สังคม
ตร.จราจรยัน! เชื่อมข้อมูลกรมขนส่งจริง บังคับใช้กฎหมายจราจร ขอประชาชนไม่ทำผิดกฎหมายจราจร
โดย paweena_c
25 ม.ค. 2567
140 views
จากกรณีที่ โลกโซเชียลแชร์ภาพ ใบต่อภาษีประจำปีของ ผู้ใช้รถรายหนึ่ง ที่ปรากฏค่าปรับใบสั่งจราจร จำนวนมาก จนเกิด การวิพากษ์วิจารณ์กันถึงการบังคับใช้กฎหมายว่า ปัจจุบัน ตำรวจมีการเชื่อมฐานข้อมูลกับทางกรมขนส่งแล้วจริงหรือไม่
พลตำรวจตรีสุรเชษฐ์ บัณฑิตย์ ผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจจราจร ระบุว่า เบื้องต้นกรณีที่โลกโซเชียลแชร์ภาพดังกล่าวมาจากการที่ผู้ใช้รถรายนั้นครบรอบการต่อภาษีประจำปีจึงทำให้คิดว่าเพิ่งมีการบังคับใช้ แต่ในข้อเท็จจริงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว มีการดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยพลตำรวจเอกดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น มีการทำข้อตกลงร่วมมือ กับทางกรมการขนส่งทางบก ในการเชื่อมฐานข้อมูลของผู้กระทำความผิดในส่วนของกฎหมายจราจร และมีการค้างชำระใบสั่ง
ซึ่งในระบบของทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่ง มีการเชื่อมโยงกันแล้วเสร็จในช่วงวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา ทำให้นับตั้งแต่วันดังกล่าวหากผู้ใช้รถใช้ถนน ทำผิดกฎหมายจราจร และถูกออกใบสั่ง และไม่มีการดำเนินการชำระให้แล้วเสร็จ ตามที่กำหนดระบบจะส่งข้อมูลที่กรมการขนส่งทางบก เพื่อให้กรมการขนส่งทางบก ดำเนินการงดออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี ตามมาตรา 141/1
ซึ่งที่ผ่านมายังไม่ปรากฏในโลกโซเชียลมากนักคาดว่าเป็นเพราะผู้ใช้ยังไม่ถึงวงรอบในการต่อภาษีประจำปี แต่พอเมื่อครบกำหนดต่อภาษีทำให้ข้อมูลทั้งหมดไปแสดงกับกรมขนส่งทางบกจนผู้ใช้รถคันดังกล่าวต้องดำเนินการเสียค่าปรับ ทั้งหมดในเวลาเดียวกันพร้อมกับการต่อภาษี จึงทำให้ดูว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นกว่าเดิม
ในปัจจุบันการออกใบสั่งของทางเจ้าพนักงานจราจร มีการดำเนินการออกใบสั่งทั้งหมดสามรูปรูปแบบ คือรูปแบบการออกใบสั่งโดยกล้องควบคุมความเร็วตามท้องถนน ซึ่งในระบบนี้จะใช้เวลาดำเนินการทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 50 วันทำการ ในการดำเนินการตรวจสอบภาพและจัดส่งใบสั่งไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถที่ถูกออกไปสั่ง แต่ในส่วนของการออกใบสั่งด้วยมือและเครื่องออกใบสั่งแบบ PDM จะใช้เวลาอยู่ที่ประมาณ 7-15 วัน หรือสูงสุดไม่เกิน 30 วันกรณีต้องมีการออกหนังสือแจ้งเตือนซ้ำ
โดยระบบการออกใบสั่งแบบ PDM เจ้าพนักงานจราจรจะใช้เครื่องมือออกใบสั่ง ซึ่งในระบบนี้ข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งไปยังกรมการขนส่งทั้งหมดทันที แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังคงขาดแคลนงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือดังกล่าว มีเพียงไม่กี่เครื่องต่อหนึ่งหน่วยเท่านั้น เช่นหน่วยงานของกองบังคับการตำรวจจราจร ที่ถือเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมดูแลเรื่องการจราจร มีกำลังพลหลาย 100 นายปัจจุบันมีเครื่องมือเครื่องมือดังกล่าวเพียง 50 เครื่องเท่านั้น
ส่วนตาม สน. ต่างๆเท่าที่ทราบ คาดว่าจะมีอยู่ไม่เกินหนึ่งหรือสองเครื่องเท่านั้น ดังนั้นการออกใบสั่งจราจรในปัจจุบันยังคงใช้การเขียนด้วยมือเป็นส่วนมาก ซึ่งการเขียนใบสั่งด้วยมือเมื่อทำการออกใบสั่งเสร็จสิ้นเจ้าพนักงานจราจรจะต้องมีการนำข้อมูลทั้งหมดลงฐานข้อมูล PDM เพื่อจัดส่งไปยังกรมการขนส่งทางบกเช่นกัน จึงอาจทำให้ระยะเวลาแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย แต่ยืนยันว่าการบังคับใช้กฎหมายจราจรไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่มีการดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้
ประชาชนทุกคนสามารถตรวจสอบคะแนนของใบขับขี่ตนเอง รวมถึงตรวจสอบว่ามีใบสั่งค้างชำระอยู่หรือไม่ ได้ที่แอพพลิเคชั่นขับดี ซึ่งแอพดังกล่าวจะสามารถตรวจสอบคะแนนและใบสั่งเก่าได้ ทำให้สามารถเตรียมตัวก่อนที่จะไปดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ของกรมการขนส่งทางบกการขนส่งทาง โดยช่องทางการชำระค่าปรับสามารถดำเนินการได้หลากหลายช่องทางเช่น การดำเนินการชำระค่าปรับที่กรมการขนส่งทางบก หรือการชำระผ่านช่องทางธนาคารออนไลน์ต่างๆหรือทางไปรษณีย์ หรือทางหน่วยงานเจ้าของใบสั่งปรับจราจรดังกล่าวก็ได้เช่นกัน
โดยผู้บังคับการตำรวจจราจร ยังฝากถึงพี่น้องประชาชนว่าจุดประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจราจร มุ่งเน้นเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนใช้ความระมัดระวังในการสัญจร และให้ทุกคนพึงระลึกเสมอว่าต้องปฏิบัติตามตามกฏหมาย หากผิดพลาดมีการกระทำความผิดและถูกเจ้าพนักงานจราจรออกใบ ก็ถือเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องดำเนินการชำระใบสั่งดังกล่าวให้เสร็จสิ้นทุกครั้ง โดยเชื่อว่า ต่อจากนี้หากประชาชนทุกคนตระหนักถึงข้อนี้จะส่งผลถึงตัวเลขของอุบัติเหตุไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะที่ผ่านมาในช่วงที่ยังมีความคลุมเครือเกี่ยวกับเรื่องการเชื่อมข้อมูลกับทางกรมการขนส่งทางบก และมีการตั้งข้อสมมุติฐานว่าแม้ว่าจะถูกออกใบสั่งจากทางตำรวจก็ยังสามารถต่อภาษีรถยนต์ได้ตามปกตินั้น ทำให้มีผู้กระทำความผิดที่ค้างชำระเป็นจำนวนมาก และจำนวนของอุบัติเหตุก็มีตัวเลขที่สูงขึ้นตามลำดับเช่นกัน
ส่วนประเด็นการปฏิเสธหรือโต้แย้งการถูกออกใบสั่งจราจรนั้นยังคงสามารถทำได้ตามปกติ โดยหากไม่ได้มีการโต้แย้งตามกฎหมายจะถือว่ายอมรับการกระทำความผิด ซึ่งหากมีการโต้แย้งหรือปฏิเสธใบสั่งจราจร แต่ถึงเวลาที่ต้องต่อภาษีประจำปีของรถยนต์ ทางเจ้าพนักงานทะเบียนหรือกรมการขนส่ง จะมีการออกใบแทนใบเสียภาษีซึ่งสามารถใช้ได้ใน 30 วัน และ เจ้าของรถจะต้องดำเนินการทางใบสั่งให้แล้วเสร็จก่อนไปรับใบเสียภาษีตัวจริง
แท็กที่เกี่ยวข้อง ตร.จราจร ,กฎหมายจราจร ,กรมขนส่งทางบก