สังคม

‘สะดวก หรือ ซับซ้อน’ หลัง สพฉ.เตรียม ยุบสายด่วน 1669 รวม 191

โดย nicharee_m

3 ต.ค. 2566

97 views

จากกรณีที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) เตรียมที่จะยุบเบอร์สายด่วน 1669 และเปลี่ยนมาใช้สายด่วน 191 แทน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของทางตำรวจ

แต่หลังจากที่นโยบายนี้ถูกนำเสนอออกไปก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง เพราะที่ผ่านมามักได้ยินปัญหาของการติดต่อ 191 ที่โทรติดบ้างไม่ติดบ้าง

ประเด็นนี้ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การยุบเบอร์สายด่วน 1669 และเปลี่ยนมาใช้สายด่วน 191 ร่วมกับตำรวจนั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของตำรวจ

ส่วนสาเหตุที่ต้องรวมสายด่วนเข้าด้วยกันเพราะหากดูจากสถิติพบว่า มีสายโทรแจ้งมาที่เบอร์ 1669 จำนวน 6,000,000 ครั้งต่อปี ซึ่งเป็นการขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ 2,000,000 ครั้ง คิดเป็น 30%

ส่วนอีก 4,000,000 ครั้ง หรือ 70% เป็นการโทรขอความช่วยเหลือในด้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือทางการแพทย์ เช่น สัตว์เลื้อยคลานเข้าบ้าน แจ้งเหตุรถเสีย หรือแม้กระทั่ง ‘เซ็กซ์โฟน’ ก็มี ซึ่งจะเห็นได้ว่าจำนวน 70% ที่โทรเข้ามาไม่ใช่การขอความช่วยเหลือทางการแพทย์โดยตรง

ส่วนเบอร์ 191 มีสายโทรเข้ามาทั้งหมด 5,000,000 ครั้งต่อปี เมื่อรวมกันแล้วจะเท่ากับ 11,000,000 ครั้งต่อปี ซึ่งข้อดีของการโทรเบอร์ 191 คือ จะแสดงหมายเลขที่โทรมา และแสดงตำแหน่งที่โทรอยู่ได้ ดังนั้นหากรวมสายด่วนเข้าด้วยกันเป็นเบอร์เดียว 191 จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องต่อว่าต้องการความเหลือในด้านใด เช่น หากต้องการความช่วยเหลือทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ก็จะโอนสายจาก 191 ไปที่ 1669 ภายในเวลาไม่เกิน 2 นาที และรถพยาบาลต้องเข้าถึงผู้แจ้งใน 6 รวมเป็น 8 นาที ซึ่งจะไม่ล่าช้าแบบที่ประชาชาชนกังวลใจแน่นอน

อย่างไรก็ตามหลังจากที่นโยบายนี้ถูกเผยแพร่ออกไปประชาชนบางส่วนก็แสดงความคิดเห็นในทำนองว่า ถ้าหากเปลี่ยนเป็นเบอร์ 191 นั้น จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ซับซ้อนมากขึ้นหรือไม่ ทั้งในเรื่องการทำงานและประสานงาน

เช่น หากต้องนำสายด่วน 1669 ไปรวมกับ 191 เท่ากับว่า 191 จะเป็นต้นทางในการรับสายจากประชาชน ดังนั้นภาระในการรับสายจะถูกส่งไปที่ 191 ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องโอนย้ายเจ้าหน้าที่จาก 1669 ไปที่ 191 ส่วนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการคัดกรองผู้ป่วย แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ และถ้าหากว่าสายด่วนที่ถูกโอนจาก 191 ไปที่ 1669 จะมีเจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่ในการรับสายเพราะเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งถูกส่งไปที่ต้นทาง 191 แล้ว

หรือแม้กระทั่งปัญหาด้านอื่นๆ เช่น เมื่อโทรไปขอความช่วยเหลือทางการแพทย์จาก 191 แล้วเจ้าหน้าที่จะโอนสายต่อไปที่ 1669 นั่นเท่ากับว่า ประชาชนจะต้องเล่าเหตุการณ์ให้เจ้าหน้าที่ฟังถึง 2 รอบ ซึ่งนั่นจะเป็นการเพิ่มขั้นตอนทำให้มีความซับซ้อนมากขึ้นและอาจจะไม่ทันการณ์

บางส่วนก็มองว่า เคยโทรแจ้งเหตุด่วน 191 แล้วโทรไม่ติด และถ้าหากว่าต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินทางการแพทย์จะทำอย่างไร

อีกเสียงสะท้อนที่มีต่อปัญหาเบอร์ 191 คือมักมีกลุ่มคนที่คึกคะนองโทรมาก่อกวนที่ เบอร์ 191 อยู่เป็นประจำ ทำให้คนที่ตั้งใจขอความช่วยเหลือจริงๆก็อาจจะโทรไม่ติด

และเมื่อฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัดจะพบว่าการโทรขอความเหลือจาก 191 ทำได้ยาก ส่วนใหญ่จะโทรไปขอความช่วยเหลือจาก 1669 เสียมากกว่าเพราะสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ได้โดยตรง

แต่อีกมุมหนึ่งการรวบรวมเบอร์สายด่วนฉุกเฉินให้เป็นเบอร์เดียวนั้นก็มีหลายประเทศใช้นโยบายนี้เช่นกัน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ใช้ เบอร์ 911 เบอร์เดียวเท่านั้น

ซึ่งเบอร์เดียวประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือได้สารพัดไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเหตุร้ายหรือการขอรถพยาบาล และข้อดีคือประชาชนไม่จำเป็นต้องจำเบอร์หน่วยงานต่างๆมากมาย และที่สำคัญคือเจ้าหน้าที่สามารถรู้ที่อยู่ของผู้โทรมาได้เลยทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว

หรือแม้กระทั่งประเทศในแถบเอเชียอย่างอินเดียวที่เคยมีเบอร์ฉุกเฉินถึง 4 เบอร์ คือ เบอร์108 สำหรับแจ้งเหตุภัยภิบัติ เบอร์100 สำหรับแจ้งตำรวจ เบอร์101 สำหรับแจ้งเหตุไฟไหม้ และ เบอร์ 102 สำหรับเรียกรถพยาบาล

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจะเห็นได้ว่า การใช้เบอร์ 191 ยังคงมีปัญหาในเรื่องการติดต่อเจ้าหน้าที่และการตั้งคำถามถึงความรวดเร็วในการประสานงานให้ความช่วยเหลือ ซึ่งถ้าหากต้องการผลักดันนโยบายนี้อย่างจริงจังก็อาจจะต้องมีการวางระบบและเพิ่มการเชื่อมต่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

ทั้งนี้นโยบายดังกล่าวยังคงอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการจากทางตำรวจว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร และอาจจะมีการทดลองระบบก่อนในช่วงเริ่มต้น

คุณอาจสนใจ

Related News