สังคม
'มธ.' ผุดไอเดีย เปิดตลาดให้ นศ. สร้างตัว พร้อมจับมือผู้ประกอบการในพื้นที่จ้างทำ Part Time สร้างรายได้
โดย nut_p
18 เม.ย. 2566
148 views
นายภูวดล ศิริชัยสินธพ ผู้จัดการฝ่ายบริหารพื้นที่ธุรกิจ สำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผย บทบาทของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2566 ที่เดินหน้าขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ตามปณิธานที่ตั้งเป้าหมายไว้ เพื่อให้ ธรรมศาสตร์ เป็นเสาหลักให้กับสังคม สอดรับกับแนวคิดการศึกษาเชิงผลิตภาพ หรือ มหาวิทยาลัย 4.0 ที่มหาวิทยาลัยในฐานะคลังทรัพยากร ทั้งองค์ความรู้ งานวิจัย กำลังคน งบประมาณ สถานที่ อาณาบริเวณ ฯลฯ จะต้องนำทรัพยากรเหล่านั้นออกมา ตอบสนองความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชุมชน เพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable) ในระดับประเทศ
โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ตัดสินใจ เข้าร่วมโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบล ของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ขันอาสารับหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ 3 ตำบลของ จ.ปทุมธานี ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย และจัดสรรพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ที่มีมากกว่า 600 ไร่ ให้เชื่อมต่อกับชุมชน
และได้มีการจัดตั้งตลาด ในมหาวิทยาลัย เป็นเครื่องมือ ระหว่างมหาวิทยาลัย นักศึกษา และชุมชน ทั้ง ตลาดนัดอินเตอร์โซน และ เชียงรากมาร์เก็ต รวบรวมอาหาร สินค้าสไลฟ์สไตล์ และเปิดกว้าง ชักชวนชุมชน-เครือข่ายเกษตรกรใน จ.ปทุมธานี เข้ามาตั้งแผงขายสินค้า ทั้งผักสด ผลไม้ปลอดภัย เนื้อสัตว์อนามัย รวมถึงสินค้าอุปโภค บริโภค มากมาย ท่ามกลางความสนใจของลูกค้าที่หมุนเวียนไม่ต่ำกว่าวันละ 3.5 หมื่นราย
โดยเฉพาะเชียงรากมาร์เก็ต เน้นเป็นสินค้าที่มาจากนักศึกษา และชุมชนโดยรอบสร้างเศรษฐกิจฐานรากหมุนเวียนรายได้กลับสู่ชุมชน สร้างรายได้ให้แก่นักศึกษา
นอกจากแนวทางการทำธุรกิจแล้ว มหาวิทยาลัยยังจัดทำข้อตกลงให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย ต้องจ้างงานนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งจะช่วยให้นักศึกษามีรายได้พิเศษจากงาน Part Time ในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือนักศึกษาจะได้เพิ่มพูนทักษะการทำงาน เข้าใจระบบ ได้รับการเทรนนิ่งจากบริษัทใหญ่ ๆ ที่เข้ามาทำธุรกิจในพื้นที่