สังคม

สธ. สรุปใช้ Rapid Antigen Test เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น

โดย panisa_p

12 ก.ค. 2564

631 views

ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติครั้งที่ 7 กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดแถลงข่าว โดยนายอนุทินได้กล่าวถึง สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพบอย่างต่อเนื่องและมีการแพร่ระบาด กระจายไปยังพื้นที่ต่างจังหวัด ทั้งนี้ พบมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายไปหลายจังหวัดโดยเฉพาะจังหวัดที่มีสถานประกอบการโรงงาน ตลาดค้าส่ง โดยคาดการณ์ว่าอาจพบผู้ติดเชื้อสูงถึงระดับ 1 หมื่นรายต่อวันหรือประมาณ 1 แสนกว่ารายภายในสองสัปดาห์นี้ และทำให้เกิดอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มมากขึ้น


จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เช่น ห้ามการรวมกลุ่มบุคคลมากกว่าห้าคน การจำกัดการเดินทางข้ามจังหวัด ลดจำนวนขนส่งสาธารณะข้ามจังหวัดระยะไกล ปิดสถานที่เสี่ยงและให้มีการเวิร์คฟอร์มโฮมของพนักงานภาคเอกชนและภาครัฐให้มากที่สุด เพื่อลดโอกาสการสัมผัสโรค ลดการเคลื่อนย้ายและการดำเนินกิจกรรมของบุคคลให้มากที่สุด


รวมถึงมีการปรับแผนการฉีดวัคซีน โดยจะระดมให้กับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงผู้มีโรคประจำตัวเจ็ดโรค โดยมีการตั้งเป้าฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1,000,000 คนภายในสองสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ซึ่งมีการระบาดรุนแรง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ เพื่อสร้างให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในกลุ่มประชากรผู้สูงอายุมากเกิน ร้อยละ 80 จนถึงขณะนี้ ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้วมากถึง 12 ล้านโดส แต่พบในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งเป้าไว้ยังได้รับวัคซีนไม่ครบตามจำนวน จึงมีความจำเป็นต้องเร่งให้กลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนตามระยะเวลา


ส่วนการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติวันนี้มีมติการประชุมสี่เรื่อง คือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบให้สามารถฉีดวัคซีน โควิด-19 ต่างชนิดโดยเข็มที่หนึ่งเป็นซิโนแวคและเข็มที่สองเป็นเอสตราเซเนกาได้ กำหนดให้ระยะเวลาห่างกันสามถึงสี่สัปดาห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลต้า โดยจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสในระดับที่สูงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โรงพยาบาลต่าง ๆ สามารถดำเนินการได้ทันทีเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อบุคลากรทางการแพทย์บุคลากรด่านหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย


เรื่องที่ 2 ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอการฉีดวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือบูสเตอร์โดส สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้าโดยการให้วัคซีนเข็มที่สามห่างจากเข็มสองในระยะตั้งแต่สามถึงสี่สัปดาห์ขึ้นไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนสองเข็มแรกเกินสี่สัปดาห์แล้วดังนั้นสามารถดำเนินการฉีดกระตุ้นบสธเตอร์โดสโดยทันทีเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูง ซึ่งไวรัสที่มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์เดลต้านั้น มีความจำเป็นที่จะต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มที่สามให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพื่อทำให้เกิดความมั่นใจและเกิดความปลอดภัยต่อบุคลากรในการปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้ป่วย ซึ่งบูสเตอร์โดสจะเป็นวัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนแอสตราเซเนกาก็สามารถใช้ได้


ประเด็นต่อมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการใช้ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายพื้นที่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจ ในทางเลือกที่เพิ่มขึ้นและใช้เวลาน้อยลง โดยชุดตรวจต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดย


ปัจจุบันมีผู้มาขึ้นทะเบียนแล้ว 24 รายโดยจะอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาลและหน่วยตรวจที่ได้รับรองมาตรฐานซึ่งในปัจจุบันมีมากกว่า 800 แห่ง และในระยะถัดไปจะสามารถอนุญาตให้ตรวจเองที่บ้านเพื่อให้ประชาชนได้ทราบผลที่เร็วและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ โดยทางกรมควบคุมโรค จะมอบหมายแนวทางการปฏิบัติให้กับ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครกำกับและดำเนินงานตามแนวทางการปฏิบัติอย่างเคร่งครัด


ประเด็นสุดท้ายที่ประชุมมีมติเห็นชอบการแยกกับที่บ้านและการแยกจากในที่ชุมชน หรือ Home Isolation และ Community Isolation สำหรับผู้ป่วย โควิด-19 ที่มีเงื่อนไขเหมาะสมในการแยกกักตัวที่บ้าน โดยใช้กับกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีอาการป่วยใดใดเช่นเดียวกับการแยกกับในชุมชนจะใช้ในกรณีที่ในชุมชนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก


โดยทางกระทรวงสาธารณสุขสถานพยาบาลจะจัดอุปกรณ์วัดไข้และการวัดระดับ ระดับออกซิเจนในเลือดรวมถึงยาจัดให้กับผู้ป่วยที่แยกที่บ้านและชุมชนซึ่งทางสปสช. ได้อนุมัติแนวทางการเบิกจ่ายให้กับสถานพยาบาลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ในที่ประชุมยังรับทราบแนวทางปฎิบัติของหน่วยเฉพาะกิจคลินิกชุมชนอบอุ่นทั่ว กทม. เริ่มระบบดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน-ชุมชน รองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจากชุด Rapid Test ตรวจโควิด ผ่านทีมสุขภาพปฐมภูมิ ลงพื้นที่ติดตามอาการผู้ป่วยที่บ้าน ประเมินอาการทุกวันเพื่อแนวทางในการรักษาตัว โดยข้อมูล สปสช. มีคลินิกชุมชนอบอุ่น 204 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง ที่พร้อมในการรองรับผู้ป่วยที่อยู่ในระบบการแยกกักตัวที่บ้านและแยกกักตัวชุมชน

แท็กที่เกี่ยวข้อง  Rapid Antigen test ,สถานพยาบาล ,สธ.

คุณอาจสนใจ

Related News