดับสูง ป่วยไม่รุนแรง หายแล้วไม่มีปัญหาการใช้สมองและนอนหลับ ที่ทรมานคือเจ็บปลายประสาท (neuralgia) บริเวณครึ่งล่างของลำตัว ทำกายภาพบำบัดและใช้ยาบรรเทาอาการหลายอย่างแต่ยังไม่ดีขึ้น ได้ตรวจประเมินเช่นรายแรกไม่พบความผิดปกติทางกาย จึงให้คำแนะนำและความมั่นใจ (advice and reassure) ว่าเวลาอีกสองสามเดือนข้างหน้าจะช่วยเยียวยาเขาทั้งสอง ขอเพียงแต่ต้องปรับตัวเพื่ออยู่กับลองโควิด แล้วเราจะพิชิตเขาในที่สุด


ทีมนักวิจัยจากอิตาลี ได้ทำการติดตามอาการทางสมองและจิตใจของผู้ป่วย 49 คน อายุอยู่ที่ราว 60 ปี ทั้งหมดมีอาการของโควิดจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงมาก มีที่ต้องเข้าไอซียูเพียงสองสามคน เมื่อหายจากโรคใหม่ๆ 53% จะมีปัญหาเรื่องความจำ และ 28% มีปัญหาทางด้านจิตใจ ในรายที่เกิดปอดอักเสบรุนแรงมักจะพบปัญหาการใช้สมองเชิงบริหารตามมา ซึ่งเมื่อนำไปตรวจสมองด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะพบความผิดปกติในบางหย่อมของสมองที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิงบริหารและการคิดคำที่จะใช้พูด


รายที่มีปัญหาจมูกไม่รับกลิ่นลิ้นไม่รับรสในช่วงแรก เมื่อหายแล้วจะพบความจำผิดปกติได้มากขึ้น สำหรับการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จะพบความผิดปกติได้บ่อยในช่วงสองเดือนแรก และเมื่อติดตามไปถึง 10 เดือน ความผิดปกติจะค่อยหมดไปเช่นเดียวกับปัญหาเรื่องความจำที่ฟื้นตัวกลับมา


รับชมผ่านยูทูปได้ที่ : https://youtu.be/irvTB-NMeD4

คุณอาจสนใจ

Related News