สังคม
โคราชพบผู้ป่วย 'ไข้หูดับ' เกือบ 100 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย หมอแนะเลี่ยงกินหมูดิบหรือสุกๆ ดิบๆ
โดย panisa_p
5 ธ.ค. 2566
231 views
วันนี้ (5 ธันวาคม 2566) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้หูดับในพื้นที่ดูแลของเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย 4 จังหวัดภาคอีสาานตอนล่าง ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงปัจจุบัน มีจำนวนผู้ป่วย 130 ราย แยกเป็นรายจังหวัดพบว่า นครราชสีมา มีผู้ป่วยมากสุด 95 ราย เสียชีวิต 4 ราย รองลงมาคือ ชัยภูมิ 14 ราย เสียชีวิต 1 ราย สุรินทร์ 14 ราย และบุรีรัมย์ 7 ราย เสียชีวิต 1 ราย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ รับจ้าง รองลงมา คือ เกษตรกร และทำงานบ้านตามลำดับ
โรคไข้หูดับ เกิดจากการกินเนื้อหมูหรือเลือดหมูสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบหมูดิบ ลาบเลือดดิบ ที่มีเชื้อสเตปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) ปนเปื้อนอยู่ โดยเชื้อนี้จะอยู่ในทางเดินหายใจของหมู และอยู่ในเลือดของหมูที่ติดเชื้อ สามารถติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และทางเยื่อบุตาได้ด้วย เมื่อได้รับเชื้อโรคไข้หูดับเข้าไปแล้ว ผู้ติดเชื้อจะมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ หนาวสั่น สับสนกระสับกระส่าย ปวดข้อ คอแข็ง และมีอาการหูดับ หรือหูหนวก ได้ยินลดลงอย่างเฉียบพลัน รวมทั้ง การทรงตัวผิดปกติ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันเลือดต่ำ มีจ้ำเลือดทั่วตัว ปวดตา ตาแดง หรือมองภาพไม่ชัด
ซึ่งปัจจุบันมีกระแสสังคมบนสื่อออนไลน์ รีวิวการรับประทานอาหารดิบ และมีพฤติกรรมการดื่มสุราร่วมกับการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ ทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรืออยากลองทำตาม ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับได้ ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงไฮซีซั่นฤดูหนาว และใกล้เทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ประชาชนอาจสั่งอาหารปิ้งย่างหรืออาหารสุกๆดิบๆ ลาบเลือดดิบ ก้อยดิบ มารับประทาน รวมไปถึง หากพ่อครัว แม่ครัว หรือผู้ปรุงอาหารมีบาดแผล แล้วไปสัมผัสเนื้อหมูหรือเลือดหมูดิบๆ ที่มีเชื้อ ก็จะทำให้เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ จนสูญเสียการได้ยิน จนถึงขั้นหูหนวกถาวรได้
ดังนั้นอย่ารับประทานหมูดิบ ลาบเลือดดิบ และอย่าใช้วิธีบีบมะนาวเพื่อให้หมูสุก แต่ต้องปรุงให้สุกผ่านความร้อนมากกว่า 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที และไม่ควรรับประทานหมูดิบร่วมกับการดื่มสุรา ส่วนการรับประทานอาหารปิ้งย่าง ควรใช้อุปกรณ์คีบเนื้อหมูดิบและเนื้อหมูสุกแยกจากกัน และยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” หากจะเลือกซื้อเนื้อหมูมาทำอาหาร ให้เลือกซื้อจากแหล่งที่มีมาตรฐาน เชื่อถือได้ ไม่ควรซื้อจากแหล่งที่ไม่ทราบที่มาของหมู และหากทำงานที่มีต้องใกล้ชิดสัมผัสกับหมู เช่น ผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล หรือสัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบูทยาง สวมถุงมือ สวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน ซึ่งหากมีบาดแผลจะต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อไข้หูดับ
แท็กที่เกี่ยวข้อง ไข้หูดับ ,หมูดิบ ,ป่วยไข้หูดับ ,กินหมูสุกๆดิบๆ