สังคม

น่าเป็นห่วง! เพิ่งหมดหน้าฝน ‘เขื่อนลำตะคอง’ เหลือน้ำใช้แค่ 26% ถ.มิตรภาพสายเก่าโผล่กลางเขื่อน

โดย chutikan_o

6 พ.ย. 2567

153 views

เขื่อนลำตะคองปริมาณน้ำน้อย เหลือน้ำใช้แค่ 26% สถานการณ์น่าเป็นห่วง ถนนมิตรภาพสายเก่าโผล่กลางเขื่อน เกษตรกรหวั่นน้ำไม่พอใช้ตลอดแล้ง


วันนี้ (6 พ.ย. 2567) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปดูปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคอง อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ขณะนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงฤดูฝนปีนี้พื้นที่ต้นน้ำเหนือเขื่อนลำตะคองมีฝนตกน้อย จึงมีน้ำไหลมาลงเขื่อนต่ำกว่าเกณฑ์


นายสุคนธ์ เต็มยศยิ่ง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษาลำตะคอง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ซึ่งเป็น 1 ใน 4 เขื่อนขนาดใหญ่ของจังหวัดนครราชสีมา ที่ส่งจ่ายน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เศรษฐกิจของชาวโคราชถึง 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองนครราชสีมา และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ขณะนี้สถานการณ์น้ำน่าเป็นห่วง เพราะเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวแล้ว แต่ปริมาณน้ำเก็บกักในเขื่อนลำตะคองมีแค่ 106 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 34% ของความจุเขื่อนทั้งหมดที่ 314 ล้านลูกบาศก์เมตร และเป็นน้ำใช้การได้เพียง 83 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 26% ของความจุเขื่อน ต่างจากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ที่มีน้ำเก็บกักอยู่ถึง 192 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 61% ซึ่งมากเกือบ 2 เท่าของปีนี้




ปัจจุบันเขื่อนลำตะคองต้องจ่ายน้ำออกจากเขื่อนเฉลี่ยวันละ 374,000 ลูกบาศก์เมตร ส่งไปให้พื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมาได้ใช้ผลิตประปาอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำ


ขณะที่พื้นที่ด้านท้ายเขื่อน บริเวณบ้านท่างอย ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา พบว่า ขณะนี้เริ่มมองเห็นสันดอนดินโผล่ขึ้นในเขื่อนเป็นบริเวณกว้าง จนสามารถมองเห็นถนนมิตรภาพสายเก่าโผล่กลางเขื่อนเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตร




และจากสถานการณ์อ่างเก็บน้ำลำตะคองที่นำน้อยวิกฤติ ได้สร้างความกังวลเป็นอย่างมากให้กับพี่น้องเกษตรกรที่กำลังเพาะปลูกข้าวนาปีอยู่ในขณะนี้ อย่างเช่น


นางฉอ้อน นิราช อายุ 66 ปี เกษตรกรชาว ต.มะเกลือเก่า อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กล่าวว่า หลังจากเขื่อนลำตะคองเหลือน้ำน้อย เธอรู้สึกกังวลอย่างมาก และต้องงดทำนาปรังในฤดูกาลเพาะปลูกหน้า เพราะที่นาของเธอต้องใช้น้ำจากลำตะคองเป็นแหล่งหลักในการปลูกข้าว ซึ่งขณะนี้ต้นข้าวกำลังตั้งท้อง คาดว่าน้ำที่สูบดึงเข้าที่นาน่าจะเพียงพอจนถึงช่วงเก็บเกี่ยว ส่วนสถานการณ์ในปีหน้าคิดว่าไม่น่าจะรอด เพราะน้ำมีน้อย



คุณอาจสนใจ

Related News