ประชาสัมพันธ์
มธ. ผุดนวัตกรรม "เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ" รับมือสังคมสูงวัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียง
โดย nut_p
4 ต.ค. 2567
33 views
'ธรรมศาสตร์' ผุดนวัตกรรมเพื่อสังคม "เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ" รับมือสังคมสูงวัย เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยติดเตียง
รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา สาธิยมาส อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการวิจัย “เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ” เปิดเผยว่า “เตียงพลิกตัวอัตโนมัติป้องกันแผลกดทับ” นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นจากอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างมีประสิทธิภาพ ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถแก้ Pain Point ที่หลายๆ ครัวเรือนกำลังประสบอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้ป่วยติดเตียง” จะเป็นไปในทิศทางใด ขึ้นอยู่กับตัวแปรสำคัญคือองค์ความรู้ในการดูแล และการดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะสังเกตเห็นหรือไม่ก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือร่างกายของมนุษย์จะถูกบีบคั้นจากความทุกข์อยู่เสมอ เมื่อร่างกายต้องทำอะไรเดิมๆ อย่างเดียวเป็นเวลานาน โดยไม่สามารถหลบเลี่ยงหรือไม่สามารถปรับเปลี่ยนอิริยาบถอื่นได้ ร่างกายย่อมได้รับบาดเจ็บ
ทั้งนี้ “แผลกดทับ” เป็นหนึ่งในภัยสุขภาพที่คุกคามผู้ป่วยติดเตียงอย่างรุนแรง สาเหตุหลักคือการนอนในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน น้ำหนักตัวก็จะกดทับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย จนอวัยวะนั้นๆ ได้รับบาดเจ็บ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังที่ถูกน้ำหนักกดทับจะถูกทำลาย เนื้อจะตายและกลายเป็นแผล ซ้ำร้ายกว่านั้นคือบริเวณที่มักจะเกิดแผลกดทับส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณปุ่มกระดูกต่างๆ เช่น เส้นเท้า ก้นกบ ข้างสะโพก ผู้ป่วยจึงเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เพื่อป้องกันปัญหาแผลกดทับ ผู้ป่วยติดเตียงควรได้รับการพลิกตัวอย่างน้อยคือ “ทุกๆ 2 ชั่วโมง” ซึ่งนอกเหนือจากระยะเวลาที่ต้องสม่ำเสมอแล้ว องค์ความรู้เกี่ยวกับการ “พลิกตัวผู้ป่วย” ก็สำคัญมาก ทั้งหมดถือเป็นศาสตร์ที่ต้องทำอย่างถูกต้อง อาทิ การจัดท่าทาง การออกแรง ซึ่งจะสัมพันธ์กับความเปราะบางของร่างกายผู้ป่วย โดยเฉพาะถ้าหากผู้ป่วยเป็นผู้สูงอายุ
การศึกษาคิดค้นครั้งนี้ ได้ผนวก 2 ศาสตร์เข้าด้วยกัน ได้แก่ ศาสตร์พยาบาลระดับสูงในเรื่องการดูแลผู้ป่วยติดเตียง และศาสตร์ด้านวิศวกรรมในการผลิต “นวัตกรรมต้นแบบ” ขึ้นมารับใช้สังคม
จุดเด่นของนวัตกรรมชิ้นนี้คือ เป็นเตียงพลิกตะแคงตัวที่สามารถพลิกตัวได้ตามองศาที่ต้องการเพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงเคลื่อนไหวร่างกายป้องกันแผลกดทับ โดยเตียงจะควบคุมผ่านแอปพลิเคชันในแท็บเล็ตที่ทีมนักวิจัยธรรมศาสตร์พัฒนาขึ้นมา ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยและตัวผู้ป่วย
ส่วนประกอบหลักของเตียงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ส่วนของเตียงที่สามารถจัดท่าตะแคงซ้ายและขวา ใช้ระบบควบคุมผ่านระบบจอสัมผัสของโทรศัพท์/แท็บเล็ต ให้เตียงตะแคงทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 30 องศา และสามารถปรับให้หัวเตียงสูงทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 60 องศา และสามารถปรับข้อเข่างอทำมุมตั้งแต่ 0 ถึง 45 องศา รับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม กลไกการทำงานของเตียงจะใช้ Linear Actuator 4 ตัว และผ่านการคำนวนความแข็งแรงโครงสร้างของเตียงตามแกนแนวขวางและแกนตามแนวยาว ตามมาตรฐานและได้ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐาน IEC 60601-1 และ IEC 60601-2
2. เป็นส่วนของระบบแจ้งเตือนการเกิดแผลกดทับ มีการติดตั้งที่เบาะนอนผ่านการทำงานของเซ็นเซอร์ แล้วมาแสดงผลที่จอรับข้อมูล การควบคุมสั่งการได้ผ่านทางเว็ปไซด์ (Web Application) และทางแอปพลิเคชันมือถือ แสดงผลแบบReal-time แจ้งเตือนเป็นลักษณะสัญญาณ LED
นอกจากนี้ เตียงยังมีฟังก์ชันบอกอุณหภูมิของเตียงที่สัมผัสผ่านร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยบ่งชี้ว่าผู้ป่วยมีไข้หรือไม่ และมีการติดตั้งระบบตรวจจับความชื้นแฉะของเตียงด้วย หากเตียงมีความชื้นซึ่งอาจเกิดจากการขับถ่าย ระบบจะส่งสัญญาณเตือนที่แทบเล็ตในทันที ผู้ดูแลก็จะเข้ามาดูแลได้ ตรงนี้จะช่วยลดปัญหาการเกิดแผลอักเสบจากความชื้นและการติดเชื้อ
รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมธรรมศาสตร์ชิ้นนี้ไปใช้แล้วกับผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 250 เคส ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และ ชุมชนใน จ.ปทุมธานี รวมถึงมีการนำไปใช้ในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติด้วย
นอกจากนี้ ปัจจุบันยังมีภาคเอกชนจากศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Nursing home และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ได้ประสานติดต่อมาเพื่อขอนำนวัตกรรมนี้ไปใช้งานด้วยเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์สูงสุดในการพัฒนาและสอดรับกับเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ต้องการเป็นที่พึ่งพิงของสังคม ผ่านการส่งมอบนวัตกรรมไปรับใช้สังคม
สำหรับนวัตกรรมชิ้นนี้ ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 40,000-50,000 บาท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดันและขับเคลื่อนให้นวัตกรรมนี้ไปใช้ประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นอีกเครื่องมือที่จะได้ช่วยดูแลผู้สูงอายุ ช่วยลดภาระงานของผู้ดูแลในวงกว้างของทั้งประเทศ ช่วยรับมือกับสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศได้อย่างดี โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“เสียงตอบรับจากผู้ใช้งานจริงเป็นในทิศทางที่ดีทั้งหมด ผู้ป่วยและผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาแผลกดทับได้จริง ที่สำคัญคือช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ดูแล และเป็นนวัตกรรมที่คนไทยคิดค้นขึ้นมา มีคุณภาพและมาตรฐานเทียบเท่ากับนวัตกรรมจากต่างประเทศแต่ราคาถูกกว่า และดูแลรักษาได้ง่ายกว่า" รศ.ดร.จิณพิชญ์ชา ระบุ