สังคม
พนักงาน (ไม่) ประจำ ‘ซับคอนแทรคท์’ ทำงานเหมือนกันแต่ไม่เท่าเทียม
โดย paweena_c
1 พ.ค. 2567
2.7K views
พนักงาน (ไม่) ประจำ ‘ซับคอนแทรคท์’ ทำงานเหมือนกันแต่ไม่เท่าเทียม
“ผมนี่ก็ร้อนอ่ะ แต่ผมมีครอบครัวไง ผมเลยแบบ อืมทน เรามาทำงานหาตังค์อ่ะ”
ความรู้สึกของ ‘อนุชา’ แรงงานซับคอนแทรคท์ ตำแหน่งพนักงานสายผลิต โรงงานอะไหล่รถยนต์ ที่ต้องรับมือกับหัวหน้าใจร้อน และมักจะใช้คำพูดรุนแรงหากไม่พอใจอะไรสักอย่าง เป็นแรงกดดันหนึ่งในที่ทำงานที่เขาเจอ แต่จะให้ทำยังไงได้ เขาเลือกใส่ปลั๊กอุดหู ก้มหน้าทำงานต่อ แล้วเก็บความขุ่นเคืองนั้นไว้ในใจ
“ซับคอนแทรคท์” คืออะไร
ซับคอนแทรคท์ (Subcontract) แปลแบบทางการคือ “คือแรงงานรับเหมาค่าแรง ที่บริษัทมักจะจ้างเข้ามาเพื่อเสริมกำลังการผลิตในช่วงระยะหนึ่ง สัญญาจ้างอาจเป็นรายปี รายเดือน หรือรายวันแล้วแต่ตกลง แน่นอนว่าผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ส่วนมากแล้วก็คือบริษัทนายทุน”
แปลแบบง่าย ๆ คือ ไม่ได้มีสถานะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท แต่เป็นการที่ มีบริษัทไปจ้างบริษัทอื่นให้มาทำงาน และให้บริษัทที่รับช่วงต่อไปจ้างแรงงานอื่นมาทำแทน
ฟังดูอาจไม่มีอะไร แต่สถานะของลูกจ้างซับคอนแทรคท์นั้นบางคนจะอยู่ในสถานะฟรีแลนซ์ ไม่มีสวัสดิการ ไม่มีประกันสังคม ไม่มีสัญญาระยะยาว การจ้างงานขึ้นกับความพอใจของบริษัทที่ไปรับช่วงมา
ส่วนเวลาการทำงานก็มักจะเป็นไปตามความ “บังคับสมัครใจ” เช่น แม้ให้ทำ 8 ชั่วโมงแต่ก็บังคับทำโอที หรือวันหยุดก็ต้องมาทำ หากไม่ทำก็สามารถถูกเลิกจ้างได้โดยง่าย
ทำงานเหมือนกัน แต่สวัสดิการเป็นศูนย์
‘อนุชา’ รู้ดีว่าการทำงานแบบนี้จะไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่ากับพนักงานประจำ สิ่งที่เขาได้คือ ค่าแรงขั้นต่ำ โอทีวันหยุด และข้าวเปล่าฟรี ไม่มีประกันกลุ่ม หรือแม้แต่ประกันสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ความเท่าเทียมของการเป็นมนุษย์ที่ควรจะได้รับยังไม่เท่ากัน
“พนักงานซับฯ ก็ทำงานเหมือนกับพนักงานประจำนี้แหละครับ เผลอ ๆ ทำมากกว่าด้วย ค่าแรงคิดเป็นรายวัน ถ้าวันไหนเราหยุดก็ไม่ได้เงิน ส่วนสวัสดิการก็ได้น้อยกว่า” เขาเล่าให้เห็นถึงความต่าง ที่แม้ว่าพนักงานประจำจะหยุดงานก็ยังได้เงินจ้างเต็มเดือนไม่โดนหัก และความต่างอีกอย่างที่เขาเจอคือ การปฏิบัติจากแรงงานด้วยกัน
“พนักงานประจำที่ทำงานเหมือนกัน เวลาพูดก็มักใส่อารมณ์กับเรา ใช้งานทุกอย่างคล้าย ๆ เราเป็นทาส ตอนพักเที่ยงพนักงานประจำจะมีบัตรไปแตะกินข้าว ส่วนเราเขาให้แค่ข้าวเปล่าฟรี เราต้องเอากับไปเอง ถ้าไปนั่งโต๊ะร่วมกับเขาก็จะโดนมอง เราเลยไปนั่งกินข้าวที่ศาลาสูบบุหรี่”
‘อนุชา’ เคยเป็นแรงงานซับคอนแทรคท์มาหลายบริษัท อย่างที่บอกสัญญาส่วนมากจะเป็นระยะสั้น บางบริษัทก็ให้ความหวังว่าจะต่อสัญญารายเดือนให้แต่สุดท้ายก็เลิกจ้าง แม้จะเป็นงานที่ไม่มั่นคง แต่ด้วยวุฒิ ม.3 ที่มี ทำให้เขาต้องเลือกและยอมทำไปก่อน
“ทำไม่ได้ก็ออกไป” คำที่หัวหน้ามักตะคอกใส่เมื่อถามเรื่องงาน บางครั้งก็ด่าลามถึงพ่อแม่ เขาเล่าแกมระบายถึงความอัดอั้น “ผมนี่ก็ร้อนอ่ะ แต่ผมมีครอบครัวไง” แม้ในใจเขาจะร้อนไปด้วยไฟโกรธแค่ไหนแต่ก็ต้องข่มเอาไว้ เพราะมีครอบครัวจึงต้องอดทน จะว่าไปสิ่งหนึ่งที่ ‘อนุชา’ ได้รับ อาจเป็นการถูกกดขี่จากระบบแรงงานก็เป็นได้
**ปัจจุบัน ‘อนุชา’ หมดสัญญา 1 เดือนกับบริษัทล่าสุดและถูกเลิกจ้าง วันที่สัมภาษณ์เขาบอกว่าช่วงนี้กำลังหางานใหม่ “ตอนนี้ขี่รถหางานมาสามวันแล้วครับ”
“ของแรงงานข้ามชาติมันไม่มีนะ”
‘สุธาสินี แก้วเหล็กไหล’ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน (มสร.) และผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) เล่าให้ฟังว่า แรงงานข้างชาติไม่สามารถเป็นแรงงานซับคอนแทรคท์ให้ที่อื่นได้ ทั้งบอกว่า “กฎหมายที่มันออกมารองรับนี่ ของต่างชาติดีกว่าของคนไทยนะ” เพราะแรงงานข้ามชาติ จะต้องลงทะเบียนขึ้นตรงกับนายจ้าง ทำงานให้นายจ้างเท่านั้น
พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 มาตรา 41 ระบุ "ผู้รับอนุญาตให้นําคนต่างด้าวมาทำงานจะนําคนต่างด้าวมาทำงานได้ เฉพาะเมื่อมีสัญญานําคนต่างด้าวมาทำงานกับผู้ที่จะเป็นนายจ้างของคนต่างด้าว พร้อมทั้งรายชื่อ สัญชาติ และเลขที่หนังสือเดินทางของคนต่างด้าว และนายจ้างดังกล่าวต้องไม่เป็นผู้ประกอบกิจการ รับเหมาแรงงานหรือรับเหมาค่าแรง และจะนําคนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้เฉพาะตามจำนวนและตามรายชื่อดังกล่าว"
ถ้ายังจำได้คำว่า ‘แรงงานรับเหมาค่าแรง’ ก็คือ ‘แรงงานซับคอนแทรคท์’ หมายความว่า กฎหมายควบคุมตั้งแต่การนำแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทยแล้วว่า ห้ามเป็นเป็นบริษัทซับคอนแทรคท์ และห้ามนำแรงงานไปใช้เพื่อเป็นแรงงานซับคอนแทรคท์ หากมีก็คือผิดกฎหมาย
"มีโรงงานหนึ่งคนงานถูกจับ 70 กว่าคน เพราะทำผิดกฎหมาย เขาทำงานไม่ตรงพื้นที่ไง ตรงนี้นายจ้างผิด ต้องจ่ายค่าปรับ ส่วนลูกจ้างก็ผิดเพราะโดนจ้างมา แต่ถูกปรับน้อยกว่า แต่สุดท้ายพิสูจน์ได้ว่าคนงานไม่มีเจตนา นายจ้างเป็นคนเอามา อย่างนี้นายจ้างก็ต้องนำเงินมาจ่ายค่าปรับ"
‘สุธาสินี’ เล่าถึงหนึ่งในเคสที่เคยช่วยเหลือ เมื่อไหร่ที่แรงงานข้ามชาติลุกขึ้นมาร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมในการจ้างงาน พวกเขาก็มักจะถูกเลิกจ้างเพราะถูกมองว่าหัวแข็ง ซึ่งหากจะว่าอย่างนั้นพวกเขาก็ยอมรับ แต่นายจ้างก็ต้องจ่ายค่าชดเชยมาด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยังต้องสู้ต่อ
มาถึงตรงนี้ แม้ตามกฎหมายแล้วแรงงานข้างชาติจะไม่มีซับคอนแทรคท์ แต่สิ่งที่มีเหมือนกันกับแรงงานไทย นั่นก็คือการถูกกดขี่ และเอาเปรียบจากระบบนายทุน
“มันหากินบนหลังคนน่ะ พวกบริษัทที่จ้างซับคอนแทรคท์ก็คือมักง่าย เสือนอนกิน เอาคนงานเข้าไปให้บริษัทนี้แล้วก็เรียกหัวคิวกิน”
ยังอยู่กับ ‘สุธาสินี’ เพราะสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือจุดยืนของเขา “คนไทยยังมีซับคอนแทรคท์อยู่ เพราะมี มาตรา 11/1” เขากล่าวหนักแน่น หากต้องการหยุดวงจรซับคอนแทรคท์ ก็ต้องเอากฎหมายมาตรานี้ออกไป
พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 11/1 ระบุ “กรณีที่ผู้ประกอบกิจการมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ และโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือว่าผู้ประกอบกิจการเป็นนายจ้างของคนที่มาทำงานดังกล่าว
ให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง ได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
แม้จะมีหลายคนบอกว่ากฎหมายดังกล่าวดีแล้ว แต่ ‘สุธาสินี’ ยืนยันในความคิดของตัวเองว่า “ควรเอาออก” เขายกตัวอย่างว่าหากลูกจ้างถูกเลือกปฏิบัติ ก็ต้องไปฟ้องศาล จากนั้นก็ต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ ลำพังแรงงานเขาจะเอาเวลาที่ไหนไปศาล เขาจะเอาเงินที่ไหนไปจ้างทนายสู้ ถ้าจะอยู่อย่างนี้ สู้ไม่มีจะดีกว่า
“เอาออกซะ คนงานก็คนงาน ทำงานที่ไหนก็เป็นคนงานที่นั่น แล้วก็จบ ทําไมเราจะต้องมาให้โอกาสให้พวกหากินบนหลังคน”
และอาจไม่ใช้แค่ ‘สุธาสินี’ ที่มองว่า พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 11/1 มีปัญหา
‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’ อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ ม.ธรรมศาสตร์ ตั้งคำถามถึงระบบการซับคอนแทรคท์ในประเทศไทยว่า “มันสามารถมีซับคอนแทรคท์ได้เยอะ จนเป็นภาวะปกติขนาดนี้ไหม” เขาอธิบายว่า บริษัทสามารถมีซับคอนแทรคท์ได้ จะต้องเป็นสภาวะแบบชั่วคราว หรือไม่ก็ต้องใช้ซับคอนแทรคท์ในส่วนที่ไม่ได้เป็นกิจกรรมหลักของสถานประกอบการ
“แต่ในช่วงหลังที่ระบบนี้มีเยอะขึ้น มันขัดกับหลักการกฎหมายแรงงาน ขัดหลักการสิทธิมนุษยชน และขัดต่อหลักในการเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่ดี ทั้งในแง่ของความมั่นคงและด้านการผลิตด้วย แต่เรากลับแก้ไขปัญหาโดยการมีกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 ซึ่งก็เป็นหนึ่งในกฎหมายที่น่าจะไม่สามารถบังคับใช้ได้แบบมีประสิทธิภาพมากนัก”
“ม.11/1 ที่ดูเหมือนจะเห็นใจกลุ่มแรงงาน แต่จริง ๆ ก็เอื้อกลุ่มนายทุนรึเปล่า” คำถามนี้ ‘ษัษฐรัมย์’ ตอบทันทีว่า “ใช่ครับ” เขามองว่ากฎหมายมาตราดังกล่าวเป็นการแก้ปลายเหตุในระดับฎีกา และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ กระทรวงแรงงานก็อ้างได้ว่าถ้าไม่มีใครแจ้งมาเข้าก็ไม่สามารถลงไปตรวจสอบได้ ซึ่งปัญหานี้ก็เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ เพราะอีกด้านหนึ่งคือพนักงานตรวจแรงงานของกระทรวงก็มีจำนวนจำกัด
“การขาดบุคลากร ทำให้กระทรวงทำงานกันเป็นเชิงรับมากกว่า ระยะสั้นควรเพิ่มพนักงานตรงนี้ให้สามารถตรวจได้จริง มีอำนาจจริง แต่ถ้าเจาะดูจะพบว่า พนักงานตรวจแรงงานก็เป็นระบบจ้างเหมาของภาครัฐเหมือนกัน” ‘ษัษฐรัมย์’ ชวนคิดว่า คนที่จะมาทำหน้าที่เหมือนเป็นตำรวจแรงงาน แต่คุณภาพชีวิตด้านแรงงานก็ไม่ได้ดี ถ้าไปตรวจโรงงานใหญ่ที่มีมูลค่าหลายสิบล้าน อำนาจต่อรองจะเป็นยังไง
“ผมคิดว่า ถ้าลงทุนด้านระบบการตรวจสอบแรงงานที่ดีขึ้น ทุกอย่างจะเข้าที่เข้าทางอย่างที่มันควรจะเป็น”
การศึกษาและการทำความเข้าใจเรื่อง ‘สิทธิแรงงาน’ ตั้งแต่ระดับการศึกษาเป็นสิ่งที่ ‘ษัษฐรัมย์’ มองว่าสำคัญ เพราะที่ผ่านมาเราเรียนรู้เรื่องการเงิน เทคโนโลยี แต่กลับรู้เรื่องสิทธิหรือสวัสดิการน้อยมาก “จะเห็นว่ามีนักธุรกิจรุ่นใหม่เกิดขึ้นมา คุยกันว่าเป็นยูนิคอร์นของไทย แต่ระบบเป็นซับคอนแทรคท์หมดเลย อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ตั้งแต่การรับรู้ในระบบการศึกษาของเรา”
11+1 สัญญาเผื่อเลิกจ้าง
‘อร’ แรงงานซับคอนแทรคท์ ตำแหน่งพนักงานเอกสารโรงงาน เธอเซ็นสัญญา 11+1 สำหรับการทำงานที่โรงงานแห่งนี้ คำถามแรกที่โผล่ขึ้นคือ ‘สัญญา 11+1’ คืออะไร
‘สาวิทย์ แก้วหวาน’ ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ได้ให้ความเห็นว่า บางโรงงานมีกำหนดว่าหากทำงานครบ 1 ปีจะต้องได้รับการบรรจุ จึงทำสัญญาไว้เพียง 11 เดือน หรืออีกกรณีคือเรื่องการจ่ายค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง
“การจ้างงาน 11 เดือน +1 อีกด้านหนึ่ง นายจ้างก็อาจเข้าใจผิดว่าไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย แต่ที่จริงแล้ว ลูกจ้างทำงานเกิน 120 วัน ก็ต้องจ่ายค่าชดเชย หรือนายจ้างอาจมีวัตถุประสงค์อื่น”
เมื่อเรามาดูที่ พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 118 และมาตรา 17/1 ระบุ “กรณีลูกจ้างถูกให้ออกจากงานกรณีทั่วไป ลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้ แต่หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย”
กลับมาที่ ‘อร’ แรงงานซับคอนแทรคท์ เธอบอกว่า จริง ๆ ก็ไม่รู้รายละเอียดเท่าไหร่ว่า สัญญา 11+1 คืออะไร แต่ด้วยความที่ต้องการทำงาน เพราะโรงงานเดิมเลิกจ้างกระทันหัน ถ้ารอนานไปก็เสี่ยงจะว่างงาน ขาดรายได้ การได้งานใหม่แม้เป็นสัญญาซับคอนแทรคท์ 11+1 ก็มองว่าไม่น่าต่างจากสัญญา 1 ปี จึงไม่อยากเสียโอกาสนี้
“วางแผนทำงานที่นี่ยาว ๆ เลยไหม” ‘อร’ คิดสักพักก่อนตอบว่า “ก็มองอยู่นะคะ แต่ทุกวันนี้ ดูทรงก็เป็นไปได้ยาก” เธอเล่าถึงโอกาสของการได้บรรจุเป็นพนักงานประจำในโรงงาน พร้อมเล่าให้เห็นว่า สัดส่วนของพนักงานในโรงงานตอนนี้ มีพนักงานประจำเพียงสิบเปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นแรงงานซับคอนแทรคท์ทั้งหมด
แม้การเป็นลูกจ้างซับฯของ ‘อร’ จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากเพื่อนร่วมงาน ที่อาจจะเพราะตำแหน่ง หรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่เธอก็ไม่อาจหลุดจากความเหลื่อมล้ำ ของการเป็นแรงงานซับคอนแทรคท์ที่เอาเปรียบเธอได้ เห็นได้จากคำพูดของเธอที่ว่า “อยากให้เทียบเท่ากับพนักงานประจำ เพราะว่าเราก็เอาแรงมาขายเหมือนกัน”
แรงงานซับฯ ลูกเมียน้อย ที่ลูกจ้างด้วยกันยังเมิน
เรื่องน่าเศร้าจากกรณีของ ‘แรงงานอนุชา’ และ ‘แรงงานอร’ รวมถึงแรงงานคนอื่น ๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิแรงงาน นั่นคือ แม้แต่พนักงานประจำที่เป็นแรงงานด้วยกัน ก็ยังไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมให้กับเพื่อนร่วมงานด้วยกัน แม้ว่าทุกวันนี้จะมีกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ที่เคลื่อนไหวเพื่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งถือเป็นการกระทำที่กล้าหาญ แต่ทว่าก็ยังมีน้อย
ส่วนแรงงานที่ไม่กล้าเรียกร้อง เราไม่อาจกล่าวได้ว่าเขาเหล่านั้นผิด เพราะปัจจัยที่ต้องแลกคือเรื่องของปากท้อง ถ้าเกิดความเท่าเทียมกันของพนักงาน คนหารโบนัสเพิ่มขึ้น เงินโบนัสของพวกเขาก็จะลดลง แบบนี้ใครล่ะจะกล้าเรียกร้อง “ใครจะกล้าเรียกร้องล่ะ ถ้าสิทธิเท่ากันก็มาแย่งเงินโบนัสฉันสิ” “ใครจะกล้าล่ะ เรียกร้องขึ้นมาโดนไล่ออกจะทำยังไง” “ใครจะกล้าล่ะ” เหล่านี้อาจเป็นเสียงจากระบบนายทุนที่กล่อมเรา
ก่อนถึงช่วงท้ายของเรื่องนี้ มีมุมมองเรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 จาก ‘สาวิทย์ แก้วหวาน’ ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ (สรส.) ที่มองว่า นี่เป็นกฎหมายที่ดีแล้ว
“พวกเราเป็นคนเสนอขึ้นมาเอง” ‘สาวิทย์’ เล่าถึงที่มาของกฎหมาย ระบบซับคอนแทรคท์เหล่านี้มีมานานแล้ว เพราะเป็นกระบวนการจ้างงานแบบโลกาภิวัตน์ เป็นการออกแบบของกลุ่มทุนทั่วโลก ว่าการจ้างงานแบบนี้จะก่อให้เกิดความร่ำรวย ความมั่งคั่งของกลุ่มทุน แต่ว่ามันก็เปิดปัญหาเรื่องการจ่ายค่าจ้างที่ถูกเลือกปฏิบัติ พวกเราจึงเสนอว่า “ถ้างานประเภทเดียวกัน คุณค่าเดียวกัน มันต้องได้ค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน เลยนํามาสู่การแก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน มาตรา 11/1 นั่นแหละ”
แต่ที่ผ่านมา ‘สาวิทย์’ ยอมรับว่านายจ้างมักไม่ปฏิบัติตาม กลับมาสู่เรื่องเดิมคือกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย “ศาลสั่งให้ชนะ แต่ว่าชนะแล้วไง นี่คือปัญหาของมัน คนงานสายป่านสั้น บางทีสู้ไปสู้มาก็เจราให้รับเงินไปเถอะ สู้ไปก็แพ้ ไกล่เกลี่ยจนต่ำกว่ามาตรฐานของกฎหมาย”
สุดท้ายแล้วเราก็ยังเห็นข่าว “อิตาเลียนไทยยอมรับ! ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายพนักงาน จนหัวหน้าไซต์งานต้องซื้อมาม่าแจก” ซึ่งอิตาเลียนไทย ก็เป็นอีกหนึ่งในบริษัทที่ใช้ระบบซับคอนแทรคท์ คือมีโครงการเข้ามาก็จ้างบริษัทต่าง ๆ มาเป็นซับคอนแทรคท์ทำงานร่วมกัน
ปัญหาคือ หากบริษัทนายจ้างขาดสภาพคล่องเมื่อไหร่ ไม่มีเงินจ่ายให้บริษัทซับฯ ผลกระทบที่ร้ายแรงคือแรงงานซับหลายร้อยหลายพันชีวิต ที่ทำงานแล้วไม่ได้รับค่าแรง ไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อสิ่งของประทังชีวิต
แม้ว่าล่าสุดจะมีข่าวออกมาแล้วว่า “บริษัทอิตาเลียนไทย ยอมจ่ายแล้ว! เงินเดือนลูกจ้าง 6.6 พันคน รวม 30 ล้านบาท” แต่ในอนาคตหากเกิดปัญหาคล้ายเดิมขึ้นอีก และด้วยกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มี จะสามารถหาข้อสรุปที่เป็นธรรมให้กับลูกจ้างแรงงานได้ตลอดจริงหรือ
ท้ายที่สุดก่อนจบลง ‘ลูกจ้างรัฐ’ ยังเป็นแรงงานที่ถูกละเลย ทำงานเหมือนข้าราชการ เงินเดือนน้อย ซ้ำไม่ได้รับสวัสดิการณ์ เป็นแรงงานที่แม้แต่กฎหมายคุ้มครองแรงงานก็ยังไม่ครอบคลุม
“คนที่ละเมิดสิทธิแรงงานมากที่สุดก็คือรัฐ” โอสถ สุวรรณเศวต ประธานสหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย (สลท.)